แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์จำเลยตกลง ท้ากันว่า ถ้า ก. กับ พ. สาบานตัว ตาม ที่จำเลยทั้งสองเป็นผู้กล่าวนำสาบานตาม คำท้าได้ จำเลยทั้งสองยอมแพ้ ถ้า ไม่กล้าสาบานโจทก์ยอมแพ้การสาบานของคนทั้งสองจึงเป็นเงื่อนไขที่คู่กรณีกำหนดขึ้นเพื่อให้ศาลวินิจฉัยข้อแพ้ชนะในคดี แม้ ก. และ พ. จะมิใช่โจทก์ แต่ เป็นบุคคลที่จำเลยอ้างว่าเป็นผู้รับชำระหนี้จากจำเลย ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีผลบังคับระหว่างคู่ความ.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ยืมเงิน 100,000 บาท จากโจทก์โดยตกลงชำระดอกเบี้ยตามกฎหมายและจะชำระคืนภายในวันที่ 2 เมษายน2528 จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ นับแต่วันกู้จนถึงปัจจุบัน จำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินต้นและดอกเบี้ย โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉย เมื่อคิดดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 100,000 บาท นับถัดจากวันกู้จนถึงวันฟ้อง เป็นเงินดอกเบี้ย 15,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 115,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 115,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 100,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า หนี้ตามสัญญากู้ตามฟ้อง โจทก์เคยมอบอำนาจให้ผู้มีชื่อฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้น และจำเลยทั้งสองได้ชำระหนี้เงินกู้ให้แก่ผู้มีชื่อซึ่งเป็นสามีผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์นั้นไว้แทนโจทก์ครบถ้วนแล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นทำการชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพียงข้อเดียวว่า จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชำระเงินต้นรวมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ดังฟ้องโจทก์หรือไม่ และให้จำเลยทั้งสองนำพยานเข้าสืบก่อน
ในวันนัดสืบพยานจำเลย คู่ความท้ากันว่า ถ้านายกำจัดกับนางเพิ่มพัตร์หรือเพิ่มภัทร สุวรรณเจริญ ซึ่งเป็นสามีภรรยาด้วยกันยอมรับคำท้าสาบานจากฝ่ายจำเลยทั้งสองว่ายังไม่ได้รับชำระหนี้จากจำเลยไปครบถ้วนแล้ว จำเลยทั้งสองจะยอมรับผิดแต่ถ้านายกำจัดกับนางเพิ่มพัตร์หรือเพิ่มภัทร ไม่กล้าสาบาน ขอให้ศาลยกฟ้องคู่ความจะให้คนทั้งสองไปสาบานต่อหน้าศาลเสด็จกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่ตำบลปากน้ำ หลังสวนและที่โบสถ์คริสต์จักร อำเภอหลังสวน ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2529 เวลา13.30 นาฬิกา โดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้กล่าวนำสาบานตามคำท้าศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อคู่ความตกลงท้ากัน ซึ่งเป็นประเด็นโดยตรงในข้อพิพาทจึงอนุญาตตามที่คู่ความขอ
ในวันนัดคณะผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งไปเผชิญสืบพร้อมกับคู่ความด้วยจดรายงานกระบวนพิจารณาไว้ว่า คู่ความทั้งสองฝ่ายมาศาลพร้อม จากนั้นคู่ความได้นำไปสาบานต่อหน้าศาลเสด็จกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ฝ่ายจำเลยนำสาบานตรงตามคำท้าตามที่คู่ความตกลงกัน จากนั้นจึงเดินทางไปสาบานต่อคริสต์จักร อำเภอหลังสวนฝ่ายจำเลยนำสาบาน ซึ่งฝ่ายผู้สาบานได้ปฏิบัติตรงตามคำท้าแล้ว
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่า ฝ่ายจำเลยได้นำนายจักรพงษ์สุวรรณเจริญ และนางเพิ่มพัตร์หรือเพิ่มภัทร สุวรรณเจริญ สาบานตรงตามคำท้าทุกประการ จำเลยทั้งสองจึงต้องแพ้คดีตามที่ท้ากันพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 2 เมษายน 2527จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 115,000บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 100,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้จำเลยที่ 2 ชำระแทนจนครบถ้วนแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า นายกำจัดและนางเพิ่มพัตร์หรือเพิ่มภัทรมิใช่โจทก์ จึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียทำให้คำท้าสาบานไม่ตรงกับประเด็นข้อพิพาทคำท้าสาบานจึงขัดต่อกฎหมายนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงท้ากันว่าถ้านายกำจัดกับนางเพิ่มพัตร์หรือเพิ่มภัทรสาบานตัวตามที่จำเลยทั้งสองเป็นผู้กล่าวนำสาบานตามคำท้าได้ จำเลยทั้งสองยอมแพ้คดี ถ้าไม่กล้าสาบานโจทก์ยอมแพ้คดี การสาบานตนของบุคคลทั้งสองจึงเป็นเงื่อนไขที่คู่กรณีกำหนดขึ้นเพื่อให้ศาลวินิจฉัยข้อแพ้ชนะในคดี แม้นายกำจัดและนางเพิ่มพัตร์หรือเพิ่มภัทรจะมิใช่โจทก์แต่เป็นบุคคลที่จำเลยอ้างว่าเป็นผู้รับชำระหนี้จากจำเลย ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีผลบังคับระหว่างคู่ความทั้งคำท้าสาบานดังกล่าวก็ตรงกับประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้แล้ว ฎีกาจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ตามคำท้าของคู่ความตกลงกันให้นายกำจัด สุวรรณเจริญ มาสาบานตัว แต่ในวันสาบานปรากฏว่านายจักรพงษ์ สุวรรณเจริญ มาสาบานตามคำท้านายจักรพงษ์นั้นมิใช่นายกำจัด นายจักรพงษ์จึงไม่มีสิทธิสาบานเพราะเป็นบุคคลคนละคนกันคำสาบานของนายจักรพงษ์จึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนเป็นโมฆะนั้น เห็นว่า ในวันที่คู่ความตกลงท้ากัน ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 31 ตุลาคม 2529 นั้น คู่ความตกลงกันให้นายกำจัดกับนางเพิ่มพัตร์หรือเพิ่มภัทร สุวรรณเจริญ ซึ่งเป็นสามีภรรยาด้วยกันสาบานตนโดยจำเลยทั้งสองจะเป็นผู้กล่าวนำสาบานตามคำท้า ข้อเท็จจริงจึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่า ทั้งโจทก์และจำเลยทั้งสองต้องรู้จักตัวนายกำจัด และนางเพิ่มพัตร์หรือเพิ่มภัทรมาก่อน ต่อมาในวันนัดสาบานตัว คู่ความนำฝ่ายผู้สาบานไปสาบานณ สถานที่ที่ตกลงท้ากัน ฝ่ายจำเลยนำสาบานซึ่งฝ่ายผู้สาบานได้ปฏิบัติตรงตามคำท้าแล้ว โจทก์ จำเลยทั้งสองนายจักรพงษ์และนางเพิ่มพัตร์หรือเพิ่มภัทรลงลายมือชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2529 โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน เมื่อจำเลยทั้งสองเป็นผู้กล่าวนำสาบานตามคำท้า จำเลยทั้งสองต้องทราบดีว่าบุคคลทั้งสองที่ตนนำให้สาบานตามคำท้านั้นเป็นบุคคลที่จำเลยทั้งสองประสงค์จะให้สาบานตัวตามคำฟ้องหรือไม่ เมื่อจำเลยทั้งสองนำบุคคลทั้งสองให้สาบานตัว โดยไม่ได้โต้แย้งทักท้วงแต่อย่างใด แสดงว่าบุคคลทั้งสองที่สาบานตัวนั้น คนหนึ่งคือนายกำจัดสุวรรณเจริญ หรือนายจักรพงษ์ สุวรรณเจริญหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือนายกำจัดกับนายจักรพงษ์เป็นบุคคลคนเดียวกันแต่มีสองชื่อนั่นเอง ฎีกาจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน.