คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1199/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2533 หลังจาก พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมป.วิ.อ. (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532 ใช้ บังคับแล้ว โจทก์จึงฎีกาไม่ได้ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมายตาม ป.วิ.อ.มาตรา 220 ซึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมป.วิ.อ. (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532 มาตรา 13 เพราะการพิจารณาว่าโจทก์ฎีกาได้ หรือไม่ต้อง พิจารณาตาม กฎหมายที่ใช้ อยู่ในขณะยื่น ฎีกา.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันเอาความอันเป็นเท็จฟ้องต่อศาลแขวงอุบลราชธานีเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1544/2530หมายเลขแดงที่ 393/2531 ว่าโจทก์กระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ต่อมาจำเลยที่ 4 และที่ 3 เบิกความอันเป็นเท็จและเป็นข้อสำคัญในคดีต่อศาลแขวงอุบลราชธานี และศาลแขวงเชียงใหม่ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 มาตรา 177 วรรคสอง และมาตรา 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีโจทก์ไม่มีมูลพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2533หลังจากพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532 ใช้บังคับแล้ว การพิจารณาว่าโจทก์ฎีกาได้หรือไม่ต้องพิจารณาตามบทกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะยื่นฎีกา คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์จึงฎีกาไม่ได้ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริง และปัญหาข้อกฎหมาย เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532 มาตรา 13 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาโจทก์.

Share