คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3555/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

++ เรื่อง มรดก
++ โจทก์ฎีกา
++ โปรดดูย่อจากหนังสือคำพิพากษาศาลฎีกา สำนักงานศาลยุติธรรม
++ เล่มที่ 8 หน้า 124 ++
++ ขอดูชุดพิเศษโปรดติดต่อห้องบริการเอกสารสำเนาคำพิพากษา (ห้องสมุด) ชั้น 4, 5 ++

ย่อยาว

เรื่อง มรดก
โจทก์ ฎีกาคัดค้าน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ลงวันที่ ๒๘ เดือน กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๔๑
ศาลฎีกา รับวันที่ ๘ เดือน มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับนายทังไล้ แซ่เตียว เป็นบุตรของนายฮะฮี้ แซ่เตียว แต่ต่างมารดากัน เมื่อวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๑๐นายฮะฮี้ตาย มีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๔๕๘ ตำบลบางช้าง(คลองแบ่ง) อำเภอพนัสนิคม (พนัศ) จังหวัดชลบุรี ต่อมานายทังไล้ตายจำเลยที่ ๑ บุตรนายทังไล้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของนายฮะฮี้กับนายทังไล้ตามคำสั่งศาล โจทก์เป็นทายาทของนายฮะฮี้มีสิทธิได้รับมรดกที่ดินแปลงดังกล่าวกึ่งหนึ่ง แต่จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้จัดการมรดกร่วมกับจำเลยที่ ๒ จดทะเบียนโอนทรัพย์มรดกข้างต้นไปเป็นของจำเลยทั้งสอง ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๔๕๘ ตำบลบางช้าง (คลองแบ่ง)อำเภอพนัสนิคม (พนัศ) จังหวัดชลบุรี เป็นจำนวนเนื้อที่ ๑๒ ไร่๓๒ ตารางวา และให้จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิรับมรดกที่ดินพิพาทเนื่องจากหลังจากนายฮะฮี้ตาย ได้มีการตกลงแบ่งทรัพย์มรดกแล้ว โดยโจทก์ไม่รับที่ดินพิพาทและยอมยกที่ดินดังกล่าวให้จำเลยทั้งสองเนื้อที่ ๒๒ ไร่๖๔ ตารางวา ส่วนที่เหลือ ๒ ไร่ ให้จำเลยทั้งสองกับนายสินธู สินธุวงษ์บุตรโจทก์นำไปใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างอนุสรณ์สำหรับฝังอัฐิของนายฮะฮี้ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน ๕,๐๐๐ บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยทั้งสองเป็นเงิน ๕,๐๐๐ บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ทางพิจารณาจำเลยนำสืบว่า จำเลยทั้งสองเป็นบุตรของนายทังไล้ แซ่เตียว กับนางชูกิมหรือชูอิม แซ่เตียว นายทังไล้เป็นบุตรของนายฮะฮี้กับนางเม่งเช็ง แซ่เตียวส่วนโจทก์เป็นบุตรของนายฮะฮี้กับนางถั่วงอก แซ่เตียว นายฮะฮี้มีทรัพย์สินเป็นที่ดิน ๓ แปลง คือที่ดินพิพาทกับที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๐๓๖ และ ๖๒๗๗นายฮะฮี้ตายเมื่อวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๑๐ หลังจากนั้นทายาทของนายฮะฮี้ตกลงแบ่งทรัพย์มรดกกัน โดยโจทก์และมารดาโจทก์ยอมรับที่ดินโฉนดเลขที่๖๐๓๖ และ ๖๒๗๗ ส่วนที่ดินพิพาทโจทก์และมารดาโจทก์สละสิทธิไม่รับมรดกแต่มีเงื่อนไขให้แบ่งที่ดินพิพาทเนื้อที่ ๒ ไร่ ไว้สำหรับจัดสร้างอนุสรณ์ฝังอัฐินายฮะฮี้ ตามเอกสารหมาย ล.๔ ต่อมาวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๑๐ ได้โอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๐๓๖ และ ๖๒๗๗ ให้แก่นางถั่วงอก และวันที่ ๑๙ มิถุนายน๒๕๑๐ นางถั่วงอกได้โอนที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่โจทก์และนายสินธู สินธุวงษ์บุตรโจทก์ ในปี ๒๕๒๓ โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงจะโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ ๑ จึงให้จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของนายทังไล้ และให้โจทก์ยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของนายฮะฮี้ โดยขอให้ตั้งจำเลยที่ ๑เป็นผู้จัดการมรดก ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ ๑ เป็นผู้จัดการมรดกของนายฮะฮี้และนายทังไล้ตามคำร้อง ต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลยทั้งสองตามที่ตกลงกัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท
โจทก์นำสืบว่า นายฮะฮี้มีที่ดิน ๓ แปลง ได้ยกที่ดิน ๒ แปลงให้แก่นางถั่วงอก มารดาโจทก์ และยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ หลังจากนายฮะฮี้ตายโจทก์ตกลงแบ่งที่ดินพิพาทจำนวน ๒ ไร่ ทำเป็นสุสาน โจทก์ยกให้นายทังไล้ บิดาจำเลยทั้งสองประมาณ ๑๐ ไร่ โดยให้จำเลยที่ ๑เป็นผู้รับมรดกส่วนของนายทังไล้ ส่วนที่เหลือโจทก์ตกลงยกให้นายสมพลแซ่เตียว แต่เนื่องจากนายสมพลเป็นใบ้ จึงตกลงให้นางถั่วงอกเป็นผู้มีสิทธิเก็บกินในที่ดินจนตาย ตามบันทึกเอกสารหมาย ล.๔ หลังจากนั้นประมาณ๑๐ ปี นายสมพลป่วยเป็นโรคประสาท โจทก์จึงขอที่ดินส่วนที่ยกให้นายสมพลคืน เมื่อจำเลยที่ ๑ บรรลุนิติภาวะแล้ว โจทก์ไปติดต่อสำนักงานที่ดินเพื่อโอนที่ดินส่วนที่ยกให้นายทังไล้ให้จำเลยที่ ๑ แต่มีเหตุขัดข้อง โจทก์จึงยื่นคำร้องขอจัดการมรดก โดยขอให้จำเลยที่ ๑ เป็นผู้จัดการมรดกของนายฮะฮี้ส่วนจำเลยที่ ๑ ได้ยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของนายทังไล้ด้วย หลังจากศาลมีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยที่ ๑ เป็นผู้จัดการมรดกของนายฮะฮี้และนายทังไล้แล้วโจทก์ขอให้จำเลยที่ ๑ แบ่งแยกที่ดินพิพาทส่วนที่ขอกลับคืนมาให้แก่โจทก์แต่จำเลยที่ ๑ เพิกเฉย และจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยทั้งสอง
พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงได้ความในเบื้องต้นว่า โจทก์และนายทังไล้ แซ่เตียว ซึ่งเป็นบิดาของจำเลยทั้งสอง เป็นบุตรของนายฮะฮี้แซ่เตียว แต่ต่างมารดากัน นายฮะฮี้มีที่ดิน ๓ แปลง คือที่ดินโฉนดเลขที่๖๐๓๖, ๖๒๗๗ และที่ดินพิพาท หลังจากนายฮะฮี้ตายโจทก์และมารดาโจทก์ทำบันทึกสละสิทธิที่ดินพิพาทโดยมีเงื่อนไขให้สร้างอนุสรณ์สำหรับฝังอัฐินายฮะฮี้ในที่ดินแปลงนี้จำนวน ๒ ไร่ ส่วนที่ดินที่เหลืออีก ๒๒ ไร่เศษให้นายสมพล แซ่เตียว และจำเลยที่ ๑ เป็นผู้รับมรดกร่วมกัน ตามเอกสารหมาย ล.๔ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า บันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย ล.๔ เป็นหนังสือสละมรดกหรือเป็นหนังสือแบ่งมรดก เห็นว่าบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย ล.๔ มีข้อความว่า บันทึกฉบับนี้ทำขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานว่า นางถั่วงอกและนางเพิ่มพูน (โจทก์) ยินยอมสละสิทธิมรดกของนายฮะฮี้ คือที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๔๕๘ (ที่ดินพิพาท) โดยมีเงื่อนไขว่าให้สร้างอนุสรณ์สำหรับฝังอัฐินายฮะฮี้ในที่ดินแปลงนี้เนื้อที่ ๒ ไร่ ส่วนที่เหลืออีก ๒๒ ไร่เศษ จะให้นายสมพลและเด็กชายธรรมรักษ์ (จำเลยที่ ๑)เป็นผู้รับมรดกร่วมกัน โดยให้จัดการแบ่งแยกและขอรับมรดกต่อเมื่อได้ก่อสร้างอนุสรณ์เสร็จแล้ว จากข้อความในบันทึกฉบับนี้แสดงว่านางถั่วงอกและโจทก์ยอมสละสิทธิในที่ดินพิพาท โดยมีเงื่อนไขว่าต้องสร้างอนุสรณ์สำหรับฝังอัฐินายฮะฮี้ในที่ดินพิพาทเนื้อที่ ๒ ไร่ และเจาะจงให้ที่ดินที่เหลือตกแก่นายสมพลและจำเลยที่ ๑ โดยเฉพาะ บันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย ล.๔ จึงไม่ใช่การสละมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๖๑๒ และ ๑๖๑๓ เพราะการสละมรดกจะทำแต่เพียงบางส่วนหรือทำโดยมีเงื่อนไขหรือเจตนาให้มรดกนั้นตกได้แก่ทายาทคนใดคนหนึ่งไม่ได้ นอกจากนี้นางชูกิมหรือชูอิม แซ่เตียว ได้เบิกความถึงที่มาของข้อตกลงดังกล่าวว่า หลังจากนายฮะฮี้ตายแล้ว นางชูกิม นายทังไล้นางถั่วงอก นางเม่งเช็ง และโจทก์ ซึ่งเป็นทายาทนายฮะฮี้ได้เจรจาตกลงกันเกี่ยวกับมรดกของนายฮะฮี้ ในที่สุดตกลงกันได้ตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย ล.๔ ส่วนที่ดินของนายฮะฮี้อีก ๒ แปลง นางถั่วงอกมารดาโจทก์ตกลงเอาไว้เป็นของตน การที่ทายาทของนายฮะฮี้ได้เจรจาตกลงกันเกี่ยวกับที่ดินพิพาทโดยทำบันทึกตามเอกสารหมาย ล.๔ เพื่อเป็นหลักฐานว่านางถั่วงอกและโจทก์สละสิทธิในที่ดินพิพาท เช่นนี้มีลักษณะเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๕๐ และ ๑๗๕๐ โจทก์จึงฟ้องร้องขอให้แบ่งที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ไม่ได้ ที่โจทก์ฎีกาว่าบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย ล.๔ เป็นหนังสือสละมรดกนั้นฟังไม่ขึ้น และที่อ้างว่าโจทก์จำเลยได้ตกลงยกเลิกข้อตกลงตามเอกสารหมาย ล.๔ แล้วโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุน จึงรับฟังไม่ได้เช่นเดียวกัน และไม่ต้องวินิจฉัยว่าฟ้องขาดอายุความหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนไปที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา ๔,๐๐๐ บาทแทนจำเลยทั้งสอง.

Share