คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2741/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินที่พระภิกษุส. ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศ และพระภิกษุส. ไม่ได้จำหน่ายไปในระหว่างมีชีวิตหรือทำพินัยกรรมไว้เป็นอย่างอื่น ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดซึ่ง เป็นวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุส. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1623 ดังนี้ไม่ว่าโจทก์จะซื้อมาโดยสุจริตหรือไม่ก็ตาม โจทก์ก็ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท เพราะตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์พ.ศ. 2505 มาตรา 34 ที่วัดจะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติเท่านั้น โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยซึ่งอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่24445 โดยซื้อมาจากพระภิกษุสมาน สมบูรณ์จริง จำเลยและบริวารได้ปลูกบ้านอาศัยอยู่บนที่ดินแปลงดังกล่าวและไม่ได้ทำสัญญาเช่ากับโจทก์ โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยอยู่อาศัยต่อไป ขอให้บังคับจำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 24445 และห้ามไม่ให้เข้ามาเกี่ยวข้องอีกต่อไป ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ 3,000 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไป
จำเลยให้การว่า เมื่อปี 2522 จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อที่ดินตามฟ้องจากพระภิกษุสมาน สมบูรณ์ และได้ชำระราคาที่ดินให้แก่พระภิกษุสมานครบถ้วนแล้ว กับได้ทวงถามให้พระภิกษุสมานโอนที่ดินให้แก่จำเลยตามสัญญา แต่เนื่องจากขณะนั้นพระภิกษุสมานอยู่ในระหว่างอาพาธ ไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามฟ้องให้แก่จำเลยได้ นับแต่จำเลยกับพระภิกษุสมานได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินตามฟ้องกัน พระภิกษุสมานได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินตามฟ้องให้จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตลอดมา และยึดหน่วงไว้จนกว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลย จำเลยได้ครอบครองที่ดินตามฟ้องมาตั้งแต่ปี 2522จนถึงปัจจุบัน เมื่อปี 2530 พระภิกษุสมานได้มรณภาพที่วัดศรีบุญเรือง จังหวัดขอนแก่น นายอุ่น นันท์ดี ได้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของพระภิกษุสมานต่อศาล และศาลได้มีคำสั่งตั้งนายอุ่นเป็นผู้จัดการมรดกของพระภิกษุสมานนายอุ่นในฐานะผู้จัดการมรดกจึงมีหน้าที่รวบรวมทรัพย์สินและจัดการชำระหนี้จากกองมรดกของพระภิกษุสมานตามภาระหนี้สินที่พระภิกษุสมานมีอยู่ก่อนมรณภาพต่อบุคคลภายนอกและจำเลย แต่นายอุ่นไม่ได้ปฏิบัติตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกไม่ได้โอนที่ดินตามฟ้องให้แก่จำเลย จำเลยสืบทราบว่านายอุ่นได้ทำสัญญาขายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามฟ้องให้แก่โจทก์ ทั้ง ๆที่นายอุ่นทราบดีอยู่แล้วว่าพระภิกษุสมานได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายไว้กับจำเลย และจำเลยได้ชำระราคาที่ดินให้แก่พระภิกษุสมานครบถ้วนแล้ว ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายไม่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามฟ้อง และโจทก์ก็ได้รับซื้อที่ดินตามฟ้องไว้โดยไม่สุจริต โดยรู้ว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองและเป็นผู้ทำประโยชน์ในที่ดินตามฟ้อง การซื้อขายที่ดินตามฟ้องโจทก์ไม่เคยสอบถามจำเลยซึ่งเป็นผู้ครอบครองในที่ดินว่าจำเลยครอบครองที่ดินในฐานะอย่างไรหรือไม่ เมื่อมีการซื้อขายที่ดินตามฟ้องแล้วก็ได้จดทะเบียนจำนองต่อนางรัชนี สุดรุ่ง ในวันเดียวกันโดยผู้รับจำนองก็รู้ถึงสิทธิของจำเลย เป็นการรับจำนองโดยไม่สุจริต การกระทำของนายอุ่น โจทก์ และนางรัชนีเป็นการสมคบกันเพื่อฉ้อฉลจำเลยเป็นการดำเนินการไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมายจำเลยจึงมีสิทธิยึดหน่วงที่ดินตามฟ้อง การครอบครองอยู่อาศัยและทำประโยชน์ในที่ดินของจำเลยจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 24445 และห้ามไม่ให้เข้ามาเกี่ยวข้องอีกต่อไปให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ 1,000 บาทนับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไป
จำเลยอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นฎีกาฟังได้ว่า เดิมพระภิกษุสมาน สมบูรณ์จริง เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่24445 เนื้อที่ 5 ไร่ 19 ตารางวา จำเลยปลุกบ้าน 1 หลังและทำบ่อเลี้ยงปลาอยู่ในที่ดินแปลงดังกล่าวพระภิกษุสมานจำพรรษาอยู่ที่วัดศรีบุญเรือง จังหวัดขอนแก่น จนถึงวันมรณภาพวัดศรีบุญเรืองจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดขอนแก่นขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก ศาลได้มีคำสั่งตั้งนายอุ่น นันท์ดี เป็นผู้จัดการมรดกของพระภิกษุสมาน หลังจากนั้นโจทก์ยื่นฟ้องวัดศรีบุญเรืองและนายอุ่นในฐานะผู้จัดการมรดกให้โอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ ต่อมามีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน แล้วนายอุ่นได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมาฟ้องขับไล่จำเลยเป็นคดีนี้
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทและมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่าโจทก์ได้ซื้อที่ดินพิพาทมาจากพระภิกษุสมาน สมบูรณ์จริง เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2528 แต่ยังไม่มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เนื่องจากพระภิกษุสมานอาพาธ ครั้นปี 2530พระภิกษุสมาน มรณภาพ และนายอุ่น นันท์ดี ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของพระภิกษุสมานตามคำสั่งศาล แต่นายอุ่นไม่ยอมจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์จึงยื่นฟ้องวัดศรีบุญเรืองและนายอุ่นให้โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ต่อมามีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลพิพากษาตามยอม หลังจากนั้นนายอุ่นได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1623บัญญัติว่า ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุถึงแก่มรณภาพ ให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นไว้แต่พระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไปในระหว่างชีวิตหรือโดยพินัยกรรม ปรากฏตามสารบัญจดทะเบียนด้านหลังโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.3 ว่านายผ่อง เอมแย้ม จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่พระภิกษุสมานเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2516 และตามสำเนาคำสั่งศาลเอกสารหมาย ล.11 มีข้อความระบุว่าพระภิกษุสมานจำพรรษาอยู่ที่วัดศรีบุญเรืองตั้งแต่ปี 2519 จนถึงวันที่ 14 พฤษภาคม 2530อันเป็นวันมรณภาพ และที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินที่พระภิกษุสมานได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศ พระภิกษุสมานไม่ได้จำหน่ายไปในระหว่างมีชีวิตหรือทำพินัยกรรมไว้เป็นอย่างอื่นจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดศรีบุญเรือง นายอุ่นในฐานะผู้จัดการมรดกของพระภิกษุสมานชอบที่จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้ตกเป็นสมบัติของวัดศรีบุญเรืองเสียก่อนตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นการที่นายอุ่นจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดยตรงจึงเป็นการไม่ชอบเมื่อที่ดินพิพาทตกเป็นที่ธรณีสงฆ์คือที่ซึ่งเป็นสมบัติของวัดไม่ว่าโจทก์จะซื้อมาโดยสุจริตหรือไม่ โจทก์ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ เพราะตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 34 บัญญัติว่าที่วัดจะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติเท่านั้นโจทก์จึงไม่มีอำนาจที่จะฟ้องขับไล่จำเลยได้ ซึ่งอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนทั้งเป็นข้อกฎหมายที่ได้ความจากพยานเอกสารในสำนวนจึงเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีได้แม้คู่ความฝ่ายใดมิได้ยกขึ้นกล่าวอ้างก็ตาม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share