คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1496/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำความผิดของจำเลยต่างกรรมต่างวาระรวม 63 กรรม จำเลยรับสารภาพตามฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงจำเลยเพียง 62 กรรม โดยไม่ปรากฏว่าได้ยกฟ้องจึงไม่ถูกต้อง แม้อุทธรณ์โจทก์จะมิได้ระบุมาว่าศาลชั้นต้นลงโทษกรรมใด และมิได้ลงโทษกรรมใดมาให้ชัดแจ้ง แต่ก็เป็นที่เห็นได้ว่าขอให้ลงโทษในกรรมที่ขาดไป ซึ่งเห็นได้ว่าศาลชั้นต้นมิได้ลงโทษในกรรมสุดท้ายเพราะนับขาดไปอุทธรณ์โจทก์จึงสมบูรณ์
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับจำเลยโดยไม่แยกว่า การกระทำกรรมใดเป็นความผิดตามมาตราใดให้ชัดเจน ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้ ส่วนกรณีที่ศาลชั้นต้นลงโทษต่ำกว่าอัตราขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด แต่โจทก์มิได้ฎีกา ศาลฎีกาไม่อาจแก้ไขให้เป็นอย่างอื่นได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินคำขอในฟ้องฎีกาของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน โดยบรรยายฟ้องว่าจำเลยแจ้งรายได้เสียภาษีการค้าและภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ำกว่ารายได้จริงอันเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ตามฟ้องข้อ (๑.๑) ถึง (๑.๑๒) (๒.๑) ถึง (๒.๑๒) (๓.๑) ถึง (๓.๙) (๔.๑) ถึง (๔.๑๒) (๕.๑) ถึง (๕.๑๒) (๖) และ (๗) รวมทั้งหมด ๕๙ กรรม และบรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองละเว้นไม่ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีการค้าและแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องยื่นตามประมวลรัษฎากร เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีอากร ตามฟ้องข้อ (๔.๑๓) (๕.๑๓) (๘) และ (๙) อีก ๔ กรรม ขอให้ลงโทษตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๓๗, ๓๗ (ทวิ) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๙๑
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลรัษฎากรมาตรา ๓๗, ๓๗ ทวิ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ.๒๕๐๒ มาตรา ๑๔, ๑๕ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๙๑ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๔ จำเลยทั้งสองกระทำผิดหลายกรรม ต่างกัน ให้ลงโทษเรียงกระทง ปรับกระทงละคนละ ๑,๐๐๐ บาท ๖๒ กระทง ปรับ ๖๒,๐๐๐ บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ปรับคนละ ๓๑,๐๐๐ บาท ในกรณีที่จำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐
โจทก์อุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิด ๖๓ กรรมศาลชั้นต้นลงโทษเพียง ๖๒ กรรม จึงไม่ชอบ และฟ้องโจทก์บางกรรมเป็นความผิดตามมาตรา ๓๗ บางกรรมเป็นความผิดตามมาตรา ๓๗ ทวิ ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองหนักขึ้น
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาว่า อุทธรณ์โจทก์ที่ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองเพิ่มอีก ๑ กรรมให้ครบ ๖๓ กรรมตามฟ้อง เป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๙๓ และ ๑๙๕ แล้ว ขอให้ศาลฎีกาลงโทษจำเลยทั้งสองอีก ๑ กรรม
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ได้บรรยายการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองต่างกรรมต่างวาระมารวม ๖๓ กรรม เมื่อจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองเพียง ๖๒ กรรม ขาดไป ๑ กรรมโดยไม่ปรากฏได้ยกฟ้อง จึงไม่ถูกต้อง แม้อุทธรณ์โจทก์จะมิได้ระบุมาว่า ศาลชั้นต้นลงโทษกรรมใดและมิได้ลงโทษกรรมใดมาให้ชัดแจ้ง แต่ก็เป็นที่เห็นได้ว่า ขอให้ลงโทษในกรรมที่ขาดไปซึ่งตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นก็เห็นได้ว่า ศาลชั้นต้นมิได้ลงโทษกรรมสุดท้าย คือกรรมที่ ๖๓ โดยศาลชั้นต้นนับขาดไป อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้จึงสมบูรณ์ ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้ ยังไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมาย เห็นสมควรพิพากษาไปเลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาใหม่และเห็นอีกว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาปรับลงโทษจำเลยทั้งสองโดยไม่แยกว่า การกระทำกรรมใดเป็นความผิดตามมาตราใดให้ชัดเจนนั้น ยังไม่ถูกต้อง จึงสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องด้วยส่วนกำหนดโทษในความผิดตามมาตรา ๓๗ ซึ่งศาลชั้นต้นลงโทษต่ำกว่าอัตราขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด แต่โจทก์มิได้ฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขให้เป็นอย่างอื่นได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินคำขอในฟ้องฎีกาของโจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลรัษฎากรมาตรา ๓๗ ซึ่งแก้ไขใหม่แล้ว ตามฟ้องข้อ (๑.๑) ถึง (๑.๑๒) (๒.๑) ถึง (๒.๑๒) (๓.๑) ถึง (๓.๙) (๔.๑) ถึง (๔.๑๒) (๕.๑) ถึง (๕.๑๒) (๖) (๗) รวม ๕๙ กรรม และตามมาตรา ๓๗ ทวิ ซึ่งแก้ไขใหม่แล้ว ตามฟ้องข้อ (๔.๑๓) (๕.๑๓) (๘) (๙) อีก ๔ กรรม รวมทั้งสิ้น ๖๓ กรรม ความผิดกรรมที่ ๖๓ ตามฟ้องข้อ (๙) ให้ปรับคนละ ๑,๐๐๐ บาท ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่ง คงปรับคนละ ๕๐๐ บาท รวมกับโทษที่ปรับไว้แล้ว ๖๒ กรรม เป็นปรับทั้งสิ้นคนละ ๓๑,๕๐๐ บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share