แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 บัญญัติแต่เพียงว่าการโอนสิทธิเรียกร้องต้องทำเป็นหนังสือจึงจะสมบูรณ์ และการโอนนั้นจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้ หรือลูกหนี้ยินยอมด้วยในการโอนนั้นโดยได้ทำคำบอกกล่าวหรือความยินยอมเป็นหนังสือ มิได้บัญญัติว่าหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องนั้นจะต้องลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอน ฉะนั้น การโอนสิทธิเรียกร้องที่ได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนฝ่ายเดียวจึงเป็นการสมบูรณ์.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน ก.จ.18530 จากบริษัทบางกอกอินเวสท์เมนท์ จำกัดเป็นเงิน 429,000 บาท และเป็นผู้เอาประกันภัยรถคันนั้นไว้กับจำเลยโดยจำเลยต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 230,000 บาทเพื่อความสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ที่ประกันภัยไว้ โดยให้โจทก์ที่ 2 เป็นผู้รับผลประโยชน์ ครั้นเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2525ซึ่งอยู่ในระหว่างอายุสัญญาประกันภัยรถยนต์คันที่เอาประกันภัยไว้ถูกคนร้ายลักไป โจทก์ที่ 1 แจ้งให้จำเลยทราบแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมชำระค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 230,000 บาทนับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสองทำหนังสือสละสิทธิในการรับค่าสินไหมทดแทนไปแล้วจึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ไม่เสียหายตามฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 264,500 บาทแก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน231,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในต้นเงิน230,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์จำเลยนำสืบฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์บรรทุก 10 ล้อ หมายเลขทะเบียน ก.จ.18530 จากบริษัทบางกอกอินเวสท์เม้นท์ จำกัด เป็นเงิน429,000 บาท โดยตกลงจะชำระค่าเช่าซื้อเป็นรายเดือนรวม 20 เดือน ๆ ล21,450 บาท ต่อมาวันที่ 30 กรกฎาคม 2524 ซึ่งอยู่ในระหว่างที่โจทก์ที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบจำนวน โจทก์ที่ 1 เอารถยนต์คันนั้นประกันภัยไว้กับจำเลยโดยให้โจทก์ที่ 2 เป็นผู้รับประโยชน์ครั้นเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2525 ซึ่งอยู่ในระหว่างอายุสัญญาประกันภัย ในขณะที่รถยนต์คันที่เอาประกันภัยไว้กับจำเลยจอดอยู่ที่บ้านเลขที่ 9/8 ถึง 9/9 ถนนพหลโยธิน แขวงคลองถนน เขตบางเขนกรุงเทพมหานคร มีคนร้ายลักไป โจทก์ที่ 1 ได้แจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจและแจ้งให้จำเลยทราบแล้ว จำเลยรับว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โดยจะต้องให้บริษัทบางกอกอินเวสท์เม้นท์ จำกัดเป็นผู้รับเงินเพราะโจทก์ที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อยังไม่ครบ โจทก์ทั้งสองจึงต่างทำหนังสือขอสละสิทธิในการรับค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทบางกอกอินเวสท์เม้นท์ จำกัด เป็นผู้รับตามหนังสือขอสละสิทธิเอกสารหมาย ล.1 และ ล.3
ที่จำเลยฎีกาว่า เมื่อโจทก์ทั้งสองได้ทำหนังสือขอสละสิทธิในการรับค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทบางกอกอินเวสท์เม้นท์ จำกัดเป็นผู้รับตามหนังสือขอสละสิทธิเอกสารหมาย ล.1 ล.3 แล้ว โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 306 บัญญัติไว้แต่เพียงว่า การโอนสิทธิเรียกร้องต้องทำเป็นหนังสือจึงจะสมบูรณ์ และการโอนนั้นจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้ หรือลูกหนี้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น โดยได้ทำคำบอกกล่าวหรือความยินยอมเป็นหนังสือหาได้บัญญัติว่าหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องนั้นจะต้องลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอนไม่ ฉะนั้นการโอนสิทธิเรียกร้องที่ได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนฝ่ายเดียวก็เป็นการสมบูรณ์ตามบทบัญญัติมาตรานี้ เมื่อได้พิเคราะห์เอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.3แล้ว จะเห็นได้ว่าเป็นหนังสือที่โจทก์ทั้งสองผู้เป็นเจ้าหนี้ทำขึ้นด้วยเจตนาโอนสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนที่มีต่อจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ของโจทก์ทั้งสองให้แก่บริษัทเงินทุนบางกอกอินเวสท์เม้นท์จำกัด โดยบอกกล่าวให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นให้แก่บริษัทเงินทุนบางกอกอินเวสท์เม้นท์ จำกัด ถือได้ว่าการโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้ได้ทำเป็นหนังสือเป็นการสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้วโจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง กรณีไม่จำเป็นจะต้องวินิจฉัยฎีกาข้อต่อไปของจำเลยอีก ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสอง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง.