แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 24สิงหาคม 2539 เวลากลางคืนหลังเที่ยง และจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง คดีต้องฟังตามคำรับสารภาพของจำเลยว่า จำเลย กระทำผิดตามวันเวลาและสถานที่ดังกล่าวในฟ้องจำเลยจะฎีกา โต้เถียงข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพราะไม่ใช่ข้อที่ ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลล่างต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (9) วรรคสาม ลงโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตาม ศาลชั้นต้นให้จำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี คดีต้องห้ามมิให้คู่ความ ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยเป็น ชาวต่างประเทศเปรู พูดภาษาสเปน ซึ่งในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นปรากฏเพียงว่ามี ส. เป็นล่ามแปลคำให้การของจำเลยได้สาบานตัวแล้วเท่านั้น แต่หาได้มีการแปล เป็นภาษาสเปนให้จำเลยเข้าใจโดยถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 13 ไม่ อีกทั้งจำเลย ไม่เข้าใจความหมายในกฎหมายที่จำเลยลงลายมือรับสารภาพนั้น เท่ากับจำเลยโต้เถียงข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่ได้ให้การ รับสารภาพตามที่ล่ามแปลให้ฟัง โดยขอให้ศาลฎีการับฟังและ เชื่อถือข้อเท็จจริงตามที่จำเลยฎีกา ซึ่งล้วนเป็นการโต้เถียง ดุลพินิจในการรับฟังพยานของศาลอุทธรณ์อันเป็นฎีกาในปัญหา ข้อเท็จจริงทั้งสิ้น จึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว กรณีที่จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณาแล้วศาลวินิจฉัยลงโทษจำเลยนั้นข้อฎีกาของจำเลยที่ว่า การสืบพยาน ปากผู้เสียหายไว้ก่อนไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 237 ทวิ วรรคหนึ่งและวรรคสอง ย่อมเป็นฎีกาในข้อกฎหมาย ที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย เพราะแม้ศาลฎีกา จะวินิจฉัยให้ตามฎีกาของจำเลยก็ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นางมาเตนิเก เอสเซมโบ ผู้เสียหายได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยถึงท่าอากาศยานกรุงเทพมหานครขณะที่กำลังติดต่อเช่ารถยนต์ลีมูซีนอยู่ที่เคาน์เตอร์อาคารผู้โดยสารขาเข้าโดยจอดรถเข็นสัมภาระซึ่งมีกระเป๋าเดินทางวางอยู่บนรถเข็นหลายใบไว้ด้านหลังติดตัวผู้เสียหาย จำเลยได้ลักเอาทรัพย์รวม 10 รายการ คิดราคาเป็นเงิน 78,500 บาทและเงินสดสกุลไซเรรวม 106,000 ไซเร ของผู้เสียหาย ขณะอยู่ในท่าอากาศยานสาธารณะดังกล่าวไปโดยทุจริต จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกันกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1887/2540 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335และขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 1887/2540 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ด้วย
จำเลยให้การรับสารภาพและรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1887/2540 ของศาลอาญากรุงเทพใต้
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(1)(9) วรรคสาม จำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 6 เดือนส่วนคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1887/2540 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ยังมิได้มีคำพิพากษาจึงไม่อาจนับโทษต่อได้ ให้ยกคำขอส่วนนี้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่าตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นระบุว่า วันเกิดเหตุวันที่ 24 สิงหาคม 2540 เมื่อศาลชั้นต้นยังมิได้แก้ถ้อยคำที่พิมพ์ผิดพลาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 190 ก็ต้องถือว่าศาลชั้นต้นได้ยืนยันวันเวลากระทำความผิดตามที่ระบุไว้นั้นเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2539 เวลากลางคืนหลังเที่ยงและจำเลยได้ให้การ รับสารภาพตามฟ้อง คดีต้องฟ้องห้ามตามคำรับสารภาพของจำเลยว่า จำเลยกระทำผิดตามวันเวลาและสถานที่ดังกล่าวในฟ้อง จำเลยจะฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นไม่ได้เพราะไม่ใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลล่างต้องห้ามฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยเป็นชาวต่างประเทศเปรู พูดภาษาสเปน แต่ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 10 ตุลาคม 2540 ปรากฏแต่เพียงว่ามีล่ามที่แปลคำให้การของจำเลยคือนางสาวสุกานดา แดนเมือง ได้สาบานตัวแล้วเท่านั้นแต่หาได้บันทึกว่าได้มีการแปลเป็นภาษาสเปนให้จำเลยเข้าใจโดยถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 13 อีกทั้งจำเลยไม่เข้าใจความหมายในกฎหมายที่จำเลยลงลายมือชื่อเป็นการรับสารภาพนั้น พิเคราะห์แล้ว คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(9) วรรคสาม ลงโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือนศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี คดีต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จากข้อฎีกาของจำเลยดังกล่าวเท่ากับจำเลยโต้เถียงข้อเท็จจริงว่า จำเลยไม่ได้ให้การรับสารภาพตามที่ล่ามแปลให้ฟังโดยขอให้ศาลฎีการับฟังโดยเชื่อถือข้อเท็จจริงตามที่จำเลยฎีกาซึ่งล้วนเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานของศาลอุทธรณ์อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงทั้งสิ้น จึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย สำหรับ ข้อฎีกาของจำเลยที่ว่าก่อนฟ้องคดีนี้ โจทก์ยื่นคำร้องขอสืบนางมาเตนิเก เอสเซมโบผู้เสียหายเป็นพยานไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 237 ทวิ โดยศาลชั้นต้นมิได้สอบถามจำเลยว่ามีทนายหรือไม่และไม่ปรากฏว่าศาลได้ซักถามพยานนั้นให้แทนเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นเห็นว่า การสืบพยานปากผู้เสียหาย ดังกล่าวศาลมิได้รับฟังคำเบิกความของผู้เสียหายในการพิจารณาพิพากษาคดีนี้แต่อย่างใด แต่เป็นกรณีที่จำเลยได้ให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณาแล้วศาลวินิจฉัยลงโทษจำเลย ดังนั้นการสืบพยานปากผู้เสียหายจะชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 237 ทวิ วรรคหนึ่งและวรรคสอง หรือไม่นั้น ข้ออ้างเป็นข้อกฎหมายของจำเลยย่อมต้องอาศัยข้อเท็จจริงเพื่อการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติแล้วว่า จำเลยได้มีเจตนากระทำผิดตามที่ได้ให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณาดังนี้ แม้จะเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย แต่ก็เป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย เพราะแม้ศาลฎีกาจะวินิจฉัยให้ตามฎีกาของจำเลยในข้อนี้ก็ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยเช่นเดียวกันที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยมานั้นไม่ชอบ”
พิพากษายกฎีกาของจำเลย