คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1953/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน ไม่มีแสงสว่าง พยานโจทก์อ้างว่าเห็นหน้าคนร้ายด้วย แสงไฟฉายของคนร้าย จำคนร้ายได้ เพราะเป็นคนที่รู้จักมาก่อนแต่ พยานโจทก์ก็มิได้บอกความนี้แก่ผู้ใดรวมทั้งเจ้าพนักงานตำรวจ ทั้งไม่ปรากฏว่ามีการฉายไฟนานเท่าใดและฉายไฟ ในลักษณะใด จึงเห็นหน้าคนร้ายได้ ชัดเจน พยานหลักฐานเท่านี้ไม่พอรับฟังว่าพยานโจทก์จำได้ ว่าจำเลยเป็นคนร้าย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 340ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14ให้จำเลยคืนหรือชดใช้ราคาทรัพย์จำนวน 3,615 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14 ให้จำคุกจำเลยมีกำหนด 12 ปีจำเลยอายุ 18 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 76 คงจำคุก 8 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 3,615 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว โจทก์มีนางเย็น เบิกความว่าเห็นหน้าคนร้ายด้วยแสงสว่างจากไฟฉายของคนร้ายที่ส่องให้ความสว่างจำคนร้ายได้บ้าง 1 คน เป็นคนที่รู้จักมาก่อนเพราะเคยไปรับประทานอาหารที่บ้านในวันขอแรงชาวบ้านช่วยกันทำคอกกระบือ เห็นว่าคนร้ายที่นางเย็นอ้างว่าจำได้นั้น นางเย็นอ้างว่ารู้จักมาก่อน แต่นางเย็นไม่ได้บอกแก่ผู้ใดว่ารู้จักแม้แต่เจ้าพนักงานตำรวจก็ไม่ได้บอกให้ทราบ อ้างเหตุว่าได้รับบาดเจ็บถูกทำร้ายจากคนร้ายในการปล้นทรัพย์ในคืนเกิดเหตุนางเย็นไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลแล้วกลับบ้าน รุ่งขึ้นไปโรงพยาบาลอีก แล้วจึงไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ได้ความว่าในขณะที่ไปโรงพยาบาลกับนายสำราญ ฉลาดเจน ซึ่งเป็นบุตรเขยนั้นนางเย็นได้สอบถามนายสำราญถึงผู้ที่ไปร่วมรับประทานอาหารในวันขอแรงชาวบ้านทำคอกกระบือซึ่งนางเย็นไม่รู้จัก 2 คน เมื่อสอบถามนายสำราญแล้วเชื่อว่าจำเลยนี้เป็นคนร้ายซึ่งมีชื่อว่า นายนก จึงไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจที่นายสำราญเบิกความว่า นางเย็นบอกรูปร่างลักษณะของคนร้ายตรงกันกับจำเลย ก็ไม่ปรากฏว่านางเย็นได้เบิกความถึงลักษณะของจำเลยว่าเป็นอย่างไร น่าสงสัยว่านางเย็นและนายสำราญจะปรึกษาหารือกันและปักใจเชื่อว่าจำเลยเป็นคนร้ายจึงได้ไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน ไม่มีแสงสว่าง นางเย็นอ้างว่าเห็นหน้าคนร้ายด้วยแสงไฟฉายของคนร้ายก็ไม่ปรากฏว่ามีการฉายไฟนานเท่าไรและฉายไฟในลักษณะใดจะเห็นหน้าคนร้ายได้ชัดเจนหรือไม่ เพราะในการปล้นทรัพย์คนร้ายย่อมระมัดระวังในการฉายไฟเพื่อไม่ให้เห็นหน้าและไม่ให้จดจำคนร้ายได้ จึงไม่น่าเชื่อว่านางเย็นจะจำได้ว่าจำเลยเป็นคนร้าย พยานหลักฐานของโจทก์ไม่พอฟังลงโทษจำเลย…”
พิพากษายืน.

Share