แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตาม ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46ที่แก้ไขใหม่ระบุว่า การเลิกจ้างที่ นายจ้าง จะต้อง จ่ายค่าชดเชยให้แก่ ลูกจ้างซึ่ง เลิกจ้าง หมายถึง การที่ นายจ้าง ให้ลูกจ้างออกจากงานปลดออก หรือไล่ออกจากงาน โดย ที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดตามข้อ 47 แห่งประกาศดังกล่าว โดย มิได้มีข้อยกเว้นว่าการให้ออกจากงานเนื่องจากหย่อนสมรรถภาพในการทำงาน มีผลงานต่ำ กว่ามาตรฐาน มีวันลามาก ไม่ใช่เป็นการเลิกจ้าง ดังนั้น การที่จำเลยซึ่ง เป็นนายจ้างเลิกจ้างสามีโจทก์เพราะเหตุหย่อนสมรรถภาพในการทำงาน มีผลงานต่ำ กว่ามาตรฐาน และลาหยุดงานมากนั้น จึงเป็นการเลิกจ้างตาม ประกาศข้างต้นแล้ว จำเลยต้อง จ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้าง.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้จ้างสามีโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำแล้วได้เลิกจ้าง โดยไม่จ่ายค่าชดเชย สามีโจทก์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วันเป็นเงิน 38,640 บาท แต่เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2532 สามีโจทก์ได้ถึงแก่ความตาย ขอให้พิพากษาบังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย จำนวน 38,640 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยให้สามีโจทก์ออกจากงานเพราะเหตุที่สามีโจทก์หย่อนสมรรถภาพในการทำงานและมีผลงานต่ำกว่ามาตรฐานเนื่องจากป่วยเป็นโรคมะเร็งในหลอดอาหารและได้ลาป่วยเป็นเวลา 46 วันครึ่งลากิจ 10 วันครึ่ง ถือว่าสามีโจทก์พ้นจากตำแหน่งตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518มาตรา 9 และมาตรา 11 ที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นการให้ออกจากงานตามระเบียบองค์การแบตเตอรี่ว่าด้วยหลักเกณฑ์การพิจารณาความดีความชอบของพนักงานประจำปี พ.ศ. 2524 ข้อ 8.4 และถือว่าสามีโจทก์ออกจากงานเพราะกระทำความผิดตามข้อ 47 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานไม่ใช่เป็นการเลิกจ้าง โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดพิจารณา โจทก์จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่าจำนวนเงินค่าชดเชยตามฟ้องถูกต้อง จำเลยให้สามีโจทก์ออกจากงานเพราะเหตุที่สามีโจทก์ป่วยเป็นโรคมะเร็งในหลอดอาหาร หย่อนสมรรถภาพปฏิบัติงานไม่ได้ผลตามมาตรฐาน และลาป่วยลากิจรวมกันเกินกว่า 45 วัน ซึ่งจำเลยมีอำนาจให้ออกจากงานได้ตามสำเนาระเบียบของจำเลย เอกสารท้ายคำให้การจำเลยข้อ 8.4 และข้อ 8.6 และโจทก์จำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 38,640 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 7กรกฎาคม 2533 (ที่ถูกเป็น พ.ศ. 2532) จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ว่า การที่จำเลยให้สามีโจทก์ออกจากงานเพราะสามีโจทก์หย่อนสมรรถภาพในการทำงานมีผลงานต่ำกว่ามาตรฐาน ลาป่วย ลากิจ รวมกันถึง 57 วัน ภายในเวลา3 เดือน ไม่เป็นการเลิกจ้าง แต่เป็นการให้ออกจากงานเพราะได้กระทำผิดระเบียบข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยหลักเกณฑ์การพิจารณาความดีความชอบของพนักงานประจำปี พ.ศ. 2524 ข้อ 8.4 จึงเป็นการพ้นจากตำแหน่งตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9 และมาตรา 11 ที่แก้ไขใหม่ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าชดเชย พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 ที่แก้ไขใหม่ระบุว่าการเลิกจ้างที่นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างหมายถึงการที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงาน ปลดออกจากงานหรือไล่ออกจากงานโดยที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดตามข้อ 47 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าว ซึ่งมิได้มีข้อความระบุยกเว้นไว้ว่าการออกจากงาน เนื่องจากหย่อนสมรรถภาพในการทำงาน มีผลงานต่ำกว่ามาตรฐานหรือมีวันลาป่วย ลากิจเป็นเวลาเท่านั้นเท่านี้ วันไม่ใช่เป็นการเลิกจ้าง และการที่จำเลยเลิกจ้างสามีโจทก์ เนื่องจากเหตุดังกล่าวเห็นได้ว่ามิใช่เป็นการเลิกจ้าง ในกรณีที่สามีโจทก์กระทำความผิดตามข้อ 47 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ดังนั้น การที่จำเลยให้สามีโจทก์ออกจากงานด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 ที่แก้ไขใหม่ ซึ่งจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างศาลแรงงานกลางวินิจฉัยปัญหานี้ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.