คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3946/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยรับชำระหนี้เงินกู้ส่วนที่ค้างชำระภายหลังพ้นกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากแล้ว แสดงให้เห็นถึงเจตนาของโจทก์และจำเลยว่าต้องการจะผูกพันกันในเรื่องกู้ยืมเงินเท่านั้นสัญญาขายฝากจึงเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 114 วรรคสอง และจะต้องถือว่าสัญญาขายฝากเป็นหลักฐานที่จำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์และมอบที่ดินตามฟ้องให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยไปทำการจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากที่ดินทั้ง 2 แปลง ตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 1059 และเลขที่ 1076คืนแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ยอมจดทะเบียนให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การว่า ให้โจทก์จำเลยต่างสมัครใจมุ่งผูกพันให้เกิดผลตามนิติกรรมขายฝากจึงไม่ใช่เป็นการนิติกรรมอำพรางการกู้เงินเมื่อโจทก์ไม่ได้ทำการไถ่ถอนการขายฝากในกำหนดที่ดินทั้งสองแปลงตกเป็นสิทธิของจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 1059 และ 1076 ตามฟ้องคืนแก่โจทก์หากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า สัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้เงินหรือไม่ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์กู้เงินจำเลยเพียง40,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อ เดือน โดยจำเลยทำสัญญากู้ไว้ 2 ฉบับ ฉบับแรกจำนวนเงิน 15,000 บาท และยึดถือน.ส.3 ก. ของนายพุฒไว้เป็นประกันการชำระหนี้ ฉบับที่สองจำนวนเงิน25,000 บาท โดยจำเลยให้โจทก์จดทะเบียนขายฝากที่ดินตามฟ้องในราคา 40,000 บาท ตามสัญญาขายฝากเอกสารหมาย จ.3 มิได้กู้จากบิดาจำเลย และโจทก์ได้ชำระหนี้เงินกู้ให้แก่จำเลยแล้วเป็นเงินไม่น้อยกว่า 52,500 บาท โดยชำระหนี้ครั้งสุดท้ายเป็นเงิน 43,500 บาทในวันที่ 17 กรกฎาคม 2527 จำเลยจึงคืน น.ส. 3 ก. ของนายพุฒให้แก่โจทก์ การที่จำเลยรับชำระหนี้เงินกู้ส่วนที่ค้างชำระภายหลังพ้นกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากแล้ว แสดงให้เห็นถึงเจตนาของโจทก์และจำเลยว่าต้องการจะผูกพันกันในเรื่องกู้เงินเท่านั้นสัญญาขายฝากเอกสารหมาย จ.3 จึงเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 วรรคสอง และจะต้องถือว่าสัญญาขายฝากเป็นหลักฐานที่จำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์และมอบที่ดินตามฟ้องให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันเท่านั้น จำเลยให้โจทก์กู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือนเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ ส่วนของดอกเบี้ยจึงตกเป็นโมฆะ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้ชำระหนี้เงินกู้ให้แก่จำเลยไปแล้วเกินกว่าจำเลยเงินที่กู้ยืม หนี้ของโจทก์จึงระงับไป จำเลยต้องคืนที่ดินตามฟ้องให้แก่โจทก์”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share