คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2340/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นนิติบุคคล ระหว่างเกิดเหตุมี ม.เป็นอธิบดี ม.จึงเป็นผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์แต่เพียงผู้เดียว การที่เจ้าหน้าที่ระดับล่างของโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน จะถือว่าโจทก์ทราบไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่ดังกล่าวไม่ใช่ผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์ เมื่อ ม. อธิบดีกรมทางหลวงรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2527 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2527ฟ้องของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเป็นเจ้าของผู้ครอบครองดูแลรักษาทางหลวงที่เกิดเหตุคดีนี้ รวมทั้งหลักกันโค้งและเสาไฟฟ้าที่อยู่ริมหรือต่อเนื่องกับทางหลวง จำเลยได้ขับรถยนต์ชนหลักกันโค้งแตกหัก 1 อัน คิดเป็นเงิน 250 บาทค่าดวงโคมไฟ 1 ชุด คิดเป็นเงิน 6,910 บาท อุปกรณ์แผงสวิตซ์และค่าแรงติดตั้งคิดเป็นเงิน 1,000 บาท รวมความเสียหายเป็นเงิน8,160 บาท โจทก์ทราบการละเมิดของจำเลยเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2527โจทก์เคยทวงถามแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้จำเลยชำระเงินค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 8,160 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2526 จนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยให้การว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 8,160 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2526 จนกว่าจะชำระเสร็จกับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ400 บาท จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2526 จำเลยได้ขับรถยนต์ชนหลักกันโค้งและเสาไฟฟ้าของโจทก์เสียหาย เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2526 นายวิเชียร เทียนดำนายช่างโยธาแขวงการทางกรุงเทพได้มีหนังสือให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ จำเลยไม่ชำระ ต่อมาวันที่ 29 พฤษภาคม 2527นายนิคม ขจรศรีเดช นิติกร 7 ได้ทำบันทึกเสนอรองอธิบดีกรมทางหลวงและรองอธิบดีกรมทางหลวงได้บันทึกต่อท้ายเสนอให้นายมนัส คอวนิชอธิบดีกรมทางหลวงทราบในวันเดียวกัน ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.10คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาเพียงเรื่องอายุความซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายเท่านั้น ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยทำละเมิดเมื่อวันที่4 มิถุนายน 2526 นายวิเชียร เทียนดำ นายช่างโยธาแขวงการทางกรุงเทพเจ้าหน้าที่ของโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคล รู้ถึงการละเมิดและรู้ว่าจำเลยเป็นผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม2526 ถือว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันดังกล่าว โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่19 กันยายน 2527 ซึ่งเป็นเวลาเกินกว่าหนึ่งปี คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 นั้นศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคล ระหว่างเกิดเหตุมีนายมนัสคอวนิช เป็นอธิบดี นายมนัสจึงเป็นผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์แต่เพียงผู้เดียว การที่เจ้าหน้าที่ระดับล่างของโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนจะถือว่าโจทก์ทราบด้วยไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่ดังกล่าวไม่ใช่ผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์ ดังนั้นเมื่อนายมนัสอธิบดีกรมทางหลวงรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม2527 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2527 ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448ที่จำเลยอ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 2602/2525 ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โจทก์ นายสำราญ พฤษพานิช จำเลย มานั้น เป็นคนละเรื่องกับคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share