คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5059/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานบุกรุก ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์มิได้ครอบครองที่ดินพิพาทในขณะฟ้องคดีนี้ตามที่บรรยายมาในฟ้อง การที่โจทก์มีคำขอให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและต้นไม้ออกจากที่ดินพิพาทและห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทมาพร้อมกับฟ้องคดีอาญา ถือได้ว่าเป็นการฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครอง ซึ่งโจทก์จะต้องฟ้องภายใน 1 ปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง เมื่อปรากฏจากคำเบิกความของโจทก์ในชั้นไต่สวนดังกล่าวว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกว่า 1 ปี นับแต่วันถูกแย่งการครอบครอง โจทก์จึงหมดสิทธิฟ้องแม้จำเลยจะยังมิได้ให้การต่อสู้คดี ปัญหาเรื่องสิทธิฟ้องร้องของโจทก์เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358,362, 265, 83 ห้ามมิให้จำเลยทั้งห้าและบริวารเข้าไปกระทำการใด ๆอันเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันรื้อถอนเสาไม้รั้วลวดหนาม และต้นมะพร้าว ออกจากที่ดินของโจทก์หากจำเลยทั้งห้าไม่รื้อถอนให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนโดยจำเลยทั้งห้าร่วมกันรับผิดออกค่าใช้จ่าย
ก่อนศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ประทับฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 เฉพาะความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาโจทก์เฉพาะในส่วนคดีแพ่งเท่านั้น คงมีปัญหาในชั้นฎีกาเฉพาะคดีแพ่งในประเด็นที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ แล้ววินิจฉัยว่า ตามคำเบิกความของโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องจำเลยทั้งห้าได้เข้าไปบุกรุกแย่งการครอบครองที่พิพาทดังกล่าววันที่20 ธันวาคม 2526 ต่อมาโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ได้ออกไปจากที่ดินพิพาท แต่เมื่อโจทก์เข้าไปครอบครองดูแลที่ดินที่พิพาทและปลูกขนำ ขนำของโจทก์ก็ถูกถอนรื้อและเผา เมื่อโจทก์ปลูกขนำขึ้นใหม่ในเดือนสิงหาคม 2530 ก็ปรากฏจากสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี เอกสารหมาย จ.8 ว่าจำเลยทั้งห้านำเจ้าพนักงานตำรวจไปรื้อขนำของโจทก์ออกแล้วนำไม้ไปเก็บไว้ที่สถานีตำรวจโจทก์ก็ไปแจ้งว่าโรงเรือนที่ถูกรื้อเป็นของตนเท่านั้น แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งห้ายังคงครอบครองที่พิพาทอยู่ตลอดมานับตั้งแต่เข้าไปแย่งการครอบครองที่พิพาทในเดือน ธันวาคม 2526 จนกระทั่งถึงปัจจุบันและขัดขวางไม่ยอมให้โจทก์เข้าไปครอบครองยิ่งกว่านั้นจำเลยทั้งห้ายังปลูกขนำในที่พิพาทด้วย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าโจทก์มิได้ครอบครองที่พิพาทในขณะที่ฟ้องคดีนี้ตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องการที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งห้ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและต้นไม้ออกจากที่ดินพิพาท และห้ามจำเลยทั้งห้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท จึงถือได้ว่าเป็นการฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองซึ่งโจทก์จะต้องฟ้องภายใน 1 ปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง ดังนั้น เมื่อโจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2531 ซึ่งเป็นเวลาเกินกว่า1 ปี นับแต่วันถูกแย่งการครอบครองโจทก์จึงหมดสิทธิฟ้อง แม้จำเลยจะยังมิได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดี และปัญหาเรื่องสิทธิฟ้องร้องของโจทก์เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ สำหรับเรื่องที่โจทก์ฎีกาว่าเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์และประทับฟ้องในข้อหาบุกรุก ศาลต้องรับฟ้องในส่วนแพ่งด้วยนั้น เห็นว่าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแต่เพียงว่าคดีโจทก์มีมูลในความผิดอาญาฐานบุกรุกเท่านั้นไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ ข้อเท็จจริงดังกล่าวศาลหาจำต้องรับฟังไม่
พิพากษายืน.

Share