คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4711/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ความผิดต่อเสรีภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคหนึ่ง,310 วรรคหนึ่งมีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ เว้นแต่จะมีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยตามมาตรา 193 ตรีแต่ตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่อ้างเหตุว่า จำเลยทั้งสามมีเจตนาไม่สุจริต อาศัยข้อกฎหมายเป็นเครื่องกำบังร่วมกันจับกุมโจทก์เพื่อกลั่นแกล้ง ข่มขู่ให้โจทก์เกรงกลัวไม่กล้าไปเบิกความเป็นพยานโจทก์ในคดีอาญาที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ถูกฟ้องในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ของบริษัท ย. เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามมาตรา 193 ตรีอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อหาความผิดต่อเสรีภาพจึงต้องห้ามตามกฎหมายการที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ในข้อหาดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาของศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้โจทก์ฎีกาในข้อหาดังกล่าวด้วย ศาลฎีกาก็ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาในความผิดต่อเสรีภาพต่อไป ตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78(4),81(1), 92(5) มีความหมายโดยสรุปว่าเจ้าพนักงานตำรวจจะเข้าไปจับกุมบุคคลหนึ่งบุคคลใดในที่รโหฐานได้ต่อเมื่อมีหมายจับกุมบุคคลผู้นั้นและมีหมายค้นที่รโหฐานนั้นด้วย เว้นแต่ในกรณีที่มีผู้ขอให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมบุคคลผู้เป็นเจ้าของบ้าน โดยกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญาและแจ้งว่าได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญาแก่ผู้นั้นตามระเบียบแล้วเจ้าพนักงานตำรวจจึงจะมีอำนาจจับกุมได้โดยไม่ต้องมีหมายค้นและหมายจับ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขอให้จำเลยที่ 3 จับกุมโจทก์ในข้อหาแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานโดยแจ้งว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนตามระเบียบแล้ว กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78(4),81(1),92(5) ที่ให้อำนาจจำเลยที่ 3 จับกุมโจทก์ในบ้านพักของโจทก์ได้ โดยไม่ต้องมีหมายค้นและหมายจับ จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจมีอำนาจจับกุมผู้กระทำความผิดอาญาได้ทั่วราชอาณาจักร แม้ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 จะมีหน้าที่ในการบรรเทาสาธารณภัยก็ไม่ทำให้อำนาจที่จำเลยที่ 3 มีอยู่ตามกฎหมายสูญสิ้นไปแต่ประการใดจำเลยที่ 3 ยังคงมีอำนาจอยู่โดยบริบูรณ์ในฐานะเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจผู้มีอำนาจหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(16) การที่จำเลยที่ 3 จับกุมโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาก่อนไม่มีผลกระทบต่ออำนาจที่จำเลยที่ 3 มีอยู่แล้วตามกฎหมาย ดังนั้นการที่จำเลยที่ 3 จับกุมโจทก์จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก และการที่จำเลยที่ 1 เข้าไปในบ้านของโจทก์เพื่อชี้ให้จำเลยที่ 3 จับกุมโจทก์ก็เป็นการเข้าไปโดยมีเหตุอันสมควร ไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกเช่นเดียวกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบ้านพักอันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยและที่ทำงานของโจทก์เพื่อรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์แล้วจำเลยที่ 3 ซึ่งมิใช่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายได้ร่วมกับจำเลยที่ 1และที่ 2 ขู่เข็ญบังคับให้โจทก์ยอมให้จำเลยทั้งสามจับกุม ทำให้โจทก์ต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกาย โดยจำเลยทั้งสามไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 309, 310, 362, 364, 365, 83, 90
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า สำหรับความผิดต่อเสรีภาพตามคำฟ้องของโจทก์อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคหนึ่ง และมาตรา 310วรรคหนึ่ง มีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 193 ทวิ เว้นแต่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณา หรือลงชื่อในคำพิพากษา หรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ เนื่องจากเห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์ หรืออธิบดีกรมอัยการ หรือพนักงานอัยการซึ่งอธิบดีกรมอัยการได้มอบหมายลงชื่อรับรองในอุทธรณ์นั้นว่า มีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยตามมาตรา 193 ตรี แต่ตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดต่อเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309วรรคหนึ่ง และมาตรา 310 วรรคหนึ่ง โดยอ้างเหตุผลว่า จำเลยทั้งสามมีเจตนาไม่สุจริตอาศัยข้อกฎหมายเป็นเครื่องกำบังร่วมกันจับกุมโจทก์เพื่อกลั่นแกล้งข่มขู่ให้โจทก์เกรงกลัวไม่กล้าไปเบิกความเป็นพยานโจทก์ในคดีอาญาที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ถูกฟ้องในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ของบริษัทยูนิตี้ ดีวีเอ็ม คอร์เปอเรชั่น จำกัด อันเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงนั้นมิได้มีการปฏิบัติให้ถูกต้องตามมาตรา 193 ตรี กล่าวคือ ไม่มีการอนุญาตหรือรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อหาความผิดต่อเสรีภาพจึงต้องห้ามตามกฎหมาย การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ในข้อหาดังกล่าวเป็นการมิชอบต้องถือว่าความผิดต่อเสรีภาพตามฟ้องของโจทก์เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ดังนั้น แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาของศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้โจทก์ฎีกาในข้อหาดังกล่าวด้วย ศาลฎีกาก็ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาในความผิดต่อเสรีภาพอีกต่อไป คงมีปัญหามาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาแต่เฉพาะความผิดฐานร่วมกันบุกรุกเคหสถานและความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการเท่านั้น
พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุที่โจทก์ฟ้อง จำเลยที่ 1 และที่ 2 พาจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจประจำสถานีตำรวจดับเพลิงห้วยขวางไปจับกุมโจทก์ที่บ้านพักของโจทก์ในความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันบุกรุกเคหสถานของโจทก์หรือไม่ และการที่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจประจำสถานีตำรวจดับเพลิงเข้าไปจับกุมโจทก์ในบ้านพักเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยเจตนาไม่สุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องรับผิดในฐานะผู้สนับสนุนหรือไม่ ในเบื้องต้นเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า การที่จำเลยที่ 3 เข้าไปจับกุมโจทก์ในบ้านพักเป็นการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายดังที่โจทก์ฎีกาหรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 บัญญัติว่า
“พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับนั้นไม่ได้ เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้
(4) เมื่อมีผู้ขอให้จับโดยแจ้งว่าบุคคลนั้นได้กระทำความผิดและแจ้งด้วยว่าได้ร้องทุกข์ไว้ตามระเบียบแล้ว
และมาตรา 81 บัญญัติว่า “จะมีหมายจับหรือไม่ก็ตามห้ามมิให้จับ
(1) ในที่รโหฐาน เว้นแต่จะได้ทำตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน”
ส่วนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการค้นในที่รโหฐานเป็นไปตามบทบัญญัติในมาตรา 92ที่บัญญัติว่า
“ห้ามมิให้ค้นในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้น เว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้นและในกรณีต่อไปนี้
(5) เมื่อที่รโหฐานนั้นผู้จะต้องถูกจับเป็นเจ้าบ้านและการจับนั้นมีหมายจับหรือจับตามมาตรา 78″
บทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นมีความหมายโดยสรุปว่า เจ้าพนักงานตำรวจจะเข้าไปจับกุมบุคคลหนึ่งบุคคลใดในที่รโหฐานได้ต่อเมื่อมีหมายจับบุคคลผู้นั้น และมีหมายค้นที่รโหฐานนั้นด้วย เว้นแต่ในกรณีที่มีผู้ขอให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมบุคคลผู้เป็นเจ้าของบ้าน โดยกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญาและแจ้งว่าได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญาแก่ผู้นั้นตามระเบียบแล้ว เจ้าพนักงานตำรวจจึงจะมีอำนาจจับกุมได้โดยไม่ต้องมีหมายค้นและหมายจับ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากถ้อยคำของโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับนางมลวิภาและนายเกรียงชัยได้ร้องทุกข์ต่อร้อยตำรวจโทโสภณ พิงไธสง พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลประเวศให้ดำเนินคดีแก่โจทก์กับนายสุเพียร นายชนะ นางทัศนีย์ นายชัยพรและนายสำราญในความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.4 ทั้งขณะที่จำเลยที่ 3 จับกุมโจทก์ จำเลยที่ 3 ได้แจ้งให้โจทก์ทราบแล้วว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอให้จำเลยที่ 3 จับกุมโจทก์ไปดำเนินคดีในข้อหาความผิดดังกล่าวนอกจากนี้จำเลยที่ 3 ยังได้นำสำเนารายงานประจำวันฉบับนั้นไปให้โจทก์ดูด้วย คำเบิกความของโจทก์เกี่ยวกับเหตุการณ์ในขณะจับกุมจึงเจือสมกับคำเบิกความของจำเลยทั้งสามรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขอให้จำเลยที่ 3 จับกุมโจทก์ในข้อหาแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานโดยแจ้งว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนตามระเบียบแล้วกรณีต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78(4), 81(1) และมาตรา 92(5) ที่ให้อำนาจจำเลยที่ 3 จับกุมโจทก์ในบ้านพักของโจทก์ได้โดยไม่ต้องมีหมายค้นและหมายจับ ที่โจทก์ฎีกาว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ประจำอยู่ที่สถานีตำรวจดับเพลิงห้วยขวาง มีหน้าที่แต่เฉพาะในการบรรเทาสาธารณภัย และการจับกุมโจทก์ในครั้งนี้จำเลยที่ 3 ได้กระทำไปโดยมิได้ขออนุญาตจากผู้บังคับบัญชาจึงไม่มีอำนาจจับกุมโจทก์นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจมีอำนาจจับกุมผู้กระทำความผิดอาญาได้ทั่วราชอาณาจักร แม้ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 จะมีหน้าที่ในการบรรเทาสาธารณภัยก็ไม่ทำให้อำนาจที่จำเลยที่ 3 มีอยู่ตามกฎหมายสูญสิ้นไปแต่ประการใด จำเลยที่ 3 ยังคงมีอำนาจอยู่โดยบริบูรณ์ในฐานะเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจผู้มีอำนาจหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(16) การที่จำเลยที่ 3 จับกุมโจทก์โดยมิได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาก่อนไม่มีผลกระทบกระทั่งต่ออำนาจที่จำเลยที่ 3มีอยู่แล้วตามกฎหมาย ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกพึ่งร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลประเวศก่อนเกิดเหตุเพียง 2 วัน พนักงานสอบสวนยังมิได้กระทำการสอบสวนและไม่ได้ออกหมายเรียกให้โจทก์ไปพบแต่จำเลยที่ 3 อาศัยความสนิทสนมกับจำเลยที่ 1 เป็นการส่วนตัวรีบจับกุมโจทก์ไปดำเนินคดี ทั้งที่ไม่ใช่กรณีเร่งด่วนส่อให้เห็นว่ามีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์นั้น ในข้อนี้โจทก์เบิกความรับว่าโจทก์ถูกจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกกล่าวหาว่า แจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน โจทก์จึงตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาซึ่งพนักงานสอบสวนมีอำนาจออกหมายเรียกหรือจับกุมโจทก์ไปดำเนินคดีได้ การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เสียหายในความผิดที่โจทก์ถูกกล่าวหาพาจำเลยที่ 3 ไปจับกุมโจทก์ แม้จำเลยที่ 1 จะมีเจตนาเร่งรัดเพื่อให้มีการสอบสวนดำเนินคดีแก่โจทก์อย่างรวดเร็ว ก็ยังไม่เป็นเหตุผลเพียงพอให้ฟังว่าจำเลยที่ 3 มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 จับกุมโจทก์โดยมีเจตนาข่มขู่ให้โจทก์กับบุคคลที่เป็นพยานในคดีที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกถูกฟ้องเกิดความเกรงกลัวไม่กล้าไปเบิกความต่อศาลนั้น ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ไม่มีเหตุผลที่ควรรับฟังแม้แต่น้อยเพราะโจทก์กับนายสุเพียรพยานโจทก์ต่างเบิกความตรงกันว่า ในวันเกิดเหตุนั้นเองจำเลยที่ 1 ได้โทรศัพท์ไปบอกนายสุเพียรว่า จำเลยที่ 1พาเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมโจทก์แล้ว แต่จะไม่จับกุมนายสุเพียรกับผู้ต้องหาอื่นเมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่โจทก์กับนายสุเพียรและบุคคลเหล่านั้นจะเกรงกลัวคำขู่ของจำเลยที่ 1 นอกจากนี้ยังได้ความจากโจทก์ว่า หลังจากที่จำเลยที่ 3 ควบคุมตัวโจทก์ไปส่งให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธินแล้วส่งต่อไปยังสถานีตำรวจนครบาลประเวศ โจทก์ก็ได้รับอนุญาตจากพนักงานสอบสวนให้ประกันตัวไปในวันเดียวกัน พฤติการณ์แห่งคดียังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 3จับกุมโจทก์เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย การที่จำเลยที่ 1 เข้าไปในบ้านของโจทก์เพื่อชี้ให้จำเลยที่ 3 จับกุมโจทก์จึงเป็นการเข้าไปโดยมีเหตุอันสมควร ไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกเช่นเดียวกันส่วนจำเลยที่ 2 นั้น โจทก์ไม่มีพยานปากใดเบิกความว่า จำเลยที่ 2 เข้าไปในบ้านของโจทก์ นางสาวยุพเรศ โอฬารวิจิตรวงศ์ กับนายสรชัย พันธุ์อุดม พยานโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์ต่างเบิกความว่า เห็นจำเลยที่ 2 ยืนอยู่ข้างถนนฝั่งตรงข้ามกับบ้านของโจทก์ เจือสมกับข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2 ที่อ้างว่าจำเลยที่ 2 ยืนคอยจำเลยที่ 1 และที่ 3 อยู่ที่ข้างถนนโดยมิได้เข้าไปในบ้านของโจทก์ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เข้าไปในบ้านของโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์นั้นศาลฎีกาเห็นด้วยบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับความผิดต่อเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309, 310 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์

Share