คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6881/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้เอกสารหมาย จ.3 จะใช้แบบพิมพ์สัญญากู้ยืมและในข้อ 1มีข้อความว่า ผู้กู้ (จำเลย) ได้กู้ยืมเงินของผู้ให้กู้ (โจทก์)ไปเป็นจำนวนเงิน 230,000 บาท ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้กล่าวถึงการชำระดอกเบี้ยและกำหนดเวลาที่จะชำระเงินต้นคืนไว้ดังสัญญากู้ยืมเงินทั่วไป แต่ในสัญญาข้อ 4 กลับมีข้อความระบุไว้ว่า ผู้กู้ได้นำ น.ส.3(ที่สวนมะพร้าว) หมู่ที่ 8 ตำบลท่าชนะ เนื้อที่ 60 ไร่เศษโดยนายสำราญ ศรียาภัยขายที่ดิน2แปลงนี้ให้นายไพรัชแสงฉวางในราคา 750,000 บาท ตกลงจ่ายเงินงวดแรกเป็นเงิน 350,000 บาทและจ่ายเงินในวันทำสัญญานี้เท่ากับเงินกู้คือ 230,000 บาทส่วนที่เหลือจะจ่ายให้เมื่อมีการทำสัญญาซื้อขายกันต่อไปโดยจะทำการโอนที่ดินทั้งสองแปลงนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปีนับจากวันทำสัญญา หากฝ่ายใดผิดสัญญาให้ปรับหนึ่งเท่าของราคาที่ดิน นอกจากโจทก์จะมีพยานบุคคลมาเบิกความยืนยันว่าเป็นสัญญาจะซื้อขายที่ดินทั้งสองแปลงแล้วยังได้ความว่า หลังจากจำเลยรับเงินจำนวน 230,000 บาท ในวันทำเอกสารหมาย จ.3 แล้วจำเลยยังรับเงินจากโจทก์อีกหลายครั้งจนครบจำนวน 350,000 บาทจำเลยก็ได้โอนที่ดินตามสัญญาหนึ่งแปลงให้แก่โจทก์ ดังนี้สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาจะซื้อขายที่ดิน เอกสารหมาย จ.4 เป็นแบบพิมพ์สัญญากู้ยืมระบุจำเลยรับเงินจากโจทก์อีก 2 ครั้ง เอกสารหมาย จ.4 นี้มีความเกี่ยวเนื่องกับเอกสารหมาย จ.3 ดังนั้นการที่โจทก์นำสืบว่า เอกสารหมาย จ.4เป็นการชำระเงินให้จำเลยเพื่อซื้อที่ดิน มิใช่การให้จำเลยกู้ยืมเงินย่อมไม่เป็นการนำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสาร เพราะเป็นการนำสืบถึงมูลเหตุที่จะทำเอกสารหมาย จ.4 ชอบที่จะนำสืบได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินจำนวน 2 แปลงแก่โจทก์ ราคาแปลงละ 375,000 บาท คือที่ดินน.ส.3 เลขที่ 1614 และ น.ส.3 เลขที่ 86 ต่อมาโจทก์ชำระเงินจำนวน 375,000 บาท แก่จำเลยครบถ้วนแล้ว จำเลยได้จดทะเบียนโอนที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 1614 แก่โจทก์ หลังจากนั้นโจทก์ได้ชำระเงินแก่จำเลยอีก 235,000 บาท คงค้าง 140,000 บาท โจทก์จึงมีหนังสือให้จำเลยโอนที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 86 แก่โจทก์จำเลยปฏิเสธไม่ยอมโอนให้ ขอให้บังคับจำเลยโอนที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 86 ตำบลท่าชนะอำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยปลอดจำนองให้แก่โจทก์และให้จำเลยรับเงินค่าที่ดินที่ค้างชำระเป็นเงิน 140,000 บาทจากโจทก์หากจำเลยไม่ไถ่ถอนจำนองและโอนที่ดินให้แก่โจทก์ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาให้จำเลยชำระค่าปรับเป็นเงิน 750,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินต้นดังกล่าว นับจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จหากกรณีไม่เปิดช่องให้จำเลยโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้ตามกฎหมายให้จำเลยคืนเงินค่าที่ดิน 235,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า ไม่เคยตกลงขายที่ดินให้โจทก์ จำเลยกู้เงินโจทก์วงเงิน 750,000 บาท โดยนำที่ดินทั้งสองแปลงตามฟ้องมอบให้โจทก์ทำกินต่างดอกเบี้ย วันทำสัญญาโจทก์มีเงินไม่ครบจึงจ่ายให้เพียง 230,000 บาท ส่วนที่เหลือจะแบ่งจ่ายให้จนครบวงเงินจำเลยรับเงินกู้จากโจทก์หลายครั้งเว้นวันที่ 4 พฤษภาคม 2529 จำเลยไม่ได้รับเงินจากโจทก์จำนวน 15,000 บาท รวมยอดเงินกู้เป็นเงิน595,000 บาท หลังจากนั้นโจทก์ไม่ยอมให้จำเลยกู้ยืมอีก โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ต่อมาจำเลยได้ชำระเงินกู้ให้โจทก์รับไปบางส่วนโดยโจทก์ยอมรับโอนที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 1614 ตีราคา 375,000 บาทเมื่อหักกับยอดเงินกู้ จำเลยคงเป็นหนี้โจทก์ 220,000 บาทจำเลยจึงไม่ต้องโอนที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 86 แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยโอนที่ดิน น.ส.3เลขที่ 86 หมู่ที่ 8 ตำบลท่าชนะ อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานีแก่โจทก์โดยปลอดจำนอง โดยให้จำเลยรับเงิน 140,000 บาท จากโจทก์หากจำเลยไม่ไถ่ถอนจำนองและโอนที่ดินแก่โจทก์ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยชำระเงิน 50,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่บังคับให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกมีว่า เอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ที่โจทก์จำเลยทำนั้นเป็นการจะซื้อขายที่ดินหรือการกู้ยืมเงิน เห็นว่าแม้เอกสารหมาย จ.3จะใช้แบบพิมพ์สัญญากู้ยืมและในข้อ 1 มีข้อความว่า ผู้กู้ (จำเลย)ได้กู้ยืมเงินของผู้ให้กู้ (โจทก์) ไปเป็นจำนวนเงิน 230,000 บาทก็ตาม แต่ก็ไม่ได้กล่าวถึงการชำระดอกเบี้ยและกำหนดเวลาที่จะชำระเงินต้นคืนไว้ดังสัญญากู้ยืมเงินทั่วไป แต่ในสัญญาข้อ 4 กลับมีข้อความระบุไว้ว่า “ผู้กู้ได้นำ น.ส.3 (ที่สวนมะพร้าว) หมู่ที่ 8ตำบลท่าชนะ เนื้อที่ 60 ไร่เศษ โดยนายสำราญ ศรียาภัยขายที่ดิน 2 แปลงนี้ให้นายไพรัช แสงฉวาง ในราคา 750,000 บาท ตกลงจ่ายเงินงวดแรกเป็นเงิน 350,000 บาท และจ่ายเงินในวันทำสัญญานี้เท่ากับเงินกู้คือ 230,000 บาท ส่วนที่เหลือจะจ่ายให้เมื่อมีการทำสัญญาซื้อขายกันต่อไป โดยจะทำการโอนที่ดินทั้งสองแปลงนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี นับจากวันทำสัญญา หากฝ่ายใดผิดสัญญาให้ปรับหนึ่งเท่าของราคาที่ดิน” ดังนี้ตามข้อความดังกล่าวมีความหมายชัดแจ้งว่าจำเลยตกลงขายที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ในราคา750,000 บาท โดยตกลงจ่ายงวดแรก 350,000 บาทและจ่ายในวันทำสัญญา 230,000 บาท ส่วนที่เหลือจะจ่ายเมื่อมีการทำสัญญาซื้อขายและจะโอนที่ดินทั้งสองแปลงให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันทำสัญญา หามีข้อความใดที่แสดงว่าเป็นการกู้ยืมเงินจำนวน 750,000 บาท โดยมอบที่ดินทั้งสองแปลงให้โจทก์ทำกินต่างดอกเบี้ยดังที่จำเลยอ้างไม่ นอกจากในเอกสารหมายจ.3 จะมีข้อความดังกล่าวแล้วฝ่ายโจทก์ยังมีตัวโจทก์ นางวันทนีย์ศรีรักษา ผู้เขียนเอกสารหมาย จ.3 และนายทวี ชาติสุวรรณพยานผู้ลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวมาเบิกความยืนยันว่า เจตนาของโจทก์จำเลยในการทำเอกสารดังกล่าวเป็นการจะซื้อขายที่ดินทั้งสองแปลง หาใช่เป็นการกู้ยืมเงินไม่ ทั้งจะเห็นได้ว่าหลังจากที่จำเลยรับเงินจำนวน 230,000 บาท ในวันทำเอกสารหมาย จ.3 แล้ว จำเลยยังรับเงินจากโจทก์อีกหลายครั้งจนครบจำนวน 350,000 บาท จำเลยก็ได้โอนที่ดินตาม น.ส.3เลขที่ 1614 แก่โจทก์ ซึ่งหากเป็นการกู้ยืมเงินจำนวน 750,000 บาทและโจทก์ยังส่งมอบเงินให้จำเลยไม่ครบจำนวนดังกล่าว ก็ไม่มีเหตุผลอันใดที่จำเลยจะต้องโอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ ที่อ้างว่าจำเลยไม่สามารถชำระเงินกู้คืน จึงโอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้นั้นขัดต่อเหตุผล เพราะจำเลยยังรับเงินไม่ครบ จำนวน 750,000 บาท และในสัญญาก็มิได้ระบุกำหนดเวลาใช้เงินคืนไว้ จึงไม่มีเหตุที่จำเลยจะต้องใช้เงินคืนโจทก์ในขณะนั้น ทั้งเมื่อจำเลยโอนที่ดินแปลงแรกแก่โจทก์แล้ว จำเลยยังรับเงินจากโจทก์ไปอีก 2 ครั้ง คือวันที่ 4 พฤษภาคม 2529จำนวน 15,000 บาท และวันที่ 14 พฤษภาคม 2529 จำนวน 220,000 บาทโดยเขียนลงในแบบพิมพ์สัญญากู้ยืมตามเอกสารหมาย จ.4 โดยจำเลยอ้างว่าจะนำไปไถ่จำนองที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 86 ในข้อนี้นอกจากตัวโจทก์ซึ่งยืนยันว่าเอกสารหมาย จ.4 ไม่ใช่เป็นการให้จำเลยกู้ยืมเงินแล้ว โจทก์ยังมีนายกิตติ เอื้อศรีตระกูลพนักงานธนาคารที่โจทก์ไปกู้ยืมเงินจำนวนดังกล่าวและเป็นผู้เขียนเอกสารหมาย จ.4 มาเบิกความยืนยันว่า โจทก์ได้ระบุวัตถุประสงค์ในการขอกู้เงินจำนวน 200,000 บาท จากธนาคารว่าเพื่อนำเงินไปซื้อที่ดิน และพยานได้สอบถามโจทก์จำเลยแล้วได้ความว่าเงินจำนวนดังกล่าวโจทก์จะนำไปซื้อที่ดินจากจำเลย ดังนี้เห็นได้ว่าเอกสารหมาย จ.4 นี้ มีความเกี่ยวเนื่องกับเอกสารหมาย จ.3ดังนั้นการที่โจทก์นำสืบว่าเอกสารหมาย จ.4 เป็นการชำระเงินให้จำเลยเพื่อซื้อที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 86 มิใช่การให้จำเลยกู้ยืมเงินย่อมไม่เป็นการนำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารดังที่จำเลยอ้าง เพราะเป็นการนำสืบถึงมูลเหตุที่จะหาเอกสารหมาย จ.4ซึ่งอาจแสดงว่าสัญญากู้ยืมนั้นสมบูรณ์หรือไม่ ชอบที่จะนำสืบได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดียิ่งกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ที่โจทก์จำเลยทำนั้นเป็นการจะซื้อขายที่ดิน หาใช่เป็นการกู้ยืมเงินไม่
พิพากษายืน

Share