แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรมกองต่างๆ ซึ่งสังกัดในกระทรวง แม้จะมีการแบ่งแยกงานเป็นสัดส่วนก็ถือว่าเป็นการงานของกรมนั้นๆ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนขับรถยนต์ในราชการของกรมไปรษณีย์โทรเลขจำเลยที่ 2 แม้ในวันเกิดเหตุจะเป็นวันอาทิตย์หยุดราชการก็ตาม หากปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้นำเอารถยนต์ซึ่งได้รับอนุญาตให้ยืมไปแล้ว ถือได้ว่าเป็นการกระทำในทางการที่จ้าง เมื่อมีการละเมิดเกิดขึ้น จำเลยที่ 2 ก็ต้องรับผิดชอบ
เมื่อโจทก์มีอายุบรรลุนิติภาวะและมีสามีแล้วและไม่ได้ความว่าเป็นผู้ทุพพลภาพ หาเลี้ยงตนเองมิได้ ก็ไม่อยู่ในอำนาจที่ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ได้ค่าสินไหมทดแทนในฐานะต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรนางทองเจือ นิลพัทธ์ และอยู่บ้านเดียวกัน จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 ในหน้าที่พนักงานขับรถยนต์ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2497 จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์เลขทะเบียน ก.ท. 4843 ของจำเลยที่ 2 ไปรับข้าราชการกรมไปรษณีย์โทรเลขที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ขณะขับขึ้นสะพานผ่านฟ้าจำเลยที่ 1 ได้ขับด้วยความประมาทและด้วยความเร็วสูงแซงขึ้นหน้ารถจักรยานสามล้อโดยปราศจากความระมัดระวัง เป็นเหตุให้รถยนต์ชนนางทองเจือมารดาตาย และชนเด็กหญิงสุมนา เตวิทย์ บาดเจ็บสาหัสการขับรถยนต์ของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ๆ จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 การตายของนางทองเจือทำให้โจทก์ขาดไร้อุปการะและขาดที่รักเคารพในฐานะที่มารดาและบุตรจะพึงมีต่อกัน และโจทก์ต้องจัดการปลงศพและทำบุญตามประเพณี จึงขอเรียกค่าปลงศพ 50,000 บาท ค่าทำบุญตามประเพณี 20,000 บาท ค่าที่โจทก์ขาดไร้อุปการะและขาดที่รักเคารพที่พึงมีต่อกัน 30,000 บาท
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การและเพิ่มเติมคำให้การว่า นางทองเจือผู้ตายมีบุตรหลายคน ไม่ทราบว่าโจทก์จะเป็นบุตรจริงหรือไม่ นายศิริสอนประดิษฐ์ จำเลยที่ 1 เป็นคนขับรถยนต์ของกรมไปรษณีย์โทรเลขจริง สังกัดกองพัสดุ รถยนต์ ก.ท. 4843 เป็นของกองโรงงาน กรมไปรษณีย์ ซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่ราชการต้องขับ ทั้งวันที่ 21 พฤศจิกายน 2497 ตรงกับวันอาทิตย์เป็นวันหยุดราชการจำเลยที่ 1นำรถของกองโรงงานไปใช้ โดยปราศจากอำนาจและมิใช่กระทำไปในทางการที่ราชการว่าจ้าง จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด เดิมนางทองเจือ(ผู้ตาย) มีอาชีพเป็นลูกจ้าง ต่อมาไม่ได้มีอาชีพอย่างใด จึงไม่มีหน้าที่และไม่สามารถจะให้ความอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิจะเรียกค่าเสียหาย ค่าที่ต้องขาดไร้อุปการะ ค่าทำบุญศพก็ไม่ใช่ค่าสินไหมที่กฎหมายให้เรียกได้ ค่าเสียหายที่เรียกร้องก็ห่างไกลต่อความเป็นจริงเกินไป
ระหว่างพิจารณา นายศิริจำเลยที่ 1 แถลงว่า คดีอาญาที่ถูกฟ้องถึงที่สุดแล้ว โดยศาลฝ่ายอาญาพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดพิพากษาลงโทษจำคุก 5 ปี (คดีแดงศาลอาญาที่ 960/2498) จำเลยที่ 1 ยอมรับตามฟ้องโจทก์ ไม่คัดค้านเรื่องค่าเสียหายอย่างใด ฝ่ายจำเลยที่ 2 แถลงว่า ในข้อเท็จจริงเรื่องละเมิดยอมถือตามข้อเท็จจริงในคดีอาญาที่จำเลยที่ 1 ถูกฟ้อง ยังต่อสู้ว่า 1. จำเลยที่ 1ไม่ได้ทำการในทางการที่จ้างในเวลาเกิดเหตุละเมิด 2. โจทก์ไม่ได้เสียหายตามฟ้อง
ศาลแพ่งวินิจฉัยว่า วันเกิดเหตุนายดิถี ศิริวาร หัวหน้าแผนกจำหน่ายกองพัสดุ ได้นำรถคันที่เกิดเหตุไปต้อนรับหัวหน้ากองพัสดุ(นายประสิทธิ์ สุระสิทธิ์) ซึ่งกลับจากไปราชการต่างประเทศที่สนามบินดอนเมือง ตอนขากลับได้เกิดเหตุเรื่องนี้โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับและเป็นคนขับรถของจำเลยที่ 2 รถคันเกิดเหตุเป็นรถของกองโรงงานซึ่งนายดิถีได้ยืมต่อหัวหน้าแผนกพาหนะ กองโรงงานซึ่งเป็นผู้มีอำนาจให้นำรถออกใช้ได้ เห็นว่ากองโรงงานและกองพัสดุต่างก็เป็นหน่วยราชการของจำเลยที่ 2 ผู้ที่ให้รถไปใช้และผู้ที่นำรถไปใช้ต่างก็เป็นคนของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ก็เป็นคนขับรถของจำเลยที่ 2 พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 และหัวหน้าแผนกต่าง ๆจัดทำไปนั้นเป็นการกระทำที่ชอบและอยู่ในกรอบแห่งทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นการนอกเหนือหน้าที่ แม้วันเกิดเหตุจะตรงกับวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุดราชการก็ไม่สำคัญ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิด และเฉพาะจำเลยที่ 1 รับตามฟ้องทั้งไม่ค้านค่าเสียหายจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดตามที่รับและที่ฟ้อง แต่คำรับของจำเลยที่ 1 ย่อมไม่ผูกมัดจำเลยที่ 2
ค่าทำศพเพียงแต่โจทก์มอบเงินให้น้องชายไปจัดการกะให้ 5,000 บาท ค่าจะเผาศพตามฐานะของโจทก์กับผู้ตายเห็นควรให้ 5,000 บาท ค่าอุปการะของผู้ตายอันมีต่อโจทก์ 20,000 บาท รวมเป็น 30,000 บาทซึ่งเห็นควรให้จำเลยที่ 2 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1
จึงพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ 100,000 บาทในจำนวนนี้ให้จำเลยที่ 2 รับผิดร่วมด้วย 30,000 บาท ให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนาย 1,000 บาทแทนโจทก์
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 2 รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนร่วมกับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 10,000 บาท นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าธรรมเนียมฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ให้เป็นพับ ค่าธรรมเนียมฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ให้โจทก์กับจำเลยที่ 2 แบ่งกันเสียฝ่ายละครึ่ง ค่าทนายชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กองพัสดุก็ดี กองโรงงานก็ดี ต่างสังกัดกรมไปรษณีย์โทรเลขผู้เป็นจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จะอ้างว่ากิจการของกองพัสดุและกองโรงงานไม่ใช่การงานของจำเลยที่ 2 หาได้ไม่
นายศิริจำเลยที่ 1 เป็นคนขับรถยนต์ในราชการของกรมไปรษณีย์โทรเลข จำเลยที่ 2 ในวันเกิดเหตุแม้จะเป็นวันอาทิตย์หยุดราชการแต่ก็ปรากฏว่าวันนั้นเป็นวันที่นายประสิทธิ์ สุระสิทธิ์ หัวหน้ากองพัสดุ กรมไปรษณีย์โทรเลข กลับจากไปราชการต่างประเทศในราชการของจำเลยที่ 2 นายดิถี หัวหน้าแผนกจำหน่าย กองพัสดุ ได้ยืมรถยนต์จากหัวหน้าแผนกพาหนะ กองโรงงาน ในราชการของกรมไปรษณีย์โทรเลขจำเลยที่ 2เพื่อไปรับนายประสิทธิ์ เมื่อได้รับอนุญาตแล้วนายดิถีได้สั่งให้นายสนิท หัวหน้าแผนกยานพาหนะ สั่งให้นายศิริ จำเลยที่ 1 เอารถยนต์คันที่เกิดเหตุไปรับนายประสิทธิ์ โดยนายดิถีได้ร่วมไปกับรถที่จำเลยที่ 1 ได้ขับไปด้วย และนอกจากนี้ยังปรากฏอีกว่าสำหรับกองพัสดุ หัวหน้ากอง หัวหน้าแผนกจำหน่าย มีอำนาจสั่งรถไปใช้ราชการได้และยังผ่อนผันให้ใช้ในทางส่วนตัวได้ในบางกรณีเกี่ยวกับสวัสดิการ เช่น บวชนาค ทำศพ แต่งงาน จึงฟังได้ว่าการที่จำเลยที่ 1 พร้อมด้วยข้าราชการผู้อื่นในกรมไปรษณีย์โทรเลขเอารถไปรับนายประสิทธิ์ ซึ่งกลับจากราชการต่างประเทศจึงเป็นไปในทางการที่จ้าง จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425
ปรากฏว่าโจทก์มีอายุบรรลุนิติภาวะและมีสามีแล้ว ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคสาม และ มาตรา 1536 วรรคสอง นั้น ผู้เป็นมารดาจะต้องอุปการะเลี้ยงดูแต่เฉพาะผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้เท่านั้นทางพิจารณาไม่ได้ความว่าโจทก์ผู้เป็นบุตรทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้กลับได้ความว่าก่อนตาย นางทองเจือผู้เป็นมารดาโจทก์ได้อยู่กินกับโจทก์จึงไม่อยู่ในอำนาจที่ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ได้ค่าสินไหมทดแทนในฐานะต้องขาดไร้อุปการะได้ตามกฎหมาย จึงพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับไป