คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1233/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตมีความผิดมาตั้งแต่เริ่มครอบครองเป็นกรรมหนึ่ง และเมื่อได้พกพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยผิดกฎหมายก็เป็นความผิดอีกกรรมหนึ่งจึงเป็นความผิดสองกรรมต่างกัน ต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด การที่จำเลยได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ของกลางไปพยายามปล้นทรัพย์แต่ก็เป็นเพียงยานพาหนะไปมาและพาจำเลยกับพวกหลบหนีให้พ้นจากการจับกุมโดยสะดวกและรวดเร็วเท่านั้น รถจักรยานยนต์ของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดอันจะพึงริบ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 มีกระสุนปืนลูกซอง 1 นัด จำเลยที่ 2มีอาวุธปืนลูกซองสั้นไม่มีหมายเลขทะเบียนของเจ้าพนักงาน1 กระบอก กับกระสุนปืนลูกซอง 2 นัด ไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำเลยที่ 2 ได้พาอาวุธปืนดังกล่าวไปในทางสาธารณะและได้ร่วมกันลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย… โดยจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้รถจัรกยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อกระทำผิด…เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้พร้อมด้วยอาวุธปืนลูกซองสั้น 1 กระบอก กระสุนปืนลูกซอง 2 นัด ปลอกกระสุนปืนลูกซอง 1 ปลอก รถจักรยานยนต์ 1 คัน เป็นของกลาง ต่อมาจับจำเลยที่ 3 ได้ ขอให้ลงโทาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 340 ตรี,288, 289, 138, 140, 32, 33, 80, 83 ฯลฯ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ฯลฯริบของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคสอง คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ข้อ 6 ฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือนมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสองคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ข้อ 4 ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ จำคุก 3 เดือนมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง, 340 ตรี, 80ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ข้อ 14, 15 ฐานพยายามปล้นทรัพย์โดยคนหนึ่งคนใดมีอาวุธและใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิด จำคุก 12 ปีการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ที่แก้ไขแล้วรวมเป็นจำคุก 12 ปี 9 เดือน จำเลยที่ 2มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8ทวิ,72 วรรคแรก 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 44 ข้อ 3, 6, 7 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2522 มาตรา 5, 7 ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 ปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จำคุก 1 ปี มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 140 วรรคสาม ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ จำคุก 3 ปี มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคสอง, 340 ตรี, 40 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ข้อ 14, 15 ฐายพยายามปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธปืนและใช้ยายพาหนะ จำคุก 12 ปี รวมเป็นจำคุก 18 ปี ชั้นจับกุมจำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คนละหนึ่งในสามแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 8 ปี 6 เดือนจำเลยที่ 2 มีกำหนด 12 ปี ข้อหาอื่นเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ให้ยก ของกลางริบ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในข้อหาพยายามปล้นทรัพย์ คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6เดือน จำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี นอกจากทีแ่ก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า การมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและพกพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยผิดกฎหมาย เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทศาลจะลงโทษได้เพียงบทที่มีโทษหนักที่สุดนั้นเห็นว่า การมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตมีความผิดมาตั้งแต่เริ่มครอบครองเป็นกรรมหนึ่งและเมื่อได้พกพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยผิดกฎหมายก็เป็นความผิดอีกกรรมหนึ่ง จึงเป็นความผิดสองกรรมต่างกันศาลลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2ฟังไม่ขึ้น และที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาว่าเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องในความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์ รถจักรยานยนต์ของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด ขอให้คนแก่เจ้าของนั้นเห็นว่า แม้ศาลฎีกาจะฟังว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ของกลางไปพยายามปล้นทรัพย์ แต่ก็เป็นเพียงยานพาหนะไปมาและพาจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับพวกหลบหนีให้พ้นจากการจับกุมโดยสะดวกและรวดเร็วเท่านั้น รถจักรยานยนต์ของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดอันจะพึงริบได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นยกเว้นไม่ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง.

Share