แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์มีชื่อ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนด ที่ดิน พิพาท ซึ่งป.พ.พ. มาตรา 1373 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าว จำเลยจึงมีภาระการพิสูจน์ว่าจำเลยเป็นฝ่ายครอบครองที่ดินพิพาทด้วย เจตนาเป็นเจ้าของติดต่อ กันเป็นเวลา 10 ปี แม้จำเลยจะมีคำสั่งของศาลชั้นต้นถึงที่สุดแสดงว่าจำเลยได้ กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดย การครอบครองปรปักษ์ก็ตาม แต่ เมื่อโจทก์ซึ่ง เป็นบุคคลภายนอกคดีสามารถพิสูจน์ได้ ว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ คำสั่งของศาลชั้นต้นย่อมไม่ผูกพันโจทก์ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 145 วรรคสอง(2).
ย่อยาว
โจทก์ทั้งห้าฟ้องว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 5143 แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร ขอให้พิพากษาว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 11904/2525ที่สั่งว่าที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 นั้นไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดี ขอให้ศาลสั่งไปยังเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครให้ระงับการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงนี้ให้เป็นชื่อของจำเลยให้จำเลยรื้อบ้านไม่มีเลขที่ซึ่งจำเลยบุกรุกเข้าไปปลูกบ้านดังกล่าวออกไปจากที่ดินแปลงนี้ ห้ามมิให้จำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินแปลงนี้อีกต่อไป
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ครอบครองทำประโยชน์ ปลูกบ้านเพื่ออยู่อาศัยในที่ดินตามฟ้องโดยความสงบ เปิดเผย และด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ เป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว และศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งถึงที่สุดแล้วว่าที่ดินแปลงนี้เป็นของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 11904/2525 ของศาลชั้นต้น โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเพราะเป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 11904/2525 ที่สั่งว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยนั้นไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งห้า ให้จำเลยรื้อถอนบ้านออกไปจากที่พิพาท ห้ามมิใ้หจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่พิพาทอีกต่อไป
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าที่ดินพิพาทเป็นที่นามีโฉนด นายยุกต์ ลิมทรง เป็นผู้ทรงกรรมสิทธิ์โดยซื้อมาจากเจ้าของเดิมเมื่อ ปี พ.ศ. 2506 ต่อมาวันที่8 พฤศจิกายน 2508 นายยุกต์ถึงแก่กรรม โจทก์ที่ 5 ซึ่งเป็นภริยาได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายยุกต์ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์ที่ 5 เป็นผู้จัดการมรดกของนายยุกต์วันที่ 8 มิถุนายน 2525 จำเลยยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382ศาลชั้นต้นประกาศวันนัดไต่สวนตามระเบียบ ไม่มีผู้ใดคัดค้าน จึงมีคำสั่งเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2525 ว่าที่ดินแปลงพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ต่อมาวันที่ 21 ธันวาคม 2525 เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครได้มีหนังสือถึงโจทก์ที่ 5 ให้ส่งมอบโฉนดที่ดินแปลงพิพาทไปยังสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาพระโขนง เพื่อจดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองให้แก่จำเลยตามที่จำเลยร้อง โจทก์ที่ 5ไม่ได้ส่งโฉนดที่ดินพิพาทและขออายัดที่ดินพิพาทมิให้เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครทำการจดทะเบียนโจทก์ทั้งห้าในฐานะทายาทโดยธรรมของนายยุกต์ได้ฟ้องคดีนี้ เห็นได้ว่าทั้งโจทก์และจำเลยต่างก็เป็นผู้ทรงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โดยโจทก์ทั้งห้าเป็นผู้ทรงกรรมสิทธิ์ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายยุกต์ผู้มีชื่อทางทะเบียน ส่วนจำเลยเป็นผู้ทรงกรรมสิทธิ์โดยคำสั่งของศาลแต่ยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ดังกล่าว คดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาเพียงประเด็นเดียวว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าจำเลยหรือไม่ โจทก์จำเลยต่างนำสืบในทางตรงข้ามกัน จำเลยนำสืบว่าได้กรรมสิทธิ์เพราะได้เข้าครอบครองที่พิพาทโดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาประมาณ 18 ปี โจทก์นำสืบว่า ฝ่ายโจทก์มาดูแลที่ดินพิพาทเป็นครั้งคราวโดยตลอด และจำเลยไม่ได้ครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันถึง 10 ปี เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 บัญญัติว่า “ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดินท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง” โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาท จากข้อสันนิษฐานข้างต้นต้องฟังว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลย โดยจำเลยต้องพิสูจน์ว่าจำเลยเป็นฝ่ายครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปีที่จำเลยฎีกามาหลายประการว่า พยานหลักฐานฝ่ายจำเลยมีน้ำหนักน่าเชื่อมากกว่าฝ่ายโจทก์ โจทก์นำนายนิสิต อรชุนณกะ นายช่างรังวัด 4สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาพระโขนง มาสืบว่าเป็นผู้รังวัดและทำแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.18 เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2526 มีผู้ร่วมงานรังวัด 6 คน ทำการรังวัดนำส่งศาลและนำชี้ของทั้งสองฝ่ายปรากฏตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.18 ว่า บ้านของจำเลยซึ่งปลูกใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2525 ที่จำเลยอ้างว่าปลูกทับที่บ้านหลังเก่าได้ปลูกอยู่มุมตอนใต้ของทิศตะวันออกของที่ดินพิพาทพอดี โดยหนึ่งในสี่ส่วนของตัวบ้านล้ำเข้าไปในคลองเคล็ดซึ่งเป็นคลองสาธารณะและนายสมเกียรติ สายบัว เจ้าพนักงานโยธากรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับมอบหมายให้ร่วมระวังแนวเขตที่ดินสาธารณะริมคลองเคล็ดก็ว่า บ้านพิพาทล้ำเขตที่สาธารณะประมาณ 2 เมตร และที่ดินพิพาทมีต้นหญ้าต้นไม้ขึ้นรก พยานทั้งสองปากปฏิบัติตามหน้าที่ราชการ เป็นคนกลางไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด ทำให้เห็นได้ว่า การปลูกบ้านของจำเลยปลูกล้ำเข้ามาในที่ดินพิพาทบางส่วนเท่านั้น ที่ดินพิพาทมีเนื้อที่กว้างถึง19 ไร่เศษ เหตุใดจำเลยจึงไม่ปลูกเข้ามาในที่ดินพิพาทให้เต็มทั้งหลังทั้ง ๆ ที่ตนรู้อยู่ว่าตนได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทมาแล้วแต่กลับปลูกล้ำเข้าไปในที่สาธารณะ หรือจะอ้างว่าเพื่อใช้น้ำในคลองเคล็ด ก็ไม่มีเหตุผลเพียงพอ จำเลยอ้างว่าบ้านในที่ดินพิพาทคือ บ้านเลขที่ 2 หมู่ 3 แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพมหานครแต่ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตหมู่ 4 แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพมหานครและจำเลยยอมรับว่า บ้านเลขที่ 2 หมู่ 3 เป็นเลขที่บ้านของนางหลงตะเภาทอง แม่ยายของจำเลย จึงเป็นบ้านเลขที่อื่นและเป็นอยู่คนละหมู่บ้านกัน จำเลยอ้างว่าเมื่อปลูกบ้านในที่ดินพิพาทแล้วได้เคยไปขอเลขบ้านจากทางอำเภอ ทางอำเภอบอกให้ใช้เลขบ้านเดิมของแม่ยายไปก่อน จำเลยจึงใช้เลขบ้านของแม่ยายเป็นเลขบ้านในที่ดินพิพาทมาจนบัดนี้ การส่งจดหมายไปรษณีย์ก็ส่งได้ถูกต้องเห็นว่าข้ออ้างของจำเลยขัดต่อเหตุผลเพราะบ้านแม่ยายจำเลยและบ้านหลังในที่ดินพิพาทเป็นคนละหลังคนละหมู่บ้าน ไม่น่าเชื่อว่าทางอำเภอจะแนะนำเช่นนั้นและไม่มีเหตุผลอีกเช่นกันที่ปล่อยให้ปลูกมานานถึง 18 ปี ไม่มีเลขบ้าน จำเลยฎีกาว่าทั้งสองฝ่ายต่างไม่ได้เสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินพิพาท จำเลยว่าเคยไปขอเสียภาษีบำรุงท้องที่พบนายช้อย สะไบบางนายช้อยมาสำรวจที่ดินแล้วจำเลยไปติดต่อทางเขต แต่ทางเขตจะให้จำเลยเสียภาษีในนามของเจ้าของที่ดินเดิมจำเลยจึงไม่ยอมเสีย เห็นว่าปรากฏว่านายช้อย สะไบบาง เป็นเพียงพนักงานขับรถของเขตพระโขนงเท่านั้นจึงไม่น่าจะมีหน้าที่ทมาสำรวจที่ดินเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่ตามจำเลยกล่าวอ้าง จำเลยเบิกความว่าเมื่อ 2-3 ปี มานี้เจ้าของที่ดินที่ถนนวัดทุ่งสาธิตผ่านยอมสละที่ให้เป็นถนน จำเลยไม่ได้เกี่ยวข้องในการอุทิศที่ดินทำถนน ซึ่งเจือสมกับพยานฝ่ายโจทก์ว่าา ทางวัดทุ่งสาธิตได้ขอให้ฝ่ายโจทก์ยอมสละที่ดินพิพาทบางส่วนทำถนนผ่านโจทก์ยินยอม ปรากฏเป็นถนนในแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.18 เห็นว่าในเมื่อจำเลยอ้างว่าตนได้ครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาทน่าจะต้องแสดงตนว่าตนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่กลับไม่เกี่ยวข้องเลย จำเลยว่ามีร่องรอยการทำประโยชน์อยู่โดยว่าเลิกทำนามาประมาณ 5 ปี แล้วปลูกกล้วย อ้อย และเลี้ยงปลาและจำเลยได้เคยเบิกความไว้ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 11904/2525 ว่า เมื่อประมาณ 4 ปีมานี้ จำเลยเลิกทำนาเพราะในน้ำบริเวณนั้นเน่า ทำนาไม่ได้ ดังนั้น แม้น้ำจะท่วมเมื่อปีพ.ศ. 2526 ก็น่าจะมีร่องรอยการทำประโยชน์ดังกล่าวเป็นหลักฐานหลงเหลือบ้างเมื่อน้ำลดแล้วข้อที่จำเลยนำสืบว่าขุดบ่อเลี้ยงปลาในที่ดินพิพาท ข้อนี้นายนิสิตพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ทำแผนที่พิพาทก็เบิกความว่าไม่มีบ่อปลาในที่ดินพิพาท นายนิสิตไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด น่าเชื่อว่าเบิกความไปตามจริงที่จำเลยอ้างว่า ขุดบ่อเลี้ยงปลาในที่ดินพิพาทจึงไม่น่าเชื่อถือ สรุปแล้วพยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบไม่มีลักษณะว่าจำเลยได้ครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของแต่ประการใด ส่วนพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อมากกว่าข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ครอบครองที่พิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี สิทธิของโจทก์ทั้งห้าในฐานะผู้ทรงกรรมสิทธิ์โดยมีหลักฐานทางทะเบียนในที่พิพาทซึ่งเป็นที่ดินมีโฉนดที่พิพาทยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งห้า แม้จำเลยจะมีคำสั่งของศาลชั้นต้นซึ่งถึงที่สุดแล้วว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดี สามารถพิสูจน์ได้ว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ทั้งห้าคำสั่งของศาลชั้นต้นก็ย่อมไม่ผูกพันโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145(2) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลบฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ.