แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า แถบบันทึกภาพของโจทก์ร่วมตามฟ้องเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายเมืองฮ่องกงซึ่งเป็นประเทศที่เป็นภาคี แห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี อยู่ด้วย และกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ของเมืองฮ่องกงได้ให้ความคุ้มครองแก่แถบบันทึกภาพนี้เช่นเดียวกัน ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศพ.ศ. 2526 แต่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้องเลยว่ากฎหมายของเมืองฮ่องกงได้ให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกันแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของภาคี อื่น ๆแห่งอนุสัญญาดังกล่าว ถ้อยคำที่โจทก์บรรยายในฟ้องว่า “…และกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ของประเทศฮ่องกงได้ให้ความคุ้มครองแก่แถบบันทึกภาพเช่นเดียวกัน ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ พ.ศ. 2526″นั้นก็ไม่อาจจะให้แปลไปได้ว่า กฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ของฮ่องกงได้ให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกันแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของภาคี อื่น ๆแห่งอนุสัญญา ฉะนั้น ฟ้องโจทก์จึงขาดความสำคัญที่จะแสดงให้เห็นว่าแถบบันทึกภาพตามฟ้องมีสิทธิ์ ที่จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่จำเป็นสำหรับการฟ้องคดีอาญาในกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์เกี่ยวด้วยงานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายต่างประเทศฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2527 เวลากลางวันจำเลยได้นำแถบบันทึกภาพซึ่งเป็นโสตทัศนวัสดุของภาพยนตร์เรื่อง”ถล่มจอมโหดอินทรีย์เงิน” และเรื่อง “อินทรีย์เดี่ยวถล่มจิ้งจอกเงิน” ซึ่งมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “THE SHAOLIN DRUNKMONKEY” และ “EAGLE VS SILVER FOX” ตามลำดับ ออกให้เช่าและเสนอให้เช่าแก่ประชาชนทั่วไป โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าแถบบันทึกภาพดังกล่าวเป็นงานที่ได้มีผู้อื่นทำขึ้นในประเทศไทยโดยละเมิดสิทธิ์ของบริษัทกัมโปรดักชั่นสตูดิโอ จำกัด และบริษัทฟิลมาร์คอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด แห่งประเทศฮ่องกง ซึ่งเป็นประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย และผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ดังกล่าวได้โฆษณาขายและให้เช่าแถบบันทึกภาพดังกล่าวเป็นครั้งแรกในประเทศไทยก่อนมีการละเมิดลิขสิทธิ์ในคดีนี้แล้ว และกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ของประเทศฮ่องกงได้ให้ความคุ้มครองแก่แถบบันทึกภาพนี้เช่นเดียวกันตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศพ.ศ. 2526 เหตุเกิดที่แขวงมักกะสัน เขตพญาไท กรุงเทพมหานครเจ้าพนักงานจับจำเลยได้และยึดแถบบันทึกภาพทั้งสองม้วนเป็นของกลางขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 27, 42,44, 47 พระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ พ.ศ. 2526 คืนของกลางแก่เจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยให้การปฏิเสธ และให้การว่าบริษัทฟิลมาร์คอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัทกัมโปรดักชั่นสตูดิโอ จำกัดมิได้มีลิขสิทธิ์ในโสตทัศนวัสดุที่พิพาท และไม่ใช่ผู้เสียหาย
บริษัทฟิลมารค์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัทกัมโปรดักชั่นสตูดิโอ จำกัด ผู้เสียหายขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 27, 42, 44 พระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ พ.ศ. 2526ปรับ 40,000 บาท คืนของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่า ฟ้องของโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 หรือไม่เห็นว่า พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 42 บัญญัติว่า”งานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย และกฎหมายของประเทศนั้นได้ให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกันแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของภาคีอื่น ๆ แห่งอนุสัญญาดังกล่าว ฯลฯ ย่อมได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา” โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่าแถบบันทึกภาพของโจทก์ร่วมตามฟ้องเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายเมืองฮ่องกงซึ่งเป็นประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย และกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ของเมืองฮ่องกงได้ให้ความคุ้มครองแก่แถบบันทึกภาพนี้เช่นเดียวกันตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศพ.ศ. 2526 แต่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้องเลขว่ากฎหมายของเมืองฮ่องกงได้ให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกันแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของภาคีอื่น ๆแห่งอนุสัญญาดังกล่าว ถ้อยคำที่โจทก์บรรยายในคำฟ้องว่า “…และกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ของประเทศฮ่องกงได้ให้ความคุ้มครองแก่แถบบันทึกภาพนี้เช่นเดียวกัน ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ พ.ศ. 2526″ นั้น ก็ไม่อาจจะให้แปลไปได้ว่า กฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ของฮ่องกงได้ให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกันแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของภาคีอื่น ๆ แห่งอนุสัญญาฉะนั้น ฟ้องโจทก์จึงขาดข้อความสำคัญที่จะแสดงให้เห็นว่าแถบบันทึกภาพตามฟ้องมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 42แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่จำเป็นสำหรับการฟ้องคดีอาญาในกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์เกี่ยวด้วยงานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายต่างประเทศ ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 เมื่อฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่มิชอบด้วยกฎหมายแล้วก็ต้องยกฟ้อง และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์อีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์มานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน คืนของกลางแก่เจ้าของ.