แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การขนส่งสินค้าระบบ ซีวาย/ซีวาย เป็นการขนส่งที่ผู้ส่งสินค้าต้นทางจะเป็นผู้ไปรับตู้สินค้าจากผู้ขนส่งไปบรรจุสินค้าเข้าตู้สินค้าที่โกดังของผู้ส่งสินค้า แล้วนำตู้สินค้ามามอบให้แก่ผู้ขนส่ง เมื่อขนส่งตู้สินค้าถึงปลายทางแล้วผู้รับตราส่งจะเป็นผู้รับตู้สินค้าไปเปิดตรวจนับสินค้าที่โกดังของผู้รับตราส่งเอง เมื่อใบตราส่งที่จำเลยที่ 1ออกระบุไว้ว่าสถานที่รับสินค้า โตเกียวซีวายสถานที่ส่งมอบสินค้ากรุงเทพซีวาย แสดงว่าในการขนส่งสินค้าพิพาทตั้งแต่จำเลยที่ 1 รับตู้สินค้าจากบริษัท ค. ที่ท่าเรือโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ตลอดจนถึงท่าเรือกรุงเทพ แล้วบริษัท น. จะเป็นผู้รับตู้สินค้าไปตรวจนับสินค้าเอง หากสภาพตู้สินค้าและตราผนึกประตูตู้สินค้าอยู่ในสภาพปกติก็ย่อมแสดงว่าสินค้ามิได้สูญหายในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของผู้ขนส่ง จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้ขนส่งสินค้าก็หาต้องรับผิดในกรณีสินค้าพิพาทในตู้สินค้าสูญหายไปไม่แต่ตามใบตราส่งที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกให้แก่ผู้ส่งได้ความว่า ตู้สินค้าซึ่งบรรจุสินค้าพิพาทที่โจทก์รับประกันภัยระบุตราผนึกประตูตู้สินค้าหมายเลข เอชเอสเอ็มโอแอล 27209 ครั้น จำเลยร่วมขนส่งตู้สินค้าดังกล่าวมาถึงท่าเรือกรุงเทพ ปรากฏว่าตู้สินค้ามีตราผนึกประตูตู้สินค้าเป็นหมายเลข เอสพีไอซี 051682 ซึ่งไม่ปรากฏว่าเหตุใดตราผนึกประตูตู้สินค้าที่ระบุไว้ในใบตราส่งจึงเปลี่ยนไปจากเดิม ดังนั้น การที่จำเลยร่วมออกใบตราส่งให้แก่จำเลยที่ 1เมื่อรับมอบตู้สินค้า แม้จะได้ระบุหมายเลขตู้สินค้า แต่มิได้ระบุว่าตราผนึกประตูตู้สินค้าคือหมายเลขใด กรณีจึงยังไม่แน่ชัดว่าตราผนึกประตูตู้สินค้าหมายเลข เอชเอสเอ็มโอแอล27209ถูกเปลี่ยนเป็นหมายเลขเอสพีไอซี 051682 ก่อนหรือภายหลังจากที่จำเลยร่วมรับมอบตู้สินค้าจากท่าเรือสิงคโปร์เมื่อประตูตู้สินค้าได้ถูกเปิดออกในระหว่างการขนส่งสินค้าจากท่าเรือโตเกียวช่วงใดช่วงหนึ่งก่อนที่จะถึงท่าเรือกรุงเทพและสินค้าพิพาทที่โจทก์ได้รับประกันภัยสูญหายไปจึงถือได้ว่าความสูญหายเกิดขึ้นขณะที่สินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1และจำเลยร่วม ผู้ขนส่ง จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมจึงต้องรับผิดชอบในความสูญหายของสินค้าพิพาทดังกล่าว พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3 ให้คำนิยาม “ภาชนะขนส่ง” หมายความว่า ตู้สินค้า ไม้รองสินค้า หรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันซึ่งใช้บรรจุหรือรองรับของ หรือใช้รวมหน่วยการขนส่งของหลายหน่วยเข้าด้วยกันเพื่อประโยชน์ในการขนส่งทางทะเล และให้คำนิยาม “หน่วยการขนส่ง” หมายความว่า หน่วยแห่งของที่ขนส่งทางทะเลซึ่งนับเป็นหนึ่ง และแต่ละหน่วยอาจทำการขนส่งไปตามลำพังได้ เช่น กระสอบ ชิ้น ถัง ตู้ ม้วน ลัง ลูก ห่อ หีบ อัน หรือหน่วยที่เรียกอย่างอื่น ดังนั้น คำว่า “ตู้” ที่ยกตัวอย่างในคำนิยามนั้น ย่อมหมายความถึงตู้สำหรับบรรจุสินค้าหรือของอย่างหนึ่งซึ่งมีขนาดเล็กต่างจากตู้สินค้าซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าและสามารถบรรจุภาชนะสำหรับบรรจุสินค้าขนาดเล็กดังกล่าวได้เป็นจำนวนมากเพื่อความสะดวกในการขนย้าย ดังนั้น ตู้สินค้าซึ่งเรียกกันในวงการว่าตู้คอนเทนเนอร์จึงเป็นภาชนะขนส่ง ส่วนตู้เป็นหน่วยการขนส่งดังมาตรา 3 บัญญัติให้คำนิยามไว้โดยชัดแจ้งแล้ว มิใช่ว่าตู้หรือตู้สินค้ามีความหมายเป็นได้ทั้งหน่วยการขนส่งและภาชนะขนส่ง เมื่อตู้สินค้าไม่ใช่หน่วยการขนส่ง 1 หน่วย จึงไม่อาจที่จะจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมไม่เกิน 10,000 บาทได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 445,073.47 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในเงินต้น 441,895.45 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปแก่โจทก์จนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 ขอให้ศาลเรียกบริษัทริจินอล คอนเทนเนอร์ ไลน์ พีทีอีจำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1กับจำเลยร่วมร่วมกันใช้เงิน 340,073.45 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2538 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องไม่เกิน 3,178.02 บาท
จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”พิเคราะห์แล้ว เนื่องจากคดีเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยชั้นนี้เฉพาะเกี่ยวกับจำเลยที่ 1และจำเลยร่วมเท่านั้น ซึ่งข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2538โจทก์รับประกันภัยสินค้าเทปวีดีโอ 127 กล่อง รวม 5,770 ม้วน ของบริษัทโคนิก้า(ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งสั่งซื้อจากบริษัทโคนิก้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด ประเทศญี่ปุ่น สำหรับความเสียหายของสินค้ารวมทั้งค่าภาษีนำเข้าเป็นเงิน 17,689.97 ดอลลาร์สหรัฐคิดเป็นเงินไทยอัตราแลกเปลี่ยน 24.98 บาท ต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 441,895.45บาท บริษัทโคนิก้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้เป็นผู้ขนสินค้าดังกล่าวจากประเทศญี่ปุ่นมายังประเทศไทย ซึ่งในวันที่ 16 มิถุนายน 2538 จำเลยที่ 1ได้ออกใบตราส่งให้แก่บริษัทโคนิก้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด แล้วขนตู้สินค้าหมายเลข ทีโอแอลยู 3106390 ที่มีตราผนึกประตูตู้สินค้าหมายเลขเอชเอสเอ็มโอแอล 27209 ซึ่งบรรจุสินค้าที่พิพาทขึ้นเรือเน็ดลอยด์ นอร์มังดี แล่นออกจากท่าเรือกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จนถึงท่าเรือประเทศสิงคโปร์ เนื่องจากเรือเน็ดลอยด์ นอร์มังดี เป็นเรือเดินทะเลขนาดใหญ่ไม่อาจเข้าเทียบท่าเรือกรุงเทพได้จำเลยที่ 1 จึงขนตู้สินค้าลงจากเรือเน็ดลอยด์ นอร์มังดี ที่ท่าเรือประเทศสิงคโปร์และว่าจ้างจำเลยร่วมขนตู้สินค้าจากท่าเรือประเทศสิงคโปร์ต่อมายังท่าเรือกรุงเทพ ซึ่งเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2538 จำเลยร่วมออกใบตราส่งให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วขนตู้สินค้าขึ้นเรือนันทภูมิของจำเลยร่วมแล่นออกจากท่าเรือประเทศสิงคโปร์มาถึงท่าเรือกรุงเทพในวันที่ 27 มิถุนายน 2538ภายหลังที่ได้ขนตู้สินค้าลงจากเรือนันทภูมิวางบนลานวางตู้สินค้าของท่าเรือกรุงเทพแล้ว พนักงานผู้เกี่ยวข้องตรวจสภาพตู้สินค้าหมายเลขทีโอแอลยู 3106390 มีตราผนึกประตูตู้สินค้าหมายเลข เอสพีไอซี 051682 อยู่ในสภาพเรียบร้อยไม่มีชำรุดเสียหาย แต่เมื่อเปิดประตูตู้สินค้าออกเพื่อตรวจนับกลับปรากฏว่าไม่มีสินค้าเทปวีดีโอ 127 กล่อง รวม 5,770 ม้วน ที่โจทก์รับประกันภัยไว้เลย คงมีแต่สินค้าของบุคคลอื่นที่รวมส่งมาด้วยกันตามใบรายการสินค้าขาดและเกินจากบัญชีสินค้าเรือของการท่าเรือแห่งประเทศไทย เอกสารหมาย จ.12 บริษัทโคนิก้า (ประเทศไทย) จำกัด ได้เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย ซึ่งโจทก์ก็ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทโคนิก้า (ประเทศไทย) จำกัด เรียบร้อยแล้ว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์หรือไม่ ที่จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมอุทธรณ์เป็นทำนองเดียวกันสรุปได้ว่า การขนส่งสินค้าที่พิพาทในคดีนี้เป็นการขนส่งแบบ ซีวาย/ซีวาย ซึ่งหมายความว่า ผู้ส่งจะรับตู้สินค้าไปบรรจุสินค้าที่โกดังของผู้ส่ง ผู้ส่งเป็นผู้ปิดตู้สินค้าและผนึกตราเองแล้วจึงนำตู้สินค้ามามอบให้แก่ผู้ขนส่ง ดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงไม่ได้รู้เห็นเกี่ยวข้องกับสินค้าที่บริษัทโคนิก้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด บรรจุไว้ในตู้สินค้าเลย เมื่อเรือเน็ดลอยด์ นอร์มังดีของจำเลยที่ 1 บรรทุกตู้สินค้ามาถึงท่าเรือประเทศสิงคโปร์ แล้วจำเลยร่วมรับมอบตู้สินค้าบรรทุกขึ้นเรือนันทภูมิของจำเลยร่วมขนส่งต่อจนถึงท่าเรือกรุงเทพและขนตู้สินค้าลงวางบนลานวางตู้สินค้าของท่าเรือกรุงเทพแล้ว ความรับผิดของจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมผู้ขนส่งก็เป็นอันสิ้นสุดทั้งขณะที่มอบตู้สินค้าให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยนั้นสภาพตู้สินค้าและตราผนึกประตูตู้สินค้าก็อยู่ในสภาพเรียบร้อยมิได้มีการชำรุดเสียหาย การที่สินค้าที่โจทก์รับประกันภัยสูญหายจึงมิได้เกิดขึ้นขณะที่อยู่ในความรับผิดของจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมแต่อย่างใด จึงหาต้องรับผิดต่อโจทก์นั้นเห็นว่า ในการขนส่งสินค้าที่พิพาทในคดีนี้เป็นระบบ ซีวาย/ซีวาย อันเป็นการขนส่งที่ผู้ส่งสินค้าต้นทางจะเป็นผู้ไปรับตู้สินค้าจากผู้ขนส่งไปบรรจุสินค้าเข้าตู้สินค้าที่โกดังของผู้ส่งสินค้า แล้วนำตู้สินค้ามามอบให้แก่ผู้ขนส่ง เมื่อขนส่งตู้สินค้าถึงปลายทางแล้วผู้รับตราส่งจะเป็นผู้รับตู้สินค้าไปเปิดตรวจนับสินค้าที่โกดังของผู้รับตราส่งเองเช่นกันซึ่งตามใบตราส่ง เอกสารหมาย จ.7 ที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกก็ระบุไว้ว่าสถานที่รับสินค้า โตเกียวซีวาย สถานที่ส่งมอบสินค้า กรุงเทพ ซีวาย จึงแสดงว่าในการขนส่งสินค้าที่พิพาทตั้งแต่จำเลยที่ 1 รับตู้สินค้าจากบริษัทโคนิก้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ท่าเรือโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ตลอดจนถึงท่าเรือกรุงเทพ แล้วบริษัทโคนิก้า (ประเทศไทย) จำกัดจะเป็นผู้รับตู้สินค้าไปตรวจนับสินค้าเอง หากสภาพตู้สินค้าและตราผนึกประตูตู้สินค้าอยู่ในสภาพปกติก็ย่อมแสดงว่าสินค้ามิได้สูญหายในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของผู้ขนส่ง จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้ขนส่งสินค้าก็หาต้องรับผิดในการที่สินค้าที่พิพาทในตู้สินค้าสูญหายไปไม่ แต่ข้อเท็จจริงตามใบตราส่ง เอกสารหมาย จ.7 ที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกได้ความว่าตู้สินค้าซึ่งบรรจุสินค้าที่พิพาทที่โจทก์รับประกันภัยระบุตราผนึกประตูตู้สินค้าหมายเลขเอชเอสเอ็มโอแอล 27209 ครั้นจำเลยร่วมขนส่งตู้สินค้าดังกล่าวมาถึงท่าเรือกรุงเทพ นายบัญญัติ รุณทิวา พนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทยผู้ร่วมเปิดตู้สินค้าและตรวจนับสินค้าพยานโจทก์เบิกความว่า ตู้สินค้ามีตราผนึกประตูตู้สินค้าเป็นหมายเลข เอสพีไอซี 051682 ตามสำเนารายการนับจำนวนสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ เอกสารหมาย จ.13 ซึ่งจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมมิได้นำสืบให้เห็นว่าเหตุใดตราผนึกประตูตู้สินค้าตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งเอกสารหมาย จ.7 จึงเปลี่ยนไปจากเดิม จำเลยร่วมคงนำสืบแต่เพียงว่า ได้รับตู้สินค้าจากท่าเรือประเทศสิงคโปร์และเมื่อมาถึงท่าเรือกรุงเทพสภาพตู้สินค้าและตราผนึกประตูตู้สินค้าเรียบร้อยไม่ชำรุดเสียหายเท่านั้น ทั้งสำเนาใบตราส่ง เอกสารหมาย ล.1 ซึ่งจำเลยร่วมออกให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อรับมอบตู้สินค้า ก็ระบุแต่เพียงหมายเลขตู้สินค้า แต่มิได้ระบุว่าตราผนึกประตูตู้สินค้าคือหมายเลขใด ดังนั้นจึงยังไม่แน่ชัดว่าตราผนึกประตูตู้สินค้าหมายเลข เอชเอสเอ็มโอแอล 27209 ถูกเปลี่ยนเป็นหมายเลข เอสพีไอซี 051682 ก่อนหรือภายหลังจากที่จำเลยร่วมรับมอบตู้สินค้าจากท่าเรือสิงคโปร์ การที่ตราผนึกปะตูตู้สินค้าถูกเปลี่ยนไปเช่นนี้ จึงทำให้เห็นว่าประตูตู้สินค้าได้ถูกเปิดออกในระหว่างการขนส่งสินค้าจากท่าเรือโตเกียวช่วงใดช่วงหนึ่งก่อนที่จะถึงท่าเรือกรุงเทพ เมื่อสินค้าที่พิพาทที่โจทก์ได้รับประกันภัยสูญหายไปจึงถือได้ว่าความสูญหายเกิดขึ้นขณะที่สินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 และจำเลยร่ว ผู้ขนส่งจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมจึงต้องรับผิดชอบในความสูญหายของสินค้าที่พิพาทดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงโดยรับฟังว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์นั้นเป็นการชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยร่วมอุทธรณ์ในปัญหาเกี่ยวกับเรื่องค่าเสียหายว่า ตู้หรือตู้สินค้า ซึ่งภาษาอังกฤษใช้คำว่า คอนเทนเนอร์ เหมือนกัน มีความหมายเป็นได้ทั้งหน่วยการขนส่งหรือภาชนะขนส่ง ตามบทนิยามศัพท์ใน มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มิได้มีความหมายว่า ภาชนะขนส่งดังเช่นศาลชั้นต้นวินิจฉัยเท่านั้น เมื่อสำเนาใบตราส่ง เอกสารหมาย ล.1 ระบุเพียงจำนวนตู้สินค้า การที่สินค้าสูญหายมีเพียง 1 ตู้ กรณีจึงต้องถือว่า ตู้สินค้าเป็นหน่วยขนส่ง จำเลยร่วมจึงต้องรับผิดในความเสียหายไม่เกิน 10,000 บาท ต่อหนึ่งหน่วยการขนส่ง ตามมาตรา 58แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2535 นั้น เห็นว่าพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3 ใหคำนิยาม “ภาชนะขนส่ง” หมายความว่าตู้สินค้า ไม้รองสินค้า หรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันซึ่งใช้บรรจุหรือรองรับของหรือใช้รวมหน่วยการขนส่งของหลายหน่วยเข้าด้วยกัน เพื่อประโยชน์ในการขนส่งทางทะเลและให้คำนิยาม “หน่วยการขนส่ง” หมายความว่า หน่วยแห่งของที่ขนส่งทางทะเลซึ่งนับเป็นหนึ่งและแต่ละหน่วยอาจทำการขนส่งไปตามลำพังได้ เช่น กระสอบชิ้น ถัง ตู้ ม้วน ลัง ลูก ห่อ หีบ อัน หรือหน่วยที่เรียกอย่างอื่น จากคำนิยามคำว่า “หน่วยการขนส่ง” ย่อมเห็นได้ว่าคำว่า “ตู้” ที่ยกตัวอย่างในคำนิยามนั้น ย่อมหมายความถึงตู้สำหรับบรรจุสินค้าหรือของอย่างหนึ่งซึ่งมีขนาดเล็ก ต่างจากตู้สินค้าซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าและสามารถบรรจุภาชนะสำหรับบรรจุสินค้าขนาดเล็กดังกล่าวได้เป็นจำนวนมากเพื่อความสะดวกในการขนย้าย ดังนั้นตู้สินค้าซึ่งเรียกกันในวงการว่าตู้คอนเทนเนอร์จึงเป็นภาชนะขนส่งส่วนตู้เป็นหน่วยการขนส่งดังที่พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3 บัญญัติให้คำนิยามไว้โดยชัดแจ้งแล้ว มิใช่ว่าตู้หรือตู้สินค้ามีความหมายเป็นได้ทั้งหน่วยการขนส่งและภาชนะขนส่งดังเช่นที่จำเลยร่วมอุทธรณ์ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าตู้สินค้าไม่ใช่หน่วยการขนส่ง 1 หน่วย จึงไม่อาจที่จะจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วม ไม่เกิน 10,000 บาท ได้นั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยร่วมฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยร่วมอุทธรณ์เกี่ยวกับเรื่องอายุความสรุปได้ว่าเดิมจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 25 มิถุนายน 2539 ขอให้เรียกบริษัทอาร์.ซี.แอล. คอนเทนเนอร์ไลน์ส จำกัดเข้ามาเป็นจำเลยร่วมทั้ง ๆ ที่ใบตราส่งที่จำเลยร่วมออกให้แก่จำเลยที่ 1 ก็ระบุชื่อผู้ออกใบตราส่งไว้แจ้งชัดว่า บริษัทริจินอล คอนเทนเนอร์ ไลน์ส พีทีอี จำกัดแสดงว่าจำเลยที่ 1 ทราบชื่อที่แท้จริงของจำเลยร่วมตั้งแต่ต้นแล้ว การที่จำเลยที่ 1 ขอให้เรียกบริษัทอาร์.ซี.แอล.คอนเทนเนอร์ ไลน์ส จำกัด เข้ามาในคดีจึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่มีความประสงค์หรือเจตนาที่จะขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีตั้งแต่ต้น การที่จำเลยที่ 1ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 27 มีนาคม 2540 ขอให้แก้ชื่อบริษัทอาร์.ซี.แอล. คอนเทนเนอร์ไลน์ส จำกัด มาเป็นชื่อจำเลยร่วมโดยอ้างว่าชื่อดังกล่าวเป็นชื่อย่อจำเลยร่วมนั้น เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตก็ต้องถือว่าจำเลยร่วมถูกเรียกเข้ามาในคดีในวันที่ 27 มีนาคม 2540ซึ่งผลของกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3) จำเลยร่วมย่อมมีสิทธิเหมือนถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ตามมาตรา 58 วรรคแรก จำเลยร่วมย่อมยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ จำเลยร่วมส่งมอบสินค้าตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2538 แล้ว คดีโจทก์สำหรับจำเลยร่วมจึงขาดอายุความตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลพ.ศ. 2534 มาตรา 46 แล้วนั้น เห็นว่า ตามคำร้องของจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่25 มิถุนายน 2539 ต้องการที่จะให้เรียกเจ้าของเรือนันทภูมิที่ร่วมขนส่งตู้สินค้าคดีนี้เข้ามาเป็นจำเลยในคดีร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วย ซึ่งแม้ตามคำร้องระบุชื่อเจ้าของเรือนันทภูมิที่จำเลยที่ 1 ขอเรียกเข้ามาในคดีนั้นเป็นอักษรไทยว่า “บริษัทอาร์.ซี.แอล.คอนเทนเนอร์ไลน์ส จำกัด” ก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ได้เขียนชื่อเป็นอักษรโรมันภายในเครื่องหมายวงเล็บไว้ด้วยว่า Regional Container Lines เมื่อพิจารณาสำเนาใบตราส่งเอกสารหมาย ล.1 ที่จำเลยร่วมเป็นผู้ออกให้จำเลยที่ 1 แล้ว จะมีชื่อด้านบนภายในกรอบสี่เหลี่ยมว่า อาร์ซีแอล (อยู่ในวงรี) ริจินอล คอนเทนเนอร์ ไลน์ส (RCL Regional Container Lines) และด้านล่างช่องลายมือชื่อผู้ขนส่งมีชื่อว่า บริษัทริจินอล คอนเทนเนอร์ ไลน์ส พีทีอี จำกัด (REGIONAL CONTAINER LINES PTE.LTD.) จึงอาจทำให้จำเลยที่ 1 เข้าใจว่าเจ้าของเรือนันทภูมิมีชื่อตามที่ระบุมาในคำร้องได้ทั้งตามสำเนาภาพถ่ายเรือนันทภูมิเอกสารหมาย ล.8 ก็ปรากฏว่ามีอักษรโรมันว่า “อาร์ซีแอล” ขนาดใหญ่อยู่ที่หัวเรือด้วยจึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาขอให้เรียกเจ้าของเรือนันทภูมิคือจำเลยร่วมเข้ามาในคดีการแก้ไขให้ถูกต้องตรงกับชื่อที่แท้จริงของจำเลยร่วมในภายหลังย่อมกระทำได้ และถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีตามคำร้องฉบับลงวันที่ 25 มิถุนายน 2539 แล้ว คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลพ.ศ. 2534 มาตรา 46 ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมฟังไม่ขึ้นทุกข้อ”
พิพากษายืน