คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3756/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นผู้ได้รับอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางด้วยรถโดยสารได้ยื่นหนังสือถึงจำเลยซึ่งเป็นนายทะเบียนประจำจังหวัดขอถอนรถโดยสารบางคันออกจากบัญชี ขส.บ.11 ถือได้ว่าโจทก์ประสงค์จะเลิกใช้รถที่จดทะเบียนแล้วตามมาตรา 79 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 เมื่อไม่ปรากฏว่ามีระเบียบหรือข้อบังคับใดมาแสดงให้เห็นว่าจำเลยต้องปฏิบัติตาม โดยจะพิจารณาสั่งเป็นอย่างอื่นที่เหมาะสมไม่ได้ ดังนั้น การที่จำเลยไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนรถร่วมออกจากบัญชี ขส.บ.11 จะถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบไม่ได้ เมื่อรถที่โจทก์นำเข้ามาร่วมรับส่งผู้โดยสารได้พากันหยุดแล่นรับส่งผู้โดยสาร ถือได้ว่าโจทก์ปฏิบัติผิดเงื่อนไขที่นายทะเบียนกำหนดตามมาตรา 31(1) แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522จำเลยมีอำนาจตามมาตรา 46 สั่งโจทก์ให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามเงื่อนไขจำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ได้รับอนุญาตประกอบการขนส่งประเภทรถโดยสารประจำทางรวม 2 สายในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี สายที่หนึ่งจากวัดบางปลาหมอถึงวัดชายทุ่ง สายที่สองจากตลาดโพธิ์พระยาถึงโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช ปรากฏตามใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร เอกสารหมาย จ.3 และ จ.5 จำเลยรับราชการในตำแหน่งขนส่งจังหวัดสุพรรณบุรี และเป็นกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2531โจทก์ยื่นคำขอเลิกใช้รถคันหมายเลขทะเบียน 10-0236 สพ 70 และ10-0877 สพ 70 จำเลยได้สั่งชลอการถอนรถทั้งสองคันอ้างว่าโจทก์ไม่ได้ให้เหตุผลและความจำเป็น ตามหนังสือ เรื่อง การถอนรถออกจากบัญชี ขส.บ.11 เส้นทางสายที่ 1 และสายที่ 2 เอกสารหมาย จ.9ต่อมาวันที่ 19 เมษายน 2531 โจทก์ได้แจ้งขอเลิกใช้รถทั้งสองคันดังกล่าวอีก โดยให้เหตุผลและความจำเป็นตามหนังสือ เรื่อง ขอถอนรถออกจากบัญชี ขส.บ.11 สายที่ 1 และสายที่ 2 เอกสารหมาย จ.10จำเลยก็ยังไม่อนุญาต ต่อมาวันที่ 10 พฤษภาคม 2531 รถร่วมทั้ง 2 สายจำนวน 21 คัน พากันหยุดไม่ยอมแล่นรับส่งผู้โดยสาร จำเลยได้สั่งให้โจทก์จัดหารถนำเข้าแล่นรับส่งคนโดยสารแทนรถที่หยุด โดยกำหนดให้ปฏิบัติตามคำสั่งภายใน 7 วัน คดีมีปัญหาข้อกฎหมายวินิจฉัยว่าการที่จำเลยไม่อนุญาตให้ถอนรถ 2 คัน ออกจากบัญชี ขส.บ.11เส้นทางสายที่ 1 และสายที่ 2 ดังกล่าว และการที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์จัดหารถนำเข้าแล่นรับส่งผู้โดยสารแทนรถที่หยุดภายใน7 วันนั้น เป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าการที่โจทก์ยื่นหนังสือขอถอนรถคันหมายเลขทะเบียน 10-0236 สพ 70 และ 10-0877 สพ 70 ออกจากบัญชีขส.บ.11 เส้นทางสายที่ 1 วัดบางปลาหมอ-วัดชายทุ่ง และเส้นทางสายที่ 2 ตลาดโพธิ์พระยา-โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช นั้นพอแปลได้ว่า โจทก์ประสงค์ที่จะเลิกใช้รถที่จดทะเบียนแล้ว ตามมาตรา 79 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 แต่ตามบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะเลิกใช้รถที่จดทะเบียนแล้วมีหน้าที่แจ้งเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบ โดยโจทก์จะต้องนำแผ่นป้ายเลขทะเบียนรถคืนแก่นายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่เลิกใช้รถ มิฉะนั้นจะต้องได้รับโทษตามมาตรา 143 นอกจากนี้โจทก์ไม่มีระเบียบหรือข้อบังคับใดมาแสดงให้เห็นว่า เมื่อโจทก์ยื่นหนังสือเลิกใช้เพื่อขอถอนรถร่วมในสัมปทานของโจทก์ออกจากบัญชี ขส.บ.11 จำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำขอของโจทก์โดยจำเลยจะพิจารณาสั่งเป็นอย่างอื่นตามที่เหมาะสมไม่ได้ ดังนั้น การที่จำเลยไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนรถร่วมออกจากบัญชี ขส.บ.11 ดังกล่าว จะถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบไม่ได้ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยทราบอยู่แล้วว่าการที่รถร่วมหยุดแล่นรับส่งผู้โดยสารมิได้เกิดจากการกระทำของโจทก์ แต่จำเลยกลับสั่งให้โจทก์นำรถเข้าแล่นรับส่งผู้โดยสารแทนรถที่หยุดแล่น โดยทราบอยู่แล้วว่า โจทก์ไม่ได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไข และไม่อาจปฏิบัติตามคำสั่งนั้นได้ เพื่อแกล้งให้โจทก์ต้องจัดหารถใหม่ทำให้โจทก์เสียหายนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร ตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.5 ซึ่งในเอกสารดังกล่าวได้กำหนดให้โจทก์ปฏิบัติตามกฎหมาย และเงื่อนไขที่นายทะเบียนกำหนดตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522ได้ความว่า รถที่โจทก์นำเข้ารับส่งผู้โดยสารตามใบอนุญาตประกอบการขนส่งรถประจำทาง เอกสารหมาย จ.3 และ จ.5 ได้พากันหยุดแล่นรับส่งผู้โดยสาร ถือได้ว่า โจทก์ได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขที่นายทะเบียนกำหนดตามมาตรา 31(1) แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522ในใบอนุญาตดังกล่าว จำเลยในฐานะนายทะเบียนอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวสั่งโจทก์ให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามเงื่อนไขในมาตรา 31 ได้โดยชอบ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองที่ให้ยกฟ้องโจทก์ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share