คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1328/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้ประกันยื่นฎีกาภายหลังจาก พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ.(ฉบับที่ 17) ใช้ บังคับแล้ว สิทธิในการฎีกาของผู้ประกันต้อง พิจารณาตาม บทกฎหมายที่ใช้ ในขณะที่ยื่น ฎีกาดังนี้ กรณีของผู้ขอประกันจึงเป็นที่สุด.

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามลักทรัพย์ของนายจ้างระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยมีประกันจำเลยที่ 3 หลบหนีระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นสั่งปรับนายประกันแล้วดำเนินการพิจารณาคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และพิพากษายกฟ้อง โจทก์ร่วมอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับจำคุกจำเลยที่ 1ที่ 2 จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกา และยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวศาลชั้นต้นอนุญาตถึงวันนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาผู้ประกันไม่ส่งตัวจำเลยทั้งสอง ศาลชั้นต้นสั่งปรับตามสัญญาประกัน ต่อมาผู้ประกันนำจำเลยที่ 2 มาส่ง ศาลชั้นต้นลดค่าปรับผู้ประกันเฉพาะจำเลยที่ 2 เหลือเพียง 20,000 บาท แล้วอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาโดยศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องโจทก์
ผู้ประกันอุทธรณ์ ขอให้ศาลอุทธรณ์ลดค่าปรับผู้ประกันที่ผิดสัญญาประกันเฉพาะจำเลยที่ 1 ที่ 2 ลงอีก และพร้อมกันนั้นได้นำตัวจำเลยที่ 1 มาส่งศาล และร้องขอให้ศาลชั้นต้นลดค่าปรับสำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ผู้ประกันนำตัวจำเลยที่ 1 มาส่งศาลเลยเวลาอ่านคำพิพากษาศาลฎีกามาเพียง 15 วัน จึงให้ลดค่าปรับสำหรับจำเลยที่ 1 เหลือเพียง 50,000 บาท
ผู้ประกันอุทธรณ์ขอให้ลดค่าปรับสำหรับจำเลยที่ 1 ลงอีก
ศาลอุทธรณ์รวมพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ประกันทั้งสองฉบับแล้วพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลดค่าปรับผู้ประกันเกี่ยวกับตัวจำเลยที่ 1เหลือ 30,000 บาท เกี่ยวกับตัวจำเลยที่ 2 เหลือ 10,000 บาท
ผู้ประกันฎีกา ขอให้ลดค่าปรับเกี่ยวกับตัวจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ลงอีก
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ผู้ประกันยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 8กุมภาพันธ์ 2533 อันเป็นเวลาหลังจากพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532 ใช้บังคับแล้ว สิทธิในการฎีกาของผู้ประกันต้องพิจารณาตามบทกฎหมายที่ใช้ในขณะยื่นฎีกา ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา119 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติดังกล่าว อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่ผู้ประกันยื่นฎีกาบัญญัติไว้ว่า “ในกรณีผิดสัญญาประกันต่อศาล ศาลมีอำนาจสั่งบังคับตามสัญญาประกันหรือตามที่ศาลเห็นสมควรโดยมิต้องฟ้อง เมื่อศาลสั่งประการใดแล้ว ฝ่ายผู้ถูกบังคับตามสัญญาประกันหรือพนักงานอัยการมีอำนาจอุทธรณ์ได้คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด” ดังนั้น กรณีของผู้ประกันจึงเป็นที่สุดไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายกฎีกาของผู้ประกัน.

Share