คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2480/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองให้การว่า ได้ ทำการต่อเติมดัด แปลงอาคารในส่วนด้านหลังของอาคารจริง แต่ มิได้ทำเชื่อมปิดคลุมทางเดินด้านหลังอาคารตาม ฟ้องโจทก์จำเลยเข้าใจโดย สุจริตว่าไม่ต้องขออนุญาตจากใคร เนื่องจากได้ต่อเติม อาคารของตนเองในที่ดินของตนเอง และอาคารใกล้เคียงก็ได้ มีการต่อเติม ไว้ก่อนแล้วเช่นกันจำเลยจึงต้องต่อเติม อาคารของตนเองด้วย เพื่อมิให้เกิดความเสียหายโดย จำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธว่า ไม่ได้ต่อเติม อาคารด้านหลังเป็นแนวไปถึง รั้วหลังอาคารทั้งสองด้าน และมุงหลังคากระเบื้องตาม ฟ้อง คำให้การของจำเลยมีผลเท่ากับเป็นการรับว่าได้ กระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 22 และฝ่าฝืนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคารพ.ศ. 2522 ข้อ 76(4) แล้ว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ต่อเติมตึกแถวโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย เจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจพบจึงดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 คดีถึงที่สุดศาลพิพากษาปรับ 1,500 บาท โจทก์มีหนังสือสั่งให้จำเลยที่ 1 ระงับการก่อสร้างและรื้อถอนอาคารส่วนที่ต่อเติม จำเลยทราบคำสั่งแล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง และไม่ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนอาคารตึกแถวส่วนที่ต่อเติม ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ยอมรื้อถอน ให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนได้เองตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 40, 41, 42โดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองต่อเติมโดยสุจริตขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องสืบพยานโจทก์จำเลย จึงให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองได้ต่อเติมอาคารตึกแถวด้านหลังโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้องจริงจำเลยต่อสู้เพียงว่าได้ทำการต่อเติมโดยสุจริต เข้าใจว่าไม่ต้องขออนุญาตตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 22 ห้ามผู้ใดดัดแปลงอาคาร เว้นแต่เจ้าของอาคารจะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ดังนั้น การต่อเติมดัดแปลงอาคารของจำเลยจึงเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมาย อาคารที่จะทำการซ่อมแซมหรือดัดแปลงในแนวอาคาร และระยะที่เกินกว่า 2.00 เมตร นั้น จะต้องเป็นอาคารที่ได้ก่อสร้างมาก่อน พ.ศ. 2522 และจะกระทำได้เพียงซ่อมแซมหรือดัดแปลงเท่านั้น ห้ามต่อเติมหรือขยาย จำเลยทั้งสองได้ต่อเติมและขยายจากอาคารตึกแถวออกมาเป็นห้องน้ำ และห้องครัวในปี พ.ศ. 2524 จึงเป็นการขัดต่อข้อห้ามดังกล่าว และไม่อยู่ในข้อยกเว้น พิพากษาให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนอาคารตึกแถวส่วนที่ต่อเติมดัดแปลงออกจากอาคารตึกแถวเลขที่ 229/26 ซอยทวีวัฒนา ถนนสาธุประดิษฐ์ แขวงช่องนนทรีเขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร ซึ่งปลูกสร้างในที่ดินโฉนดเลขที่ 14242โดยให้มีที่ว่างนับจากแนวเขตด้านหลังถึงตัวอาคารไม่น้อยกว่า 2.00เมตร ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนได้เองตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 42 โดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ได้ความตามคำฟ้องของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองต่อเติมดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยจำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีเพียงว่า จำเลยทั้งสองได้ทำการต่อเติมดัดแปลงอาคารในส่วนด้านหลังของอาคารจริง แต่มิได้ทำเชื่อมปิดคลุมทางเดินด้านหลังอาคารตามฟ้องโจทก์ และให้การต่อไปว่า จำเลยเข้าใจโดยสุจิรตว่าไม่ต้องขออนุญาตจากใคร เนื่องจากได้ต่อเติมอาคารของตนเองในที่ดินของตนเอง และอาคารใกล้เคียงก็ได้มีการต่อเติมไว้ก่อนแล้วเช่นกัน จำเลยจึงต้องต่อเติมอาคารของตนเองด้วยเพื่อมิให้เกิดความเสียหาย คำให้การของจำเลยทั้งสองจึงมีผลเท่ากับยอมรับตามฟ้องว่าได้กระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 22ซึ่งห้ามผู้ใดดัดแปลงอาคาร เว้นแต่เจ้าของอาคารจะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น และยอมรับว่าได้ทำการต่อเติมอาคารในส่วนด้านหลังจริงตามฟ้อง แต่อ้างว่าไม่ได้เชื่อมปิดคลุมทางเดินด้านหลังอาคารเท่านั้น แต่ขณะเดียวกันจำเลยก็ไม่ได้ให้การปฏิเสธว่าไม่ได้ต่อเติมอาคารด้านหลังเป็นแนวไปถึงรั้วหลังอาคารทั้งสองด้านและมุงหลังคากระเบื้องตามฟ้อง จึงเท่ากับจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าวตามฟ้อง อันมีผลเป็นการฝ่าฝืนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 76(4) ซึ่งบัญญัติให้อาคารตึกแถวดังกล่าวของโจทก์ ต้องมีที่ว่างโดยปราศจากสิ่งปกคลุมเป็นทางเดินหลังอาคารได้ถึงกันกว้างไม่น้อยกว่า 2.00 เมตร ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า คำว่า “ทางเดิน” ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครมีเจตนาเพื่อที่จะให้ใช้ทางเดินด้านหลังอาคารเป็นทางเดินสาธารณะซึ่งจำเลยทั้งสองก็ไม่มีเจตนาที่จะใช้ที่ว่างด้านหลังอาคารเป็นทางเดินสาธารณะ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรื้อถอนอาคารตามฟ้องแปลความหมายตามฎีกาของจำเลยทั้งสองได้ว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้ทำการฝ่าฝืนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนั้น ความข้อนี้จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้คดีโจทก์ไว้ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแต่ศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยที่ศาลล่างทั้งสองงดสืบพยานโจทก์จำเลย และพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีชอบแล้ว ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share