แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ระบุการลงโทษทางวินัยแก่พนักงานที่กระทำความผิดฯ ว่า…”(3) ให้พักงานชั่วคราว โดยไม่จ่ายค่าจ้างในระหว่างนั้น” การให้พักงานที่จะเป็นการลงโทษทางวินัยตามระเบียบข้อบังคับดังกล่าว จะต้องเป็นการให้พักงานชั่วคราวโดยไม่จ่ายค่าจ้างในระหว่างนั้น จำเลยให้โจทก์พักงานชั่วคราวเพื่อสอบสวน โดยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ตามปกติ จึงไม่ถือเป็นการลงโทษในความผิดที่โจทก์ได้กระทำไปแล้ว.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2523 จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้าง ต่อมาวันที่ 15 มีนาคม 2533 จำเลยเลิกจ้างโจทก์อ้างว่าโจทก์ก่อเหตุพูดจาก้าวร้าว แสดงกิริยาใช้คำพูดยั่วยุหมิ่นประมาทผู้บังคับบัญชา กับได้เจตนาทำลายทรัพย์สินของโรงเรียนซึ่งไม่เป็นความจริงและจำเลยลงโทษพักงานโจทก์เป็นเวลา 7 วันแล้ว การเลิกจ้างดังวกล่าวเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและคืนเงินสะสม
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ่างโจทก์เนื่องจากโจทก์พูดจาก้าวร้าว หมิ่นประมาทผู้บังคับบัญชา ทำลายทรัพย์ของนายจ้างไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง จึงมิใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์กระทำผิดวินัยตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยในกรณีร้ายแรง ที่จำเลยสั่งพักงานโจทก์เป็นเวลา 7 วันก็เพื่อสอบสวน และจำเลยได้จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ตามปกติ ไม่ถือเป็นการลงโทษ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การกระทำความผิดของโจทก์ที่จำเลยอ้างเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์นั้นจำเลยได้มีคำสั่งลงโทษพักงานโจทก์ไปแล้วแม้จำเลยจะจ่ายค่าจ้างระหว่างพักงานให้แก่โจทก์ ก็ถือว่าเป็นการลงโทษในความผิดที่โจทก์ได้กระทำไปแล้ว การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการลงโทษโจทก์ซ้ำซ้อนในความผิดเดียวกัน ซึ่งจำเลยไม่อาจกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ย่อมต้องถือว่าจำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด และเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชย และชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์นั้นปรากฏว่าระเบียบข้อบังคับของบริษัทดุสิตธานี จำกัด เอกสารหมาย จ.3ข้อ 8 ซึ่งว่าด้วยระเบียบการลงโทษความผิดทางวินัย ได้ระบุไว้ว่า “ในกรณีที่พนักงานกระทำความผิด ทุจริต หรือฝ่าฝืนระเบียบคำสั่ง หรือข้อบังคับของโรงแรมฯ โรงแรมฯ จะถือมาตรการลงโทษซึ่งได้วางไว้เป็นมาตรฐานดังต่อไปนี้มาตรการใดมาตรการหนึ่งก็ได้ โดยพิจารณาความหนักเบาของความผิดทางวินัยของพนักงานแต่ละกรณี
(1) ตักเตือนด้วยวาจา
(2) ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร (ทำทัณฑ์บน)
(3) ให้พักงานชั่วคราว โดยไม่จ่ายค่าจ้างในระหว่างนั้น
(4) เลิกจ้าง (โดยไม่จ่ายค่าชดเชย)”ซึ่งตามระเบียบข้อบังคับดังกล่าวเห็นได้ว่า การให้พักงานที่เป็นการลงโทษทางวินัยแก่พนักงานจะต้องเป็นการให้พักงานชั่วคราวโดยไม่จ่ายค่าจ้างในระหว่างนั้นคดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมาว่า ก่อนที่จำเลยจะเลิกจ้างนั้น จำเลยได้สั่งพักงานโจทก์เป็นเวลา 7 วัน เพื่อการสอบสวน และจำเลยได้จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ตามปกติ การที่จำเลยสั่งให้โจทก์พักงานในกรณีดังกล่าวจึงไม่ถือว่าเป็นการลงโทษในความผิดที่โจทก์ได้กระทำไปแล้ว และการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นการลงโทษซ้ำซ้อนในความผิดเดียวกัน
พิพากษายืน.