แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การอุทธรณ์นั้นต้องทำเป็นหนังสือยื่นต่อศาลชั้นต้นซึ่งมีคำพิพากษาหรือคำสั่งภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น เมื่อจำเลยยื่นอุทธรณ์เกินกำหนดเวลาดังกล่าวอุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่จำเลยอุทธรณ์ขอให้กลับคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งในครั้งหลัง เมื่อคำสั่งในครั้งหลังเพียงแต่ยืนยันว่าคำสั่งเดิมชอบด้วยกฎหมาย ถือว่าเป็นการยืนยันตามคำสั่งเดิม เมื่อคำสั่งเดิมจำเลยไม่อุทธรณ์ขอให้เพิกถอนได้ เพราะเหตุอื่นเกินกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว อุทธรณ์ของจำเลยในส่วนที่โต้เถียงคำสั่งในครั้งหลัง จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันไปจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวหากไม่สามารถปฏิบัติได้ ให้จำเลยที่ 1 คืนเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าปรับ 100,000 บาทแก่โจทก์ด้วยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 800 บาท คดีถึงที่สุดแล้วแต่จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาต่อไป
ศาลชั้นต้นนัดสอบถาม จำเลยที่ 2 แถลงว่า จำเลยที่ 2 นำโฉนดที่ดินดังกล่าวไปให้บุคคลภายนอกยึดไว้เป็นประกันเงินกู้ไม่สามารถปฏิบัติตามคำพิพากษาได้ โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่ 2 โฉนดดังกล่าวเพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ จำเลยที่ 2 แถลงคัดค้านว่า โจทก์ไม่บังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 แต่กลับกลั่นแกล้งมาบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเพียงค่าฤชาธรรมเนียมเท่านั้น ขอให้งดการขายและเพิกถอนการยึดทรัพย์ ศาลชั้นต้นสั่งให้งดการขายไว้
โจทก์ยื่นคำแถลงว่า เมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสอง ที่ดินย่อมกลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 สามารถจดทะเบียนโอนให้โจทก์ได้ แต่จำเลยที่ 2 อ้างว่าที่ดินติดประกันเงินกู้บุคคลภายนอกเพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับคดีขอให้ศาลสั่งให้จำเลยทั้งสองร่วมกันไปจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ หากไม่สามารถปฏิบัติได้ให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันเดียวกันว่าอนุญาตหากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า การที่โจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนแล้วนำไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์เป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามคำพิพากษาขอให้ไต่สวนและสั่งให้เพิกถอนคำสั่งเดิมที่อนุญาตให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยนั้นเสีย
ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องของจำเลยที่ 2 ในวันเดียวกันว่าคดีนี้ศาลมีคำพิพากษาบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันไปจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 6900 หากไม่สามารถปฏิบัติได้ ให้จำเลยที่ 1 คืนเงิน ฯลฯ นั้น หมายความว่าในกรณีที่จำเลยทั้งสองยังสามารถจัดการโอนให้โจทก์ได้ จำเลยทั้งสองก็ต้องปฏิบัติหากไม่ปฏิบัติศาลอาจสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาแสดงแทนเจตนาได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213ข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฏจากการสอบถามจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่31 พฤษภาคม 2528 ว่า จำเลยที่ 2 นำโฉนดไปประกันเงินกู้บุคคลภายนอกไว้เท่านั้น แสดงว่าจำเลยที่ 2 ยังคงมีชื่อเป็นเจ้าของในหน้าโฉนดและยังสามารถดำเนินการจดทะเบียนโอนให้โจทก์ได้ เมื่อจำเลยที่ 2ไม่ปฏิบัติ แล้วศาลมีคำสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาแสดงแทนเจตนานั้นจึงเป็นคำสั่งที่ชอบแล้ว ไม่มีเหตุเพิกถอน ยกคำร้อง ค่าร้องเป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ขอให้เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2528 และให้โจทก์บังคับคดีตามคำพิพากษาต่อไป
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 มิได้ยื่นคำอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำสั่งนั้นเกินกำหนดอายุอุทธรณ์แล้ว พิพากษายกอุทธรณ์จำเลยที่ 2 คืนค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้จำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 2 ฎีกาข้อแรกว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2530จำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2531 ภายในกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะรับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และฎีกาในข้อต่อไปว่าคำสั่งศาลชั้นต้น ลงวันที่ 22พฤศจิกายน 2528 ที่อนุญาตตามคำขอของโจทก์ ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง คลาดเคลื่อนจากคำพิพากษาและเป็นการดำเนินการบังคับคดีผิดจากคำพิพากษาชอบที่จะเพิกถอนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาข้อแรกว่า จำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นภายในกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ไว้พิจารณานั้น เห็นว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2528 ว่า หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยที่ 2 ได้แถลงขอคัดหรือถ่ายเอกสารในสำนวนทั้งหมดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2530 ศาลชั้นต้นอนุญาตและจำเลยที่ 2 รับเอกสารที่ขอคัดหรือถ่ายไปในวันเดียวกัน ต่อมาวันที่ 12 พฤศจิกายน 2530ศาลได้อนุญาตให้จำเลยที่ 2 ถ่ายสำนวนความในคดีนี้ทั้งหมดอีกด้วยจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวแล้วอย่างช้าที่สุดภายในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2530 ซึ่งถือได้ว่าเป็นวันที่ได้อ่านคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ฟัง จำเลยที่ 2 ชอบที่จะอุทธรณ์ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันดังกล่าวนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2โต้เถียงว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสองเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2528 เห็นได้ชัดว่าเป็นการอุทธรณ์โต้เถียงคำสั่งดังกล่าวอุทธรณ์ในส่วนนี้จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบเนื่องจากยื่นเกินกำหนด ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2ที่ขอให้กลับคำสั่งของศาลชั้นต้นลงวันที่ 24 ธันวาคม 2530 นั้นเห็นว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวนี้มีใจความสำคัญว่าคำสั่งของศาลชั้นต้น ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2528 ที่ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นการยืนยันตามคำสั่งเดิม เจตนาในการที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ก็เพื่อให้มีการเพิกถอนคำสั่งเดิม เมื่อคำสั่งเดิมนั้นจำเลยที่ 2ไม่อาจอุทธรณ์ขอให้เพิกถอนได้เพราะเหตุยื่นเกินกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ในส่วนที่เป็นการโต้เถียงคำสั่ง ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2530 จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน