แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฎีกาของจำเลยหน้าแรกมีข้อความซึ่งประทับด้วยตรายางของศาลชั้นต้นว่า “ให้มาทราบคำสั่งในวันที่ 24 ตุลาคม 2532 ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว” โดยมีทนายจำเลยลงชื่อไว้ ศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยผู้ยื่นฎีกาจัดการนำส่งสำเนาฎีกาให้อีกฝ่ายหนึ่งภายใน15 วัน แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งในวันรุ่งขึ้นหลังจากจำเลยยื่นฎีกา(วันที่ 20 ตุลาคม 2532) ก็ตาม แต่การที่ทนายจำเลยลงชื่อทราบวันนัดให้มาฟังคำสั่งศาลดังกล่าว เป็นการแสดงเจตนายอมรับผูกพันตนเองว่าจะมาฟังคำสั่งในวันดังกล่าว ถ้าไม่มาก็ให้ถือว่าจำเลยทราบคำสั่งแล้ว ดังนั้นแม้จำเลยจะมิได้มาฟังคำสั่ง ก็ถือว่าคำสั่งศาลนั้นได้ส่งให้จำเลยโดยชอบ และจำเลยทราบคำสั่งนั้นแล้วตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2532 เมื่อจำเลยเพิกเฉยมิได้จัดการนำส่งสำเนาฎีกาภายในกำหนดเวลาที่ศาลสั่ง จึงเป็นการทิ้งฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2).
ย่อยาว
มูลกรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องบังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิด ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทน จำนวน 86,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2532 ฎีกาของจำเลยที่ 2 หน้าแรกมีข้อความซึ่งประทับด้วยตรายางของศาลชั้นต้นว่า”ให้มาทราบคำสั่งในวันที่ 24 ตุลาคม 2532 ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้วโดยมีลายมือชื่อทนายจำเลยที่ 2 ผู้ยื่นฎีกาเซ็นไว้ในระหว่างคำว่า “(ลงชื่อ)” และคำว่า “ผู้ร้องหรือผู้ยื่น” ศาลชั้นต้นสั่งในฎีกาของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2532 ว่า”เสนอวันนี้ รับฎีกา ให้ผู้ฎีกานำส่งสำเนาให้อีกฝ่ายหนึ่งแก้ภายใน15 วัน มิฉะนั้นถือว่าทิ้งฎีกา” ต่อมาวันที่ 18 ธันวาคม 2532เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีมีหนังสือรายงานศาลชั้นต้นว่า พ้นกำหนด15 วันแล้ว จำเลยที่ 2 หรือผู้แทนไม่มาเสียค่าธรรมเนียมในการส่งสำเนาฎีกา ศาลชั้นต้นจึงมีสำนวนมาศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นกำหนดเวลาให้จำเลยที่ 2ซึ่งเป็นโจทก์ในชั้นฎีกาจัดการนำส่งสำเนาฎีกาให้อีกฝ่ายหนึ่งภายใน 15 วัน แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งในวันรุ่งขึ้นหลังจากจำเลยที่ 2ยื่นฎีกา 1 วันก็ตาม การที่ทนายจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อทรายวันนัดให้มาฟังคำสั่งของศาลดังได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 ยอมรับผูกพันตนเองว่า จะมาฟังคำสั่งในวันที่ 24 ตุลาคม 2532 ถ้าไม่มาก็ให้ถือว่าจำเลยที่ 2ทราบคำสั่งแล้ว นอกจากนี้ก็ปรากกว่าศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งดังกล่าวในฎีกาตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2532 ซึ่งเป็นวันก่อนที่จะถึงวันที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 มาทราบคำสั่ง ฉะนั้น แม้จำเลยที่ 2จะมิได้มาฟังคำสั่ง ก็ถือว่าคำสั่งศาลนั้นได้ส่งให้จำเลยที่ 2โดยชอบ และจำเลยที่ 2 ทราบคำสั่งนั้นแล้วตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม2532 ระยะเวลาสิ้นสุดที่จำเลยที่ 2 จะต้องนำส่งสำเนาฎีกาตามคำสั่งศาลชั้นต้น คือวันที่ 8 พฤศจิกายน 2532 แต่ปรากฏตามรายงานเจ้าหน้าที่ฉบับลงวันที่ 18 ธันวาคม 2532 ว่าจำเลยที่ 2 เพิกเฉยมิได้จัดการนำส่งสำเนาฎีกาในกำหนดนั้นจึงเป็นการทิ้งฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 174(2)
ให้จำหน่ายคดีจากสารบบความของศาลฎีกา.