คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5622/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นคดีแพ่งและคดีอาญาเกี่ยวเนื่องกัน ในการวินิจฉัยคดีส่วนอาญาด้วยกันนั้น หาได้มีบทกฎหมายใดบังคับว่า ในการพิจารณาคดีหลังที่กล่าวหากันด้วยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีก่อน ศาลจะต้องถือเอาข้อเท็จจริงที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดไว้แล้วในคดีก่อนไม่ดังนั้น ในการวินิจฉัยคดีส่วนอาญา ศาลจึงฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนได้ หาจำต้องไปฟังข้อเท็จจริงจากคดีก่อนไม่ ส่วนในการวินิจฉัยคดีส่วนแพ่งนั้น หากเป็นการฟ้องคดีแพ่งและคดีอาญาเกี่ยวเนื่องกันมาศาลจำต้องถือเอาข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ในคดีส่วนแพ่ง แม้ศาลอุทธรณ์จะมิได้วินิจฉัยคดีและพิพากษาให้แก่โจทก์ การที่จะส่งสำนวนคืนให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาคดีส่วนแพ่งเสียใหม่หาได้เกิดผลดีแก่คดีโจทก์ไม่ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาใหม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินตามใบจอง เนื้อที่25 ไร่ ตำบลสามขา อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธ์ุ เมื่อวันที่13 กุมภาพันธ์ 2529 จำเลยได้บุกรุกเข้าไปตัดฟันต้นไม้ในที่ดินดังกล่าว และถูกพนักงานอัยการฟ้องในข้อบุกรุก ทำให้เสียทรัพย์ซึ่งศาลชั้นต้นได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย ต่อมาวันที่ 4 กรกฎาคม2530 เวลากลางวัน จำเลยได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินดังกล่าวอีกและได้ปลูกบ้านหนึ่งหลังทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของที่ดินดังกล่าว เพื่อถือการครอบครองที่ดินอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุข เหตุเกิดที่ตำบลสามขา อำเภอกุฉินารายณ์จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 363,92, 93 ให้ขับไล่จำเลยและรื้อถอนบ้านออกไป ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินอีกศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นไต่สวยมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยไม่ได้ให้การ ถือว่าจำเลยให้การปฏิเสธ และจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การในคดีส่วนแพ่ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ จำเลยย่อมมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่า โจทก์ การครอบครองของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ความผิดฐานบุกรุกตามที่โจทก์ฟ้องต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง อุทธรณ์ของโจทก์เป็นการอุทธรณ์ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล เป็นการโต้เถียงในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นคดีแพ่งและคดีอาญาเกี่ยวเนื่องกันมา ในการวินิจฉัยคดีส่วนอาญาด้วยกันนั้น หาได้มีบทกฎหมายใดบังคับว่า ในการพิจารณาคดีหลังที่กล่าวหากันด้วยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีก่อน ศาลจะต้องถือเอาข้อเท็จจริงที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดไว้แล้วในคดีก่อนไม่ ดังนั้น ในการวินิจฉัยคดีส่วนอาญาคดีนี้ ศาลจึงฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนได้หาจำต้องไปฟังข้อเท็จจริงจากคดีก่อนไม่ ส่วนในการวินิจฉัยคดีส่วนแพ่งนั้นหากเป็นการฟ้องคดีแพ่งและคดีอาญาเกี่ยวเนื่องกันมาดังกล่าวแล้ว ศาลจำต้องถือเอาข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาถึงที่สุดไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่า จำเลยมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกว่า จำเลยมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์ การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก ในคดีส่วนแบ่งศาลจึงไม่อาจจะบังคับให้ตามคำขอของโจทก์ได้จะต้องพิพากษายกฟ้องนั่นเอง อย่างไรก็ดีในคดีส่วนแพ่งนี้ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะมิได้วินิจฉัยและพิพากษาให้แก่โจทก์ การที่จะส่งสำนวนคืนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาพิพากษาคดีส่วนแพ่งเสียใหม่ก็หาได้เกิดผลดีแก่คดีของโจทก์ไม่ ทั้งข้อเท็จจริงปรากฏในสำนวนเพียงพอแก่การวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายนี้แล้วศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเลยทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาใหม่
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้พิพากษายกฟ้องคดีส่วนแพ่งของโจทก์ด้วยค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

Share