คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3512/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางเป็นเครื่องมือในการติดต่อรับมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเพื่อให้มาอยู่ในความครอบครองของจำเลยก่อน แล้วจึงนำเข้ามาในประเทศไทยเพื่อจำหน่าย ดังนี้ โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางจึงเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ หรือวัตถุอื่นใดซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานร่วมกันนำเมทแอมเฟตามีนของกลางเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายตามที่โจทก์ฟ้องโดยตรง อันพึงต้องริบตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 65, 66, 100/1, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83 ริบเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 65 วรรคสอง, 66 วรรคสาม, 102 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานนำเข้าเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ลงโทษประหารชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2) คงลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง แต่คืนโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางแก่เจ้าของ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2) ให้จำคุก 50 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุในฟ้อง เจ้าพนักงานศุลกากรประจำด่านพรมแดนแม่สาย จังหวัดเชียงราย ตรวจค้นจำเลยซึ่งเดินมาจากอำเภอท่าขี้เหล็ก สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเข้าในช่องผู้เดินทางเข้าด่านพรมแดนแม่สาย พบเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดใส 1 ถุง น้ำหนัก 49.473 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 47.410 กรัม ซุกซ่อนไว้ในทวารหนักและโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง จึงนำตัวจำเลยพร้อมของกลางส่งร้อยตำรวจเอกกัมปนาท พนักงานสอบสวน โดยการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานร่วมกันนำเข้าเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่ายและมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ หรือวัตถุอื่นที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษหรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่า เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง ที่จำเลยกับพวกใช้เป็นเครื่องมือติดต่อสื่อสารในการกระทำความผิดฐานร่วมกันนำเข้าเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่ายและมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นของกลาง โดยได้ความจากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบประกอบคำรับสารภาพของจำเลยว่า จำเลยถูกตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางขณะที่เดินมาจากอำเภอท่าขี้เหล็ก สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เข้ามาตามช่องผู้เดินทางเข้าด่านพรมแดนแม่สาย ซึ่งจำเลยให้การในชั้นสอบสวนตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาว่า จำเลยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางในการติดต่อนัดหมายกับนายชาลี ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างเกี่ยวกับวิธีการไปรับยาเสพติดให้โทษของกลางและเมื่อเดินทางข้ามพรมแดนไปยังสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาแล้ว จำเลยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางติดต่อกับนายอาหมี่เพื่อรับยาเสพติดให้โทษของกลาง จากนั้นซุกซ่อนในรูทวารหนักนำกลับมาในประเทศไทย โดยจำเลยยังได้ชี้ข้อมูลในการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางติดต่อกับนายชาลีและนายอาหมี่ให้พนักงานสอบสวนถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐานด้วย พยานหลักฐานของโจทก์จึงรับฟังว่า จำเลยได้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง เป็นเครื่องมือในการติดต่อรับมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เพื่อให้มาอยู่ในความครอบครองของจำเลยก่อน แล้วจึงนำเข้ามาในประเทศไทยเพื่อจำหน่าย ดังนี้ โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางจึงเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ หรือวัตถุอื่นใดซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานร่วมกันนำเมทแอมเฟตามีนของกลางเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายตามที่โจทก์ฟ้องโดยตรง อันพึงต้องริบตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาไม่ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share