คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1821/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจบังคับบัญชาโจทก์ นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1ตาม สัญญาเอกสารหมาย ล.2 มิใช่ลักษณะของสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์จึงมิใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ดังนี้การที่โจทก์อุทธรณ์ว่าสัญญาเอกสารหมาย ล.2 ไม่ใช่สัญญาตัวแทนนั้น จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่อาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมานั้นแปรเปลี่ยนเป็นสัญญาจ้างได้ อุทธรณ์โจทก์ดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดีศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจประกันภัย จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการรองผู้จัดการของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2530 จำเลยทั้งสองได้จ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ทำหน้าที่เป็นผู้แทนขายประกันทุกประเภทและให้โจทก์เป็นผู้จัดการหัวหน้าเขตประจำสาขางามวงศ์วานของจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนหรือสินจ้างเป็นค่าขายประกันให้แก่โจทก์เดือนละประมาณ 20,000 บาท และค่าผลประโยชน์อื่น ๆ อีกเดือนละ 20,000 บาท โดยกำหนดจ่ายค่าผลประโยชน์หรือสินจ้างภายในวันที่ 7 ของทุก ๆ เดือน ต่อมาวันที่ 4 มิถุนายน 2532 จำเลยทั้งสองได้เลิกจ้างโจทก์ โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด จึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เป็นเงิน 120,000 บาท จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 40,000 บาท ค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมนับแต่วันที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานจนถึงวันฟ้องเดือนละ 10,000 บาท เป็นเวลา 5 เดือน รวมเป็นเงิน50,000 บาท และค่าเสียหายที่จำเลยละเมิดต่อโจทก์นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปอีกเดือนละ 5,000 บาท จนกว่าโจทก์จะได้งานใหม่ทำและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ดอกเบี้ยให้แก่โจทก์อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินค่าจ้างตามกฎหมายดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยทั้งสองโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ 1 ได้แต่งตั้งโจทก์เป็นหัวหน้าเขตการขายสาขางามวงศ์วาน นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องการจ้างทำของ แต่อย่างไรก็ตามหากศาลจะฟังว่าสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์ก็ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยฝ่าฝืนกฎหมายประกันชีวิต เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาการแต่งตั้งหัวหน้าเขตการขายได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และจำเลยที่ 1ไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายให้แก่โจทก์ คำฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับการเรียกค่าเสียหายเคลือบคลุม จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวหรือต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยทั้งสอง ฉะนั้นศาลแรงงานกลางจึงไม่มีอำนาจที่จะพิจารณาคดีของโจทก์และจำเลย กรณีไม่ต้องวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทข้ออื่น ๆ อีก พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ว่า ตามสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยไม่ใช่สัญญาตัวแทน การที่โจทก์ทำงานให้จำเลยและได้รับผลประโยชน์จากเบี้ยประกัน ผลประโยชน์ที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ถือว่าเป็นสินจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน จำเลยยังได้จ่ายค่ารักษาพยาบาล โบนัสสิ้นปีและรางวัลด้วย ขอให้พิพากษากลับว่าโจทก์เป็นลูกจ้าง และให้โจทก์ชนะคดีบังคับตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ทุกประการ
พิเคราะห์แล้ว คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าเมื่อเดือนตุลาคม 2530 จำเลยที่ 1 ได้แต่งตั้งให้โจทก์ดำรงตำแหน่งหัวหน้าศูนย์การขาย วันที่ 1 มกราคม 2531 จำเลยที่ 1 ได้แต่งตั้งให้โจทก์เป็นหัวหน้าเขตการขาย โดยให้โจทก์ทำหน้าที่เกี่ยวกับการขยายงานประกันชีวิตของจำเลยที่ 1 โจทก์จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนโดยการคำนวณจากผลงานตามระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งที่จำเลยที่ 1 กำหนดไว้ จำเลยที่ 1 ได้จ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่โจทก์เป็นรายเดือนภายในวันที่ 7 ของเดือน ต่อมาเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน2532 จำเลยที่ 1 ได้มีคำสั่งให้โจทก์พ้นจากสภาพการเป็นหัวหน้าเขตการขายของจำเลยที่ 1 โดยอ้างว่าโจทก์ได้ร่วมกับนางพรรณเรืองเสวิกุล ซึ่งเป็นตัวแทนขายประกันของจำเลยที่ 1 แนะนำและชักชวนให้นายกมล ศรีวัฒนา ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1 โดยเสนอลดเบี้ยประกันให้ การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย เกี่ยวกับสภาพการทำงานของโจทก์นั้น ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์ไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 1 เช่น โจทก์จะไปทำงานเวลาใดเลิกงานเวลาใด จะหยุดงาน ลาป่วย หรือลากิจอย่างใด เป็นเรื่องที่โจทก์สามารถทำได้เองโดยไม่ต้องได้รับอนุมัติจากจำเลยที่ 1ก่อน จำเลยที่ 1 ไม่ต้องจ่ายค่าจ้างเป็นเงินเดือนให้แก่โจทก์แต่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่โจทก์ตามผลงานของการขายประกันและการบริหารงานภายในเขตการขยายงานประกันที่โจทก์เป็นตัวแทนหากโจทก์ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจสั่งลงโทษโจทก์ คงมีอำนาจที่จะเลิกสัญญากับโจทก์ตามสัญญาเอกสารหมาย ล.2 เท่านั้น คำวินิจฉัยดังกล่าวของศาลแรงงานกลางเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจบังคับบัญชาโจทก์ นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ตามสัญญาเอกสารหมาย ล.2 ไม่ใช่ลักษณะของสัญญาจ้างแรงงาน การที่โจทก์อุทธรณ์เป็นข้อกฎหมายว่า สัญญาตามเอกสารหมาย ล.2 ไม่ใช่สัญญาตัวแทนนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ยุติตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่า จำเลยที่ 1ไม่มีอำนาจบังคับบัญชาโจทก์ จึงไม่ใช่นายจ้างของโจทก์ อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวไม่อาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมานั้นแปรเปลี่ยนเป็นสัญญาจ้างแรงงานไปได้ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ที่เกี่ยวกับเงินและประโยชน์ต่าง ๆ ที่โจทก์ได้รับในระหว่างทำงานซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นสินจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เงินผลประโยชน์ตอบแทนคือเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามสัญญาเอกสารหมาย ล.2 ข้อ 2 ซึ่งศาลแรงงานกลางฟังว่า สัญญาตามเอกสารหมาย ล.2 ไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงาน ดังนั้นจึงต้องฟังว่าเงินผลประโยชน์ตอบแทนไม่ใช่สินจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน การที่โจทก์อุทธรณ์ว่าเป็นสินจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ อุทธรณ์ของโจทก์เกี่ยวกับเงินค่ารักษาพยาบาล เงินโบนัสสิ้นปีและเงินรางวัลแก่ผู้ที่ขายได้ตามเป้า ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นค่าจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นลักษณะจ้างแรงงานนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จะพิจารณาว่าเงินต่าง ๆ เป็นค่าจ้างหรือไม่นั้น จะต้องปรากฏว่าคู่กรณีมีความสัมพันธ์กันตามสัญญาจ้างแรงงาน ถ้าการจ่ายเงินนั้นไม่ใช่เนื่องจากการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานแล้ว เงินนั้นก็ไม่ใช่ค่าจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน การที่จำเลยที่ 1 จ่ายเงินดังกล่าวให้โจทก์แต่จำเลยที่ 1 ไม่ใช่นายจ้างของโจทก์ตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังยุติมาแล้ว จึงไม่อาจทำให้ความสัมพันธ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1กลายเป็นสัญญาจ้างแรงงานไปได้ อุทธรณ์ของโจทก์ส่วนนี้ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงรูปคดี จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้เช่นกัน”
พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์.

Share