คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1330/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีก่อนพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานยักยอกและมีคำขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหาย และโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีนั้นได้เข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการด้วย จึงมีความหมายโดยนิตินัยว่าโจทก์ได้ฟ้องจำเลยในคดีอาญาและมีคำขอให้บังคับจำเลยคืนหรือใช้เงินที่ยักยอกด้วยแล้ว ฉะนั้นเมื่อศาลชั้นต้นยกฟ้องคดีดังกล่าวและคดียังอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยเพื่อเรียกเงินจำนวนเดียวกันนี้คืนจากจำเลยอีก จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเงินที่ลูกค้าของโจทก์นำมาชำระค่าสินค้ารถยนต์ ควบคุมดูแลเก็บรักษาเงินของสำนักงานสาขาประจวบคีรีขันธ์ และจัดส่งเงินเข้าสำนักงานใหญ่ของโจทก์ที่กรุงเทพมหานคร จำเลยได้ทุจริตยักยอกเงินค่างวดรถยนต์ที่รับชำระจากลูกค้า 163,182 บาท เงินสดหมุนเวียนของสาขา 35,808 บาท เงินค่าเปอร์เซ็นต์เก็บเงินของพนักงานซึ่งยังไม่ได้จัดแบ่ง 10,370 บาท การที่จำเลยกระทำละเมิดดังกล่าวโจทก์ขอให้จำเลยชำระเงิน 247,306.50 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 209,360 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ยักยอกเงิน 209,360 บาทของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมคดีขาดอายุความ นอกจากนี้ยังมีการดำเนินคดีอาญากับจำเลยในข้อหายักยอกที่ศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์พิพากษายกฟ้องไปแล้ว ขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า คดีอาญาที่พนักงานอัยการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นโจทก์และผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วมฟ้องจำเลยในความผิดฐานยักยอกโดยบรรยายฟ้องว่า จำเลยได้กระทำการทุจริตยักยอกเอาเงินของผู้เสียหายไปจำนวน 209,360 บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 และให้บังคับจำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 209,360 บาท แก่ผู้เสียหาย (โจทก์ร่วม) คำขอให้คืนเงินดังกล่าวเป็นคำขอในส่วนแพ่งซึ่งพนักงานอัยการผู้เป็นโจทก์และโจทก์คดีนี้ในฐานะที่เป็นโจทก์ร่วมได้ฟ้องจำเลยแล้ว คำขอบังคับของโจทก์ในคดีนี้กับคำขอบังคับในส่วนแพ่งของคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1381/2531 ของศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นเงินจำนวนเดียวกันการฟ้องคดีนี้จึงเป็นการฟ้องซ้อน ต้องห้ามมิให้โจทก์ฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง แม้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้เกี่ยวกับประเด็นข้อนี้ไว้ก็ตาม แต่อำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลแรงงานกลางมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ว่า ฟ้องของโจทก์คดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1381/2531ของศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าคดีอาญาที่พนักงานอัยการฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในความผิดฐานยักยอกนั้น มีคำขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 209,360 บาทแก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นคำขอในส่วนแพ่งด้วย และต่อมาผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์คดีนี้ได้เข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ โดยถือเอาฟ้องของพนักงานอัยการเป็นฟ้องของโจทก์ร่วม จึงมีความหมายโดยนิตินัยว่าโจทก์ร่วมได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในคดีอาญาดังกล่าวและมีคำขอให้บังคับจำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 209,360 บาทที่จำเลยได้ยักยอกเอาไปแก่โจทก์ร่วมด้วยแล้ว เมื่อศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์พิพากษายกฟ้องและคดีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ได้กลับมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ เพื่อเรียกเงินจำนวนเดียวกันคืนจากจำเลยอีก จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1)ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share