คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2127/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้เสียหายเป็นผู้ก่อเหตุร้ายขึ้นโดย ตบ หน้าจำเลยก่อน จำเลยไม่ได้สมัครใจต่อสู้ วิวาททำร้ายร่างกายกับผู้เสียหายด้วย การที่จำเลยเข้ากอดปล้ำตบ ตี ผู้เสียหายเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้ รับบาดเจ็บนั้น ย่อมถือ ได้ ว่าการกระทำของจำเลยพอสมควรแก่เหตุเป็นการป้องกันโดย ชอบด้วย กฎหมายตาม ป.อ. มาตรา 68.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295, 372, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 372, 391, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4ความผิดตามมาตรา 372 ปรับ 500 บาท ความผิดตามมาตรา 391 จำคุก1 เดือน ปรับ 1,000 บาท รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 1 เดือน ปรับ1,500 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน และผู้เสียหายมีส่วนก่อเหตุคดีนี้ด้วย เห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด2 ปี หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ในชั้นนี้เพียงว่า จำเลยใช้กำลังทำร้ายนางเจริญศรีหรือเล็ก วรรณะผู้เสียหาย โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 หรือไม่จำเลยนำสืบต่อสู้ว่า ผู้เสียหายตบหน้าจำเลยก่อนหลายครั้งใช้มือกระชากสร้อยคอทองคำของจำเลยขาดตกลงที่พื้นดิน แล้วเข้ามากระชากเสื้อและตบตีจำเลยอีก จำเลยสู้ไม่ได้จึงเข้ากอดปล้ำผู้เสียหายจำเลยกับผู้เสียหายล้มลงด้วยกันการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันเห็นว่า ผู้เสียหายเบิกความตอนหนึ่งว่า จำเลยพูดโต้ตอบคำของผู้เสียหายที่สอบถามจำเลยว่าทำไมไปพูดว่าผู้เสียหายได้เสียกับคนนั้น คนนี้ โดยจำเลยพูดสวนว่า ก็มันจริงไหม และจำเลยให้ผู้เสียหายไปหาพยานมายืนยันว่าจำเลยเป็นคนพูดดังกล่าว อันจะฟังว่าจำเลยท้าทายชวนผู้เสียหายให้ทะเลาะวิวาทดังที่โจทก์ฎีกานั้นปรากฏว่าขณะเกิดเหตุนายสมัคร ตะติยะ และเด็กหญิงละเอียด อินโตพยานโจทก์เห็นเหตุการณ์ใกล้ชิด แต่พยานดังกล่าวก็หาได้ยินจำเลยพูดโต้ตอบผู้เสียหายด้วยคำพูดดังกล่าวแต่อย่างใดไม่ โดยนายสมัครและเด็กหญิงละเอียดเบิกความเจือสมคำพยานจำเลยว่า ขณะเกิดเหตุนายสมัครซ่อมรถจักรยานยนต์อยู่หน้าบ้านนางบุญมา ตะติยะ จำเลยขี่รถจักรยานยนต์สองล้อมาที่บ้านนางบุญมา ผู้เสียหายเข้าไปสอบถามจำเลย หาว่าจำเลยนินทาผู้เสียหาย จำเลยตอบว่า ไม่ได้พูด แล้วผู้เสียหายตบหน้าจำเลย หลังจากนั้นจำเลยกับผู้เสียหายกอดปล้ำกันเป็นเวลาไม่ถึง 5 นาที จึงได้เลิก เด็กหญิงละเอียดก็เบิกความในทำนองเดียวกันว่า จำเลยไม่ได้พูดโต้ตอบคำพูดของผู้เสียหายผู้เสียหายตบหน้าจำเลยก่อน จำเลยไม่ได้ต่อสู้ ฉะนั้น เมื่อผู้เสียหายและพยานโจทก์ดังกล่าวเบิกความแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญเช่นนี้ คำเบิกความของผู้เสียหายจึงมีน้ำหนักน้อย หลังเกิดเหตุจำเลยได้ไปแจ้งความต่อร้อยตำรวจเอกทิพย์ คงเผ่าพงษ์พนักงานสอบสวนทันทีว่า ถูกผู้เสียหายทำร้ายร่างกายได้รับบาดเจ็บจำเลยมีนายวิเชียร แซ่ตัน และนางรัตนา นุตตะโยธิน เป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า ผู้เสียหาย ตบหน้าจำเลยก่อนหลายครั้งแล้วกระชากสร้อยคอทองคำของจำเลยขาดตกลงที่พื้นดิน จำเลยก้มลงจะเก็บสร้อยคอ ผู้เสียหายเข้ามาตบตีจำเลยซ้ำอีก จำเลยสู้ไม่ได้จึงเข้ากอดปล้ำผู้เสียหาย แล้วจำเลยกับผู้เสียหายล้มลงไปที่พื้นดินด้วยกัน พยานจำเลยดังกล่าวไม่ได้เป็นญาติเกี่ยวข้องกับจำเลยไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้เสียหายไม่มีเหตุระแวงว่าจะเบิกความช่วยเหลือจำเลย เชื่อว่าพยานเบิกความไปตามความจริงที่รู้เห็นศาลฎีกาเห็นว่า ผู้เสียหายเป็นผู้ก่อเหตุร้ายขึ้นโดยตบหน้าจำเลยก่อน จำเลยไม่ได้สมัครใจต่อสู้วิวาททำร้ายร่างกายกับผู้เสียหายด้วยการที่จำเลยเข้ากอดปล้ำตบตีผู้เสียหาย อันเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บนั้น ย่อมถือได้ว่าการกระทำของจำเลยพอสมควรแก่เหตุ เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 จำเลยไม่มีความผิด…”
พิพากษายืน.

Share