แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
หนังสือสัญญาจ้างเหมาแรงงานมีข้อความในลักษณะแบบของสัญญาซึ่งมีข้อความที่พิมพ์ไว้แล้ว มีช่องว่างสำหรับเติมข้อความที่ต้องการไว้ซึ่งสาระสำคัญที่จะต้องเติมประการแรกก็คือ ชื่อและลายมือชื่อของคู่สัญญาที่จะต้องรับผิดและพยานท้ายสัญญาสำหรับชื่อของคู่สัญญาในเอกสารนั้นคงมีเฉพาะชื่อบริษัท อ. โดยจำเลยที่ 1 กรรมการผู้จัดการระบุในฐานะผู้ว่าจ้าง และจำเลยที่ 1 ได้ลงชื่อท้ายสัญญาในช่องผู้ว่าจ้างเท่านั้น โดยไม่มีชื่อโจทก์หรือบุคคลอื่นใดที่ระบุไว้เป็นคู่สัญญาในฐานะผู้รับจ้างไว้เลย ลักษณะของเอกสารดังกล่าวจึงยังไม่เป็นสัญญาที่จะใช้บังคับผู้หนึ่งผู้ใดให้ต้องรับผิดได้ การที่จำเลยที่ 1 ทำเอกสารขึ้นมาเช่นนี้ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือแก่ผู้อื่นหรือประชาชน จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268 และ 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268 ลงโทษตามมาตรา 268 วรรคสองจำคุก 2 ปี จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรกจำคุก 1 ปี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้มีกำหนด 2 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า บริษัทอุบลสหธรรมขนส่ง (1983) จำกัด ซึ่งมีจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้จัดการ ได้รับเหมาช่วงงานก่อสร้างทางหลวง สายม่วงสามสิบ-พนา-ตระการพืชผล มาจากห้างหุ้นส่วนจำกัดพรเกษม ผู้ซึ่งประมูลการก่อสร้างมาจากกรมทางหลวง บริษัทอุบลสหธรรมขนส่ง (1983) จำกัด โดยจำเลยที่ 1 ได้จ้างเหมาแรงงานให้โจทก์ทำงานดังกล่าวต่อมาโจทก์ได้นำสัญญาว่าจ้างเหมาแรงงานตามเอกสารหมาย จ.3 มาฟ้องเรียกค่าจ้างจากบริษัทอุบลสหธรรมขนส่ง (1983) จำกัด จำเลยในคดีดังกล่าวนำสืบต่อสู้ว่า สัญญาว่าจ้างเป็นไปตามเอกสารหมาย จ.8 ซึ่งข้อความและการพิมพ์แตกต่างกับเอกสารหมาย จ.3 มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมตามฟ้องหรือไม่เห็นว่า หนังสือสัญญาจ้างเหมาแรงงานตามเอกสารหมาย จ.8 ที่โจทก์อ้างว่าเป็นเอกสารที่จำเลยที่ 1 ปลอมขึ้นนั้น มีข้อความในลักษณะแบบของสัญญาซึ่งมีข้อความที่พิมพ์ไว้แล้ว มีช่องว่างสำหรับเติมข้อความที่ต้องการไว้ ซึ่งเนื้อหาสาระที่สำคัญที่จะต้องเติมประการแรกก็คือ ชื่อของคู่สัญญาและลายมือชื่อของคู่สัญญาที่จะต้องรับผิดและพยานท้ายสัญญา สำหรับชื่อของคู่สัญญาในเอกสารหมาย จ.8 นั้น คงมีเฉพาะชื่อบริษัทอุบลสหธรรมขนส่ง (1983) จำกัด โดยจำเลยที่ 1 กรรมการผู้จัดการระบุในฐานะผู้ว่าจ้าง และจำเลยที่ 1 ได้ลงชื่อท้ายสัญญาในช่องผู้ว่าจ้างเท่านั้น โดยไม่มีชื่อโจทก์หรือบุคคลอื่นใดที่ระบุไว้ในฐานะเป็นคู่สัญญาในฐานะผู้รับจ้างไว้เลย ตามลักษณะของเอกสารหมาย จ.8 ดังกล่าวยังไม่เป็นสัญญาที่จะใช้บังคับผู้หนึ่งผู้ใดให้ต้องรับผิดได้การที่จำเลยที่ 1 ทำเอกสารหมาย จ.8 ขึ้นมาเช่นนี้ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือแก่ผู้อื่นหรือประชาชน จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดตามฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1