คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 57/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คดีที่ศาลแรงงานกลางส่งสำนวนคดีไปให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าคดีนั้นอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานกลางหรือไม่ เมื่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานวินิจฉัยว่าเป็นคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานกลางแล้วคำวินิจฉัยดังกล่าวย่อมถึงที่สุดต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 31.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีนางกาญจนาถาวร เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน เมื่อประมาณต้นเดือนตุลาคม 2530 โจทก์ทั้งสามได้สมัครไปทำงานในต่างประเทศกับจำเลยโดยจำเลยซึ่งมีฐานะเป็นตัวแทนของบริษัทอัลลุลัยยาการที่ดินและบริการจำกัด ประเทศการ์ต้า นายจ้างได้รับสมัครโจทก์ทั้งสามไว้ และในวันที่13 พฤศจิกายน 2530 จำเลยได้จัดส่งโจทก์ทั้งสามไปทำงานกับนายจ้างดังกล่าวที่ประเทศการ์ต้า และโจทก์ทั้งสามได้ทำสัญญาจ้างกับนายจ้างดังกล่าวโดยจำเลยกระทำการเป็นตัวแทน โจทก์ทั้งสามทำงานในตำแหน่งช่างปูนแต่ละคนได้รับเงินเดือน ๆ ละ 1,000 ริยัลและสัญญาจ้างมีกำหนด 2 ปี ในการนี้จำเลยได้เรียกเก็บเงินค่าบริการที่ได้จัดส่งโจทก์ทั้งสามไปทำงานในต่างประเทศเป็นเงินคนละ 35,000บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 105,000 บาท โดยได้มอบให้นางธนาวรรณเค้าโสภณ ตัวแทนของจำเลยรับไปเรียบร้อยแล้ว จำเลยได้ส่งโจทก์ทั้งสามไปทำงานกับนายจ้างดังกล่าวที่ประเทศการ์ต้าเป็นเวลา2 เดือน โดยนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งสามตามสัญญาจ้างและนายจ้างได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสามทั้งที่โจทก์ทั้งสามไม่มีความผิดและนายจ้างดังกล่าวได้ส่งโจทก์ทั้งสามกลับประเทศไทยเมื่อวันที่ 30เมษายน 2531 โจทก์ทั้งสามจึงได้ไปติดต่อกับจำเลยในฐานะผู้จัดส่งและเป็นตัวแทนของนายจ้างดังกล่าว เพื่อขอค่าแรงงานที่ยังไม่ได้รับคนละ 2 เดือน เป็นเงินคนละ 2,000 ริยัล และขอค่าบริการที่จำเลยเรียกเก็บจากโจทก์ทั้งสามคนละ 35,000 บาท คืนจากจำเลย แต่จำเลยเพิกเฉย จึงขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าจ้างแรงงานให้แก่โจทก์ทั้งสามเป็นเงินคนละ 2,000 ริยัล (ประมาณ 12,000 บาท) พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยคืนค่าบริการแก่โจทก์ทั้งสามเป็นจำนวนเงินคนละ 35,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสามไม่สามารถทำงานได้ครบกำหนดตามสัญญาจ้าง 2 ปี คนละ 132,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการหลักในการธุรกิจท่องเที่ยว และเป็นผู้ติดต่อหรือนายหน้าในการจำหน่ายตั๋วเครื่องบินต่างประเทศ ทั้งยังให้ผู้อื่นเช่าใบอนุญาตจัดหางาน จำเลยจึงมิใช่ผู้ประกอบกิจการจัดหางานในต่างประเทศตามที่โจทก์ทั้งสามกล่าวอ้าง จำเลยไม่ได้รับสมัครงานโจทก์ทั้งสามและไม่ได้รับเงินตามที่โจทก์ทั้งสามฟ้อง แต่โจทก์ทั้งสามไปสมัครงานและชำระเงินให้แก่นางธนาวรรณหรือนางสาวธนาวรรณ เค้าโสภณ บุคคลภายนอกซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับจำเลยแต่อย่างใด ในการติดต่อกับบริษัทอัลลุลัยยาการที่ดินและบริการ จำกัด การรับสมัครงาน การติดต่อสถานทูต การติดต่อกรมแรงงาน การรับเงินจำนวน 105,000 บาท และการจัดส่งไปทำงานในต่างประเทศนั้น เป็นเรื่องของนางธนาวรรณแต่ผู้เดียวจำเลยมิได้เป็นตัวแทนของบริษัทดังกล่าวซึ่งเป็นนายจ้างในต่างประเทศ การทำข้อตกลงตามสัญญาจ้างโจทก์ทั้งสามที่ทำไว้กับกรมแรงงานนั้นเป็นเรื่องของนางธนาวรรณเป็นผู้ดำเนินการทั้งสิ้น ที่โจทก์ทั้งสามอ้างว่าได้ทำงาน 2 เดือน เป็นค่าจ้างคนละ 2,000 ริยัล หรือคนละ 12,000 บาทนั้น จำเลยไม่ต้องรับผิดเพราะจำเลยไม่ได้เป็นนายจ้างและไม่ได้จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งสาม จำเลยไม่ได้เป็นคู่สัญญาและไม่ได้ผิดสัญญาจ้าง โจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเพราะโจทก์ฟ้องผิดตัว ทั้งตามฟ้องโจทก์ก็ได้บรรยายว่าได้มอบเงินให้แก่นางธนาวรรณ ไม่ได้ให้แก่จำเลยแต่อย่างใดโจทก์ทั้งสามกับจำเลยไม่ได้เป็นลูกจ้างและนายจ้างต่อกันตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 แต่เป็นเรื่องตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2528 ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะไม่ได้บรรยายความเป็นมาระหว่างนางธนาวรรณกับบริษัทนายจ้างในต่างประเทศและจำเลยกับนางธนาวรรณ เป็นการกล่าวอ้างอย่างลอย ๆ ปราศจากเหตุผล ความเป็นมาของโจทก์ทั้งสามกับจำเลยก็ไม่ชัดแจ้งวันที่รับเงินเมื่อใดรับสมัครงานที่ไหน รายละเอียดในสัญญาเป็นอย่างไร เป็นสัญญาอะไรก็ไม่แน่นอน การคิดดอกเบี้ยก็มิได้บรรยายมาในฟ้อง ทั้งมิได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับค่าเสียหายว่าเสียหายอย่างไร ทำให้จำเลยไม่สามารถเข้าใจสภาพแห่งคำฟ้องและที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ทั้งสามชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนจำเลยด้วย
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม โจทก์ทั้งสามสมัครไปทำงานในต่างประเทศและชำระเงินค่าบริการกับจำเลยคนละ35,000 บาท และจำเลยเป็นตัวแทนของบริษัทอัลลุลัยยาการที่ดินและบริการ จำกัด จำเลยมีวัตถุประสงค์จัดหางานในต่างประเทศ และจัดส่งคนงานไปทำงานในต่างประเทศ คดีของโจทก์ทั้งสามอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานกลาง จำเลยไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความจากโจทก์ทั้งสาม จำเลยซึ่งเป็นตัวแทนของนายจ้างในต่างประเทศต้องรับผิดคืนเงินค่าบริการที่จำเลยรับไว้จากโจทก์ทั้งสามและต้องจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายแทนนายจ้างต่างประเทศ พร้อมด้วยค่าเสียหาย พิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 67,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นของโจทก์แต่ละคน นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะการบรรยายฟ้องของโจทก์ไม่ชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน เพราะเป็นการสรุปผลและคาดคะเนเอาเองทำให้จำเลยเสียเปรียบและหลงต่อสู้คดีนั้นพิเคราะห์แล้ว โจทก์ทั้งสามได้บรรยายฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามได้สมัครไปทำงานในต่างประเทศกับจำเลยโดยจำเลยมีฐานะเป็นตัวแทนของบริษัทอัลลุลัยยาการที่ดินและบริการจำกัด ประเทศการ์ต้า นายจ้างได้รับสมัครโจทก์ทั้งสามไว้ และในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2530 จำเลยได้จัดส่งโจทก์ทั้งสามไปทำงานกับนายจ้างดังกล่าวที่ประเทศการ์ต้า โจทก์ทั้งสามได้ทำสัญญาจ้างกับนายจ้างดังกล่าวโดยจำเลยเป็นตัวแทนของนายจ้างดังกล่าวนั้นโจทก์ทั้งสามทำงานในตำแหน่งช่างปูน โดยแต่ละคนได้รับเงินเดือน ๆ ละ1,000 ริยัล และสัญญาจ้างมีกำหนด 2 ปี ในการนี้จำเลยได้เรียกเก็บเงินค่าบริการที่ได้จัดส่งโจทก์ทั้งสามไปทำงานในต่างประเทศเป็นเงินคนละ 35,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 105,000 บาทโดยได้มอบให้นางธนาวรรณ เค้าโสภณ ตัวแทนของจำเลยรับไปเรียบร้อยแล้ว จำเลยได้ส่งโจทก์ทั้งสามไปทำงานกับนายจ้างดังกล่าวเป็นเวลา 2 เดือน โดยนายจ้างไม่ได้จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งสามตามสัญญาจ้าง และนายจ้างดังกล่าวได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสามทั้งที่โจทก์ทั้งสามไม่มีความผิด แล้วส่งกลับประเทศไทย โจทก์ทั้งสามได้ไปติดต่อกับจำเลยในฐานะผู้จัดส่งและตัวแทนของนายจ้างดังกล่าวเพื่อขอค่าแรงงานที่ยังไม่ได้รับคนละ 2 เดือนเป็นเงินคนละ 2,000ริยัล และขอค่าบริการที่จำเลยเรียกเก็บจากโจทก์ทั้งสามคืนคนละ35,000 บาท แต่จำเลยเพิกเฉย จึงขอให้ศาลบังคับ ดังนี้ เห็นว่าคำฟ้องของโจทก์ทั้งสามได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ทั้งสาม และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว จึงไม่เป็นฟ้องที่เคลือบคลุมดังที่จำเลยอ้าง อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานกลางนั้น ได้ความว่า ศาลแรงงานกลางได้ส่งสำนวนคดีนี้ไปให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยแล้ว ปรากฏว่าอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยไว้ตามคำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางที่ 24/2532 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2532ว่า คดีตามฟ้องอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานกลางดังนั้น คำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางดังกล่าวย่อมถึงที่สุดตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 9 วรรคสอง จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายืน.

Share