คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1149/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ธนาคารโจทก์ที่ 1 จัดให้มีการแข่งขันกีฬาภายในระหว่างหน่วยงาน ถือว่าเป็นการกระทำที่อยู่ในวัตถุประสงค์ของโจทก์ที่ 1และเมื่อระเบียบของโจทก์ที่ 1 กำหนดว่าการแข่งขันกีฬาและการฝึกซ้อมกีฬาของพนักงานให้ถือว่าเป็นการปฏิบัติงานของธนาคาร เมื่อโจทก์ที่ลงแข่งขันกีฬาฟุตบอลเพื่อคัดเลือกหาทีม ตัวแทน สำนักงานใหม่ตามคำสั่งของโจทก์ที่ 1 และได้รับบาดเจ็บขณะทำการแข่งขัน จึงเป็นกรณีลูกจ้างประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง จำเลยต้องจ่ายเงินทดแทนเป็นรายเดือนที่ถึงกำหนดแล้วทั้งหมดให้แก่โจทก์ที่ 2 ในคราวเดียวกัน.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 จัดให้มีการแข่งขันกีฬาภายในสำนักงานใหญ่ โจทก์ที่ 1 มีคำสั่งให้โจทก์ที่ 2 ไปเล่นกีฬาด้วยโจทก์ที่ 2 ได้ร่วมแข่งขันกีฬาฟุตบอล และได้รับบาดเจ็บที่ข้อเท้าขณะทำการแข่งขันซึ่งเป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่โจทก์ที่ 1 นายจ้าง แต่สำนักงานกองทุนเงินทดแทนของจำเลยไม่ยอมจ่ายเงินทดแทน ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลย และให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า การที่โจทก์ที่ 2 บาดเจ็บจากการแข่งขันกีฬาไม่ใช่เป็นการประสบอันตรายเนื่องจากทำงานให้แก่โจทก์ที่ 1จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินทดแทนให้แก่โจทก์ แต่หากต้องจ่าย ก็ไม่ต้องจ่ายทีเดียวทั้งหมด คงจ่ายเป็นรายเดือน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกล่าววินิจฉัยมาได้ความว่า โจทก์ที่ 1 มีระเบียบว่าด้วยการแข่งขันกีฬาของธนาคาร โจทก์ที่ 2 เป็นพนักงานของโจทก์ที่ 1 ตำแหน่งพนักงานตรวจสอบ ฝ่ายตรวจสอบ สำนักงานใหญ่ โจทก์ที่ 1 ได้มีคำสั่งให้โจทก์ที่ 2 เป็นนักกีฬาฟุตบอลทีมสำนักงานใหญ่ 1 วันที่16 กรกฎาคม 2531 โจทก์ที่ 2 ลงเล่นฟุตบอล ขณะแข่งขันโจทก์ที่ 2 ได้รับบาดเจ็บต้องออกจากการแข่งขันและถูกพาตัวไปส่งโรงพยาบาลปรากฏว่ากระดูกขาซ้ายหักและข้อเท้าซ้ายเคลื่อนต้องพักรักษาตัวไปทำงานไม่ได้จนถึงวันที่ 17 ตุลาคม 2531 จึงไปทำงานได้ตามปกติคดีคงมีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า การที่โจทก์ที่ 2ประสบอันตรายดังกล่าวนั้น เนื่องมาจากการทำงานให้โจทก์ที่ 1นายจ้างหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์ที่ 2มีระเบียบฉบับที่ 21 ว่าด้วยการแข่งขันกีฬาของธนาคารตามเอกสารหมาย จ.4 ระบุไว้ในข้อ 3 ว่า
“ข้อ 3 วัตถุประสงค์ในการแข่งขันกีฬาของธนาคารมีดังต่อไปนี้
(1) เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่การกีฬาให้แพร่หลายไปในหมู่พนักงานของธนาคารให้สนใจการเล่นกีฬามากยิ่งขึ้น อันเป็นการเพิ่มพูนสุขภาพพลานามัย ฝึกความมีระเบียบวินัย รู้แพ้รู้ชนะสมานสามัคคี และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
(2) ……….
(3) เพื่อเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดของพนักงานจากการปฏิบัติงานประจำวันอันจะส่งผลให้การปฏิบัติงานของพนักงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
(4) เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ภายในและภายนอกของธนาคาร”
จากวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในระเบียบดังกล่าวย่อมเป็นที่เข้าใจและเห็นได้โดยชัดแจ้งว่า กิจกรรมดังกล่าวนั้นเป็นกิจกรรมเพื่อการสร้างสรรค์ให้งานในหน้าที่หลักเพิ่มประสิทธิภาพและเพื่อผลในการประชาสัมพันธ์หน่วยงานของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์ที่ 2 จริงอยู่ที่พระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. 2509 มาตรา 9 ได้บัญญัติวัตถุประสงค์ของโจทก์ที่ 1 ว่า “ธนาคารมีวัตถุประสงค์ให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อส่งเสริมอาชีพหรือการดำเนินงานของเกษตรกรกลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์การเกษตร” แต่ก็ต้องยอมรับกันในหมู่ของผู้มีความรับผิดชอบว่ากิจกรรมตามระเบียบฉบับที่ 21 ของโจทก์ที่ 1นั้น เป็นหนทางที่จะทำให้วัตถุที่ประสงค์ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 9บรรลุผลหรือทำให้วัตถุประสงค์นั้นบังเกิดผลในทางที่เพิ่มพูนมากขึ้น การกระทำหรือกิจกรรมที่เป็นวิถีทางซึ่งทำให้เป็นหมายที่กำหนดไว้บังเกิดผลนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าไม่เป็นการนอกวัตถุประสงค์แต่อย่างใด แต่เห็นว่าเป็นสิ่งที่สมควรปรับปรุงส่งเสริมให้สอดคล้องกับการพัฒนาในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศดังที่กล่าวไว้ในคำปรารภของประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103โจทก์ที่ 1 มีคำสั่งให้โจทก์ที่ 2 เป็นนักกีฬาฟุตบอลทีมสำนักงานใหญ่ 1 ถูกต้องตามระเบียบฉบับที่ 21 ว่าด้วยการแข่งขันกีฬาของธนาคาร ของ 11 และในระเบียบดังกล่าวก็ระบุไว้ชัดเจนตามข้อ 20 ว่า “การแข่งขันกีฬาและการฝึกซ้อมกีฬาของพนักงานธนาคารตามข้อ 11 ให้ถือว่าเป็นการปฏิบัติงานของธนาคาร…”ดังนั้น พนักงานของโจทก์ที่ 1 ไม่ว่าจะปฏิบัติหน้าที่ประจำในตำแหน่งใด เมื่อได้รับคำสั่งให้เป็นนักกีฬาตามระเบียบดังกล่าวก็นับว่าพนักงานผู้นั้นต้องทำหน้าที่เป็นนักกีฬาของโจทก์ที่ 1 ด้วยการที่โจทก์ที่ 2 ลงแข่งขันกีฬาฟุตบอลเพื่อคัดเลือกหาทีมตัวแทนสำนักงานใหญ่ ตามคำสั่งของโจทก์ที่ 1 และได้รับบาดเจ็บ ขณะที่ทำการแข่งขัน จึงเป็นการที่ลูกจ้างประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้นายจ้างตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องอัตราและวิธีเรียกเก็บเงินสมทบการจ่ายเงินทดแทนของสำนักงานกองทุนเงินทดแทน และการอุทธรณ์ ในข้อ 15 แล้ว เหตุที่จำเลยอ้างในอุทธรณ์ว่าจำเลยเรียกเก็บเงินสมทบจากโจทก์ที่ 1 ไม่ได้นำการแข่งขันกีฬามาพิจารณาเพราะนอกวัตถุประสงค์ การที่ศาลแรงงานกลางให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนแก่โจทก์ที่ 2 จึงเป็นการสั่งจ่ายนอกวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุนเงินทดแทนนั้น เห็นว่าวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนเงินทดแทนมีปรากฏให้เห็นชัดเจนในคำปรารภของประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ว่า “สมควรจัดให้มีกองทุนเงินทดแทนเพื่อเป็นหลักประกันแก่ลูกจ้างว่าจะต้องได้รับเงินทดแทนในเมื่อประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย หรือถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงาน” เป็นข้อแสดงให้เห็นหลักการอันสำคัญยิ่งว่าการจัดให้มีกองทุนเงินทดแทนขึ้นนั้น ก็เพื่อเป็นหลักประกันแก่ลูกจ้าง และเมื่อพิจารณาถึงประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราและวิธีเรียกเก็บเงินสมทบ การจ่ายเงินทดแทนของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนและการอุทธรณ์ จะเห็นได้ว่าประกาศดังกล่าวได้กำหนดหมวดในการบังคับตามข้อกำหนดไว้แยกส่วนออกจากกันให้เห็นได้ชัดเจน กล่าวคือระบุหมวด 1 อัตราเงินสมทบ หมวด 2 วิธีเรียกเก็บเงินสมทบหมวด 3 การจ่ายเงินทดแทนของสำนักงานกองทุนเงินทดแทน ซึ่งในหมวด 1 และหมวด 2 นั้น กำหนดสิทธิและหน้าที่ที่มีต่อกันระหว่างนายจ้างกับสำนักงานกองทุนเงินทดแทน มิได้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการจ่ายเงินตามสิทธิของผู้ที่จะได้รับตามหลักการของเงินทดแทนแต่ประการใด สิทธิของลูกจ้างที่จะได้รับเงินทดแทนนั้น มีกำหนดไว้ในหมวด 3 ว่าด้วยการจ่ายเงินทดแทนของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนสิทธิของลูกจ้างที่จะได้รับเงินทดแทนหรือไม่เพียงใดจะต้องพิจารณาจากข้อกำหนดในหมวดนี้ จะนำหลักเกณฑ์ในหมวดอื่นที่มิได้เกี่ยวกับสิทธิของลูกจ้างที่จะได้รับเงินทดแทนมาเป็นข้อพิจารณาว่าสิทธิของลูกจ้างที่มีอยู่ตามข้อกำหนดในหมวดนี้ได้หมดไปนั้นหาต้องด้วยเจตนารมณ์ของการจัดให้มีกองทุนเงินทดแทนเพื่อเป็นหลักประกันแก่ลูกจ้างดังกล่าวข้างต้นตามที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 ข้อ 3 ต้องการให้มีขึ้นไม่ จำเลยยกปัญหาเรื่อง อัตราการจ่ายเงินสมทบของนายจ้างมาเป็นเหตุอ้างเพื่อปฏิเสธการจ่ายเงินให้แก่โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้าง จึงเป็นการไม่ถูกต้องอุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น
จำเลยอุทธรณ์ในประการต่อมาว่า ที่ศาลแรงงานกลางให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนทั้งหมดแก่โจทก์ที่ 2 ในคราวเดียวกันเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราและวิธีเรียกเก็บเงินสมทบการจ่ายเงินทดแทนของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนและการอุทธรณ์ ข้อ 16 วรรคท้าย ให้นำข้อ 54 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16เมษายน 2515 มาใช้บังคับแก่การจ่ายเงินทดแทนของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนโดยอนุโลม ซึ่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 54 กำหนดว่า “เมื่อลูกจ้างประสบอันตราย…ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทนเป็นรายเดือนดังต่อไปนี้
(1) ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน สำหรับกรณีที่ลูกจ้างไม่สามารถทำงานติดต่อกันได้เกินสามวัน…โดยจ่ายนับแต่วันแรกที่ลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้ไปจนตลอดระยะเวลาที่ไม่สามารถทำงานได้…” ตามข้อกำหนดดังกล่าวจะเห็นได้ว่าสำนักงานกองทุนเงินทดแทนที่จำเลยรับผิดชอบอยู่นั้นมีหน้าที่ที่จะต้องจ่ายเงินทดแทนเป็นรายเดือนให้แก่ลูกจ้างที่ประสบอันตรายจนไม่สามารถทำงานติดต่อกันได้เกินสามวัน ตั้งแต่วันแรกที่ลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้ไปจนตลอดระยะเวลาที่ไม่สามารถทำงานได้ กรณีของโจทก์ที่ 2 นั้นได้ประสบอันตรายจนไม่สามารถทำงานได้ตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2531 ถึงวันที่ 14 ตุลาคม 2531 และโจทก์ที่ 2 ได้เรียกร้องให้จำเลยจ่ายตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2531จำเลยแจ้งปฏิเสธว่าโจทก์ที่ 2 ไม่มีสิทธิได้รับตามหนังสือลงวันที่8 มีนาคม 2532 โจทก์ที่ 2 ยื่นฟ้องขอให้จำเลยจ่ายเงินดังกล่าวเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2532 อันเป็นที่เห็นได้ว่าหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องจ่ายเงินทดแทนให้โจทก์ที่ 2 เป็นรายเดือนตามที่กฎหมายกำหนดนั้นได้ล่วงเลยมาแล้วเป็นเวลานาน เมื่อศาลแรงงานกลางพิพากษาว่าจำเลยมีหน้าที่ต้องจ่าย จำเลยจึงมีหน้าที่จะต้องจ่ายเงินทดแทนให้โจทก์ที่ 2 ทั้งหมดที่ถึงกำหนดแล้วในคราวเดียวกันจำเลยจะนำข้อกำหนดในเรื่องการจ่ายเป็นรายเดือนมาเป็นเหตุอ้างอีกนั้น เป็นการกล่าวอ้างในสิ่งที่มิชอบด้วยเหตุผลและหลักการที่ควรจะเป็นไปในทางที่สำนักงานกองทุนเงินทดแทนจะต้องทำหน้าที่เพื่อเป็นหลักประกันแก่ลูกจ้างในอันที่จะได้รับการช่วยเหลือและคุ้มครองจากกองทุน อุทธรณ์ของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share