คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3143/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2519 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดินและอาคารจากบริษัท ส. ในราคา 36,000,000 บาท ชำระราคาครบถ้วนแล้วและโจทก์ได้ลงบัญชีที่ดินและอาคารดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของโจทก์ ต่อมาบริษัท ส. ผิดสัญญาไม่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ จึงตกลงใช้ค่าปรับให้โจทก์เป็นเงิน 15,000,000 บาท โดยจะชำระให้เสร็จภายใน 5 ปี และโจทก์ได้ลงบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกันว่าบริษัท ส. เป็นลูกหนี้โจทก์ในเงินค่าปรับจำนวนดังกล่าวนอกจากนี้ยังได้หมายเหตุไว้ในงบกำไรขาดทุนและขาดทุนสะสมของรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกันว่าโจทก์จะได้รับชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวจากบริษัท ส.ภายใน5ปีและบริษัทส. ก็หมายเหตุไว้ในงบกำไรขาดทุนของตนว่า บริษัทจะชำระค่าปรับจำนวนดังกล่าวให้โจทก์ภายใน 5 ปี ดังนั้น การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ว่าโจทก์มีเงินได้เป็นค่าปรับจากบริษัท ส. จำนวน 15,000,000 บาทในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2519 นั้น จึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ซึ่งใช้ระบบบัญชีเกณฑ์สิทธิ์มีหน้าที่ต้องนำค่าปรับดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยมาคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เพราะไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยให้การว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ว่า โจทก์มีเงินได้เป็นค่าปรับจากบริษัทแสนการลงทุน จำกัดจำนวน 15,000,000 บาท ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2519 นั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์เป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์อยู่ภายใต้การควบคุมของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2519 โจทก์ได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินและอาคารเอ็ม.เอ.เอฟ. จากบริษัทแสนการลงทุน จำกัด ในราคา36,000,000 บาท โจทก์ได้ชำระราคาให้แก่บริษัทแสนการลงทุน จำกัดครบถ้วนแล้ว โจทก์ลงบัญชีที่ดินพร้อมอาคารดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของโจทก์ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 48 แต่ยังไม่มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารที่ทำสัญญาซื้อขายกัน โจทก์ได้ลงงบกำไรขาดทุนและขาดทุนสะสมตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 33 ตรงหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 3 ว่า โจทก์จะได้รับชดใช้เงินอันเนื่องจากสัญญาจะซื้อขายที่ดินและอาคาร เอ็ม.เอ.เอฟ. จำนวน 15,000,000 บาทโดยจะได้รับเงินครบภายใน 5 ปี และบริษัทแสนการลงทุน จำกัดลงบัญชีกำไรขาดทุนตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 102 ตรงหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 4 ว่า บริษัทแสนการลงทุน จำกัด ตกลงให้ค่าปรับแก่โจทก์อันเนื่องจากผิดสัญญาจะซื้อขายที่ดินและอาคารเอ็ม.เอ.เอฟ. จำนวน 15,000,000 บาท โดยจะชำระให้เสร็จภายในกำหนด 5 ปี เรื่องนี้กรรมการบริหารของโจทก์ได้สนทนากับเจ้าหน้าที่ตรวจสอบของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 9 ว่า กรณีบริษัทแสนการลงทุน จำกัด ไม่สามารถโอนอาคาร เอ็ม.เอ.เอฟ. ให้แก่โจทก์ได้บริษัทจะต้องใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ 15,000,000 บาท และดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าว 1,500,000 บาท และต่อมาธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีหนังสือถึงโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.4 แผ่นที่ 40และ 41 ให้โจทก์เร่งรัดเรียกเก็บเงินค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยรวม 16,500,000 ล้านบาท จากบริษัทแสนการลงทุน จำกัด ที่ไม่สามารถโอนอาคารเอ็ม.เอ.เอฟ พร้อมที่ดินให้โจทก์ได้ และโจทก์ได้ลงบัญชีตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 28 ว่า บริษัทแสนการลงทุน จำกัดเป็นลูกหนี้ 15,000,000 บาท พิเคราะห์แล้ว จากหลักฐานการลงบัญชีของโจทก์ผู้ซื้อและของบริษัทแสนการลงทุน จำกัด ผู้ขาย ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2519 ได้เนื้อความตรงกันว่า บริษัทแสนการลงทุน จำกัดผู้ขายที่ดินและอาคารเอ็ม.เอ.เอฟ. ผิดสัญญาต่อโจทก์ ต้องชำระค่าปรับซึ่งเป็นค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 15,000,000 บาท ภายในกำหนด 5 ปี ข้อที่โจทก์อ้างว่าการลงบัญชีดังกล่าวผิดพลาดเพราะเจ้าหน้าที่ของโจทก์เข้าใจผิดนั้น โจทก์มีแต่พยานบุคคลมาเบิกความลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟัง และข้อที่โจทก์อ้างว่าโจทก์เป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์อยู่ในความควบคุมของธนาคารแห่งประเทศไทยการซื้อขายที่ดินและอาคารรายนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่อนุมัติให้โจทก์ซื้อ โจทก์จึงไม่อาจซื้อได้ โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาต่อบริษัทแสนการลงทุน จำกัด โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าปรับหรือค่าเสียหายจากบริษัทแสนการลงทุน จำกัด นั้น โจทก์กล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีหลักฐานการขออนุมัติซื้อที่ดินและอาคารรายนี้ต่อธนาคารแห่งประเทศไทยทั้งไม่ปรากฏหลักฐานว่าธนาคารแห่งประเทศไทยไม่อนุมัติให้ซื้อแต่อย่างใด แต่จากข้อเท็จจริงที่ได้ความกลับปรากฏว่า โจทก์ได้ชำระราคาที่ดินและอาคารที่ซื้อให้แก่บริษัทแสนการลงทุน จำกัดครบถ้วนแล้ว และได้ความต่อมาว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีหนังสือเร่งรัดให้โจทก์เรียกเก็บเงินค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยจากบริษัทแสนการลงทุน จำกัด เป็นเงิน 16,500,000 บาท พยานหลักฐานดังกล่าวเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า กรณีหาใช่ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่อนุมัติให้โจทก์ซื้อที่ดินและอาคารรายนี้ พฤติการณ์ฟังได้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยทราบเรื่องการซื้อขายที่ดินรายนี้ตลอดจนเรื่องที่ผู้ขายผิดสัญญาและโจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าปรับหรือค่าเสียหายด้วยธนาคารแห่งประเทศไทยจึงมีหนังสือเตือนโจทก์ให้เร่งรัดเรียกเก็บค่าปรับ หรือค่าเสียหายนั้น ข้อเท็จจริงตามที่ได้วินิจฉัยฟังได้ชัดแจ้งว่าในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2519โจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าปรับจากบริษัทแสนการลงทุน จำกัด15,000,000 บาท ดังนั้น การประเมินของเจ้าพนักงานของจำเลยและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ว่า โจทก์มีเงินได้เป็นค่าปรับจากบริษัทแสนการลงทุน จำกัด จำนวน 15,000,000บาท ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2519 นั้น ชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ซึ่งใช้ระบบบัญชีเกณฑ์สิทธิ์มีหน้าที่ต้องนำค่าปรับรายนี้พร้อมดอกเบี้ยมาคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วย
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อต่อไปมีว่า มีเหตุงดหรือลดเงินเพิ่มให้แก่โจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์มิได้นำเงินค่าปรับจำนวน 15,000,000 บาท ที่มีสิทธิจะได้จากบริษัทแสนการลงทุน จำกัด มาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2519 ย่อมถือได้ว่าโจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีเงินได้ส่วนนี้ จึงไม่มีเหตุที่จะงดหรือลดเงินเพิ่มแก่โจทก์ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share