คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3525/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้ร้องเคยยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่โจทก์นำยึดทั้งหมด6 รายการ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ถอนการยึดทรัพย์เฉพาะบางรายการคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ ผู้ร้องยื่นคำร้องเป็นคดีนี้ขอให้ปล่อยทรัพย์รายเดียวกันกับทรัพย์ในคดีก่อนที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกคำร้องไปแล้ว ดังนี้คำร้อง ของ ผู้ร้องในคดีก่อนกับคำร้อง ของ ผู้ร้องในคดีนี้ต่างก็ได้ร้องขอให้ศาลมีคำสัปล่อยทรัพย์ที่โจทก์นำยึดโดยอ้างว่าเป็นทรัพย์ของผู้ร้องซึ่งเป็นทรัพย์รายเดียวกัน ประเด็นแห่งคดีทั้งสองเป็นประเด็นอย่างเดียวกันคู่ความทั้งสองฝ่ายก็เป็นคู่ความรายเดียวกัน ทั้งศาลชั้นต้นก็ได้เคยมีคำพิพากษาชี้ขาดในประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีไปแล้ว คำร้องของผู้ร้องในคดีนี้จึงต้องห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่อีกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องมาจากศาลพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ตามกำหนด โจทก์จึงขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดี และนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยทั้งสองรวม 6 รายการ เพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยทั้งสองจำนวน 6 รายการ แต่มีผู้ร้องขัดทรัพย์ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ถอนการยึดทรัพย์บางรายการ ส่วนทรัพย์ที่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งคืน คือ โต๊ะเหล็ก 5 ตัว ตู้เหล็ก 2 ตู้ตู้เหล็ก 4 ลิ้นชัก 2 ตู้ และเก้าอี้ 4 ตัว เป็นของผู้ร้อง ขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด โจทก์ให้การว่า ผู้ร้องเคยยื่นคำร้องมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ไม่ได้นำเอกสารเกี่ยวกับทรัพย์ดังกล่าวมาแสดง ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้ยกคำร้อง ของ ผู้ร้องไปแล้ว ผู้ร้องจึงมายื่นคำร้องเป็นคดีนี้อีก ขอให้ยกคำร้อง ศาลชั้นต้นยกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่ผู้ร้องเคยยื่นคำร้อง ขอให้ปล่อยทรัพย์ตามคำร้องต่อศาลชั้นต้น โดยศาลชั้นต้นเห็นว่าพยานหลักฐานของผู้ร้องที่นำมาสืบรับฟังไม่ได้ว่าทรัพย์ตามคำร้องเป็นของผู้ร้องและมีคำพิพากษาให้ยกคำร้องเฉพาะทรัพย์ดังกล่าวเสียแล้วนั้นผู้ร้องจะมายื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ดังกล่าวต่อศาลชั้นต้นใหม่ได้อีกหรือไม่ เห็นว่า ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังมาว่า ผู้ร้องเคยยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่โจทก์นำยึดครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2528ต่อมาเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2529 ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้ถอนการยึดทรัพย์เฉพาะเครื่องปรับอากาศยี่ห้อไดกิ้น ขนาด 12,000บี.ที.ยู. จำนวน 1 เครื่อง เครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยแคร่ยาวประมาณ18 นิ้ว ยี่ห้อโอลิมเปียจำนวน 1 เครื่อง เก้าอี้บุนวม ชนิดหมุนได้จำนวน 1 ตัว โต๊ะเขียนหนังสือเหล็กขนาด 5 ฟุต จำนวน 1 ตัว ตามบัญชีทรัพย์ของเจ้าพนักงานบังคับคดีลงวันที่ 14 สิงหาคม 2528คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ ผู้ร้องได้มายื่นคำร้องเป็นคดีนี้ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2529 โดยขอให้ปล่อยทรัพย์รายเดียวกันกับทรัพย์ในคดีก่อนที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกคำร้องไปแล้วนั้นอีก ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า คำร้อง ของ ผู้ร้องในคดีก่อนกับคำร้อง ของ ผู้ร้องในคดีนี้ ต่างก็ได้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งปล่อยทรัพย์ที่โจทก์นำยึดโดยอ้างว่าเป็นทรัพย์ของผู้ร้องซึ่งเป็นทรัพย์รายเดียวกัน ประเด็นแห่งคดีทั้งสองเรื่องก็มีอยู่ว่าทรัพย์ที่โจทก์นำยึดมาขายทอดตลาดนั้นเป็นของผู้ร้องหรือไม่ซึ่งเป็นประเด็นอย่างเดียวกัน คู่ความทั้งสองฝ่ายก็เป็นคู่ความรายเดียวกัน ทั้งศาลชั้นต้นก็ได้เคยมีคำพิพากษาชี้ขาดในประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีไปแล้ว ดังนั้นคำร้อง ของ ผู้ร้องในคดีนี้จึงต้องห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่อีกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 144”
พิพากษายืน

Share