คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5754/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ห.บิดาจำเลยได้ขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินของตนให้แก่ ล. ภริยาน้อยของ ห. คือที่ดินพิพาทคดีนี้ ต่อมา ล.ได้ทำหนังสือสัญญาขายที่ดินพิพาทให้แก่ค.มารดาของโจทก์ทั้งสามโดยห.รู้เห็นยินยอมด้วย การที่ล.ขายที่ดินพิพาทให้แก่ ค.ย่อมมีผลสมบูรณ์และผูกพันห.ด้วยดังนั้น การที่จำเลยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของ ห.และเป็นการครอบครองแทนห.เมื่อห.และ ล. ได้โอนการครอบครองที่ดินพิพาทแก่ ค.แล้ว และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือเป็นเจตนายึดถือ เพื่อตนอันเป็นการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยจึงไม่อาจอ้างระยะเวลาการฟ้องเอาคืนการครอบครองภายใน 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสามผู้รับโอนมรดกที่ดินพิพาทจาก ค.ได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า ที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) เลขที่ 4940 ตำบลทมอ อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์เนื้อที่ 42 ไร่ เป็นของโจทก์ทั้งสามโดยรับโอนมรดกจากนางคล้อยกมลเดช เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2529 ขณะที่นางคล้อยยังมีชีวิตอยู่ คือเมื่อปี พ.ศ. 2528 จำเลยเช่าที่ดินพิพาททำนา แต่จำเลยไม่ชำระค่าเช่า จึงได้บอกเลิกการเช่า ต่อมาวันที่ 10 มิถุนายน 2529จำเลยกับบริวารได้บุกรุกเข้าไปไถนาในที่ดินพิพาทอ้างว่าเป็นที่ดินของนายหึม เหมือนพระ และนางเลียบ ตะสอน โจทก์ทั้งสามห้ามปรามแล้ว จำเลยไม่เชื่อฟัง ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสาม บังคับให้จำเลยและบริวารออกไปห้ามมิให้เข้ามาเกี่ยวข้องอีก กับให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามสำหรับค่าขาดประโยชน์จากการทำนาในที่ดินพิพาทสำหรับปี พ.ศ. 2529เป็นเงิน 32,400 บาท และปีต่อ ๆ ไปอีกปีละ 32,400 บาท จนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่ดินพิพาท
จำเลยทั้งสามให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นของนายหึมบิดาจำเลยนายหึมรับมรดกมาจากนายจันทร์ เหมือนพระ ได้ประมาณ 45 ปีแล้วเดิมเป็นที่ดินแปลงใหญ่ เนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ ครั้นปี พ.ศ. 2520นายหึมแบ่งขายให้ผู้อื่นไปประมาณ 13 ไร่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2521นายหึมได้นำที่ดินส่วนที่เหลือประมาณ 80 ไร่ ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) แต่พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งว่าราษฎรแต่ละคนจะมีที่ดินเกินกว่า 50 ไร่ไม่ได้ นายหึมจึงออก น.ส.3 ก.เป็นชื่อตนเอง 42 ไร่เศษ ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินพิพาทส่วนที่เหลือคือที่ดินพิพาทได้ใส่ชื่อของนางเสียบภริยาใหม่ของตนแทน และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 นายหึมได้ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยเข้าร่วมครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน2527 นางคล้อยและโจทก์ทั้งสามจะซื้อที่ดินพิพาทจากนางเลียบจำเลยและนายหึมจึงแจ้งให้ทราบว่านางเลียบมิใช่เจ้าของห้ามมิให้นางคล้อยและโจทก์ทั้งสามเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทจำเลยและนายหึมครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทในฐานะเจ้าของตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2527 ตลอดมาจนถึงปัจจุบันเกินกว่า 1 ปีแล้วโจทก์ทั้งสามมิได้ฟ้องคดีภายใน 1 ปี ฟ้องของโจทก์ทั้งสามจึงขาดอายุความ ค่าเสียหายปีหนึ่งไม่เกิน 10,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสาม ให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท ห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไปให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสาม เป็นเงิน 21,250 บาท และในอัตราปีละ 21,250 บาท นับแต่ปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่ดินพิพาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสาม
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติในเบื้องต้นว่าเมื่อปี พ.ศ. 2521 นายหึมบิดาจำเลยได้ขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินของตนเนื้อที่ 80 ไร่เศษเป็น 2 แปลง โดยใส่ชื่อตนเองเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ 1 แปลงอีกแปลงหนึ่งคือที่ดินพิพาทนี้ให้ใส่ชื่อนางเลียบ ภริยาน้อยของตนตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.1 พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้เมื่อปี พ.ศ. 2523 ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2527 นางเลียบได้ทำหนังสือสัญญาขายที่ดินพิพาทให้นางคล้อยในราคา 70,000 บาท และนางคล้อยได้ถึงแก่กรรมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2529 โจทก์ทั้งสามได้จดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินพิพาทจากนางคล้อย เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2529ปัจจุบันจำเลยเป็นผู้ครอบครองทำนาในที่ดินพิพาท ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามมีว่า จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์หรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า การที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาท หาใช่เป็นการอาศัยสิทธิการเช่าจากโจทก์และเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์แต่การที่ นางคล้อยภริยาโจทก์ที่ 1ซื้อที่ดินพิพาทจากนางเลียบภริยานายหึม นั้น นายหึมได้รู้เห็นยินยอมแล้ว สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนางคล้อยกับนางเลียบจึงมีผลสมบูรณ์และมีผลผูกพันนายหึมด้วย คดีจึงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามต่อไปว่า จำเลยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของนายหึมหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงในปัญหาข้อนี้แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของนายหึมและเป็นการครอบครองแทนนายหึม เมื่อนายหึมต้องผูกพันตามสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทที่ นางเลียบทำกับนางคล้อยดังที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้น จึงถือว่านางเลียบและนายหึมได้โอนการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่นางคล้อยตามสัญญาซื้อขายไปแล้วและข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือเป็นเจตนายึดถือเพื่อตน อันเป็นการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทดังนั้น จำเลยจึงไม่อาจอ้างว่าโจทก์มิได้ฟ้องเอาคืนการครอบครองภายใน 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 มาเป็นข้อต่อสู้โจทก์ทั้งสามได้
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share