คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1143/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มีคำสั่งเรื่อง ใช้รถยนต์ในส่วนภูมิภาคห้ามพนักงานซึ่งมิใช่พนักงานขับรถ ขับรถของ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา และให้ใช้รถของ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในการปฏิบัติงานเฉพาะกิจการเท่านั้นและข้อบังคับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคว่าด้วยระเบียบพนักงานข้อ 43กำหนดว่า “การลงโทษปลดออกนั้น จะกระทำได้เมื่อพนักงานผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อ 41 และข้อ 42 แต่โทษยังไม่ถึงกับจะต้องถูกไล่ออก หรือถึงกับจะต้องถูกไล่ออก แต่มีเหตุผลอันควรลดหย่อน” การที่โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตำแหน่งพนักงานช่างนำรถของ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ไปปักเสา 2 ต้น และยกหม้อแปลงขึ้นบนคานนั่งร้านหม้อแปลงให้แก่เอกชน การกระทำของโจทก์ดังกล่าวนอกจากจะเป็นการผิดข้อบังคับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคว่าด้วยระเบียบพนักงาน หมวด 5 เรื่องวินัย ข้อ 38(3) ที่กำหนดว่า “ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบหรือวิธีปฏิบัติของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ห้ามขัดขืนหรือหลีกเลี่ยง…”แล้ว ยังต้องด้วยข้อ 41(3) ที่กำหนดว่า “ทุจริตต่อหน้าที่การงาน”ด้วย เพราะเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับผู้อื่นซึ่งมีโทษถึงไล่ออก ดังนั้น การที่จำเลยลงโทษโจทก์โดยมีคำสั่งปลดออกจึงเป็นการลงโทษที่ชอบด้วยระเบียบข้อบังคับดังกล่าวแล้วไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยปลดโจทก์ออกจากงาน โดยโจทก์มิได้กระทำความผิด เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์เสียหายขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิมหรือใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า โจทก์นำเอารถยกติดบูมสามขาของจำเลยไปดำเนินการปักเสาแรงสูง และยกหม้อแปลงให้แก่โรงเรียนม่วงมิตรวิทยาคมกับนำทรัพย์สินซึ่งเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าของจำเลยไปติดตั้งให้แก่โรงเรียนดังกล่าวโดยพลการ และมีเจตนาเบียดบังทรัพย์สินของจำเลยเป็นประโยชน์ส่วนตัว การกระทำของโจทก์เป็นการประพฤติผิดระเบียบข้อบังคับ และถือว่าโจทก์ทุจริต จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์โดยปลดออกจากงาน ซึ่งชอบด้วยระเบียบข้อบังคับแล้วไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์นำรถของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไปใช้โดยพลการ เป็นการผิดระเบียบข้อบังคับของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่ห้ามพนักงานซึ่งมิใช่พนักงานขับรถขับรถของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาและให้ใช้รถของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในการปฏิบัติงานเฉพาะกิจการเท่านั้น ตามคำสั่งของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เรื่อง ใช้รถยนต์ในส่วนภูมิภาค การที่โจทก์นำรถไปปักเสา 2 ต้น และยกหม้อแปลงขึ้นบนคานนั่งร้านหม้อแปลงให้แก่ผู้รับเหมาในโรงเรียนม่วงมิตรวิทยาคม เป็นการผิดข้อบังคับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคว่าด้วยระเบียบพนักงาน หมวด 5 เรื่องวินัย ข้อ 38(3) จึงมีเหตุแห่งการเลิกจ้าง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปัญหาว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมีคำสั่งปลดออกจากงานเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า คำสั่งปลดโจทก์ออกจากงานนั้นขัดต่อระเบียบข้อบังคับของจำเลยจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเห็นว่า ตามข้อบังคับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคว่าด้วยระเบียบพนักงานข้อ 43 กำหนดว่า “การลงโทษปลดออกนั้นจะกระทำได้ เมื่อพนักงานผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อ 41 และข้อ 42 แต่โทษยังไม่ถึงกับจะต้องถูกไล่ออก หรือถึงกับจะต้องถูกไล่ออกแต่มีเหตุผลอันควรลดหย่อน” การที่โจทก์นำรถของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไปปักเสา 2 ต้น และยกหม้อแปลงขึ้นบนคานนั่งร้านหม้อแปลงให้แก่ผู้รับเหมาในโรงเรียนม่วงมิตรวิทยาคม ตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเป็นยุติแล้วนั้น การกระทำของโจทก์ดังกล่าว นอกจากจะเป็นการผิดข้อบังคับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคว่าด้วยระเบียบพนักงานหมวด 5 เรื่องวินัย ข้อ 38(3) ที่กำหนดว่า “ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบหรือวิธีปฏิบัติของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ห้ามขัดขืนหรือหลีกเลี่ยง…” แล้ว การกระทำของโจทก์ดังกล่าวนั้นยังต้องด้วยข้อ 41(3) ที่กำหนดว่า “ทุจริตต่อหน้าที่การงาน” ด้วย เพราะการกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับผู้อื่น คือผู้รับเหมาที่โจทก์นำรถของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไปปักเสาและยกหม้อแปลงขึ้นบนคานนั่งร้านให้ซึ่งมีโทษถึงไล่ออก ดังนั้น การที่จำเลยลงโทษโจทก์โดยมีคำสั่งปลดออกนั้น เป็นการลงโทษที่ชอบด้วยระเบียบข้อบังคับดังกล่าวแล้วไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
พิพากษายืน.

Share