คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3062/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ความผิดฐานยักยอกและรับของโจรเกี่ยวเนื่องกันจึงรับอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ ดังนี้คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้เท่านั้น มิใช่เป็นการอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ส่วนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่า ความผิดฐานยักยอกไม่มีมูลนั้น มีผลเป็นการพิพากษายกฟ้องโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 167 อันเป็นคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีอย่างหนึ่ง การอุทธรณ์คำสั่งจึงต้องอาศัยหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 193 ทวิ มาใช้บังคับด้วย ดังนี้ เมื่อโจทก์ฟ้องความผิดฐานยักยอกและรับของโจรต่างกรรมต่างวาระกัน เมื่อความผิดฐานยักยอกต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์โจทก์ในความผิดฐานยักยอกไว้ด้วยจึงไม่ชอบ สำหรับความผิดฐานรับของโจร เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งหกร่วมกันรับรถของโจทก์ไว้โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำผิดฐานยักยอก ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้องโดยฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมิได้กระทำผิดฐานยักยอก การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานรับของโจร ดังนี้ จึงเป็นการยกฟ้องโดยอาศัยข้อเท็จจริงการที่โจทก์ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์มีมูลความผิดฐานรับของโจรจึงเป็นการฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการมอบอำนาจให้จำเลยที่ 4ทำหนังสือสัญญาเช่าซื้อรถตักดินยี่ห้อโคมัตสุ จำนวน 1 คันไปจากโจทก์ในราคา 480,000 บาท โดยชำระเงินในวันทำสัญญาเช่าซื้อจำนวน 180,000 บาท ส่วนที่เหลือผ่อนชำระเป็นงวด ๆ งวดละเดือนติดต่อกันรวม 12 งวด หากผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นอันสิ้นสุดโดยพลัน ต่อมาจำเลยที่ 1ผิดนัดไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ สัญญาเช่าซื้อจึงสิ้นสุดลงจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนให้แก่โจทก์แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กลับสมคบกับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 เบียดบังเอารถคันดังกล่าวโดยทุจริต โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้มอบรถให้จำเลยที่ 5 ครอบครองและใช้ประโยชน์ พร้อมทั้งอ้างความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถคันดังกล่าว ต่อมาโจทก์ได้ออกติดตามนำรถคันดังกล่าวกลับคืนมา จำเลยที่ 6 ร่วมกันกับจำเลยที่ 1ถึงที่ 5 ได้นำความเท็จแจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่า จำเลยที่ 5เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถคันดังกล่าว โดยจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 5 ได้ซื้อรถคันดังกล่าวมาจากโจทก์และจำเลยที่ 5 โดยจำเลยที่ 4 ยังได้ยื่นคำร้องขอรับรถจากพนักงานสอบสวน อ้างว่าจำเลยที่ 5 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถคันดังกล่าว โดยซื้อมาจากโจทก์ตามที่จำเลยที่ 6 แจ้งความร้องทุกข์ไว้ จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ได้ร่วมกันหรือพยายามร่วมกันกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รับรถของโจทก์ไว้โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานยักยอก ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ซึ่งทราบดีว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้พนักงานของโจทก์ติดตามเอารถคืน จำเลยที่ 6ได้นำข้อความอันเป็นเท็จแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่าผู้รับมอบอำนาจโจทก์กับพวกได้ร่วมกันลักรถตักของจำเลยที่ 5ขอให้พนักงานสอบสวนยึดอายัดรถคันดังกล่าวพร้อมรถเทรลเลอร์และหางรถเทรเลอร์ของโจทก์ไว้ ในการนี้จำเลยที่ 4 และที่ 6ได้ให้การเท็จต่อพนักงานสอบสวนคดีดังกล่าวว่า จำเลยที่ 5เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถตักคันดังกล่าว ซึ่งไม่เป็นความจริงขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 357, 172, 173,80, 83 และมาตรา 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าฟ้องโจทก์มีมูลเฉพาะความผิดฐานแจ้งความเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาสำหรับจำเลยที่ 4ถึงที่ 6 ให้ประทับฟ้อง ส่วนความผิดฐานยักยอกและรับของโจรสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ไม่มีมูล ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่าที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในความผิดฐานยักยอกเป็นการมิชอบหรือไม่ และฟ้องโจทก์มีมูลเป็นความผิดฐานรับของโจรหรือไม่ สำหรับความผิดฐานยักยอก โจทก์ฎีกาเฉพาะข้อกฎหมายข้อแรกว่าการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ความผิดฐานยักยอกและรับของโจทก์เกี่ยวเนื่องกัน จึงรับอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ ถือว่าศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้นั้น พิเคราะห์แล้วนั้นเห็นว่า คำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นเป็นคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้เท่านั้นไม่ใช่เป็นการอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ตรี ที่โจทก์ฎีกาต่อมาว่า จะนำบทบัญญัติว่าด้วยคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 193 ทวิ มาใช้บังคับในชั้นไต่สวนมูลฟ้องไม่ได้ เพราะชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับศาลนั้น เห็นว่าการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าความผิดฐานยักยอกไม่มีมูล มีผลเป็นการพิพากษายกฟ้องโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 167 จึงเป็นคำสั่งที่วินิจฉัยชี้ขาดคดีอย่างหนึ่ง เมื่อโจทก์อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวแม้จะเป็นคำสั่งในชั้นไต่สวนมูลฟ้องก็ต้องอาศัยหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับด้วยเมื่อโจทก์ฟ้องความผิดฐานยักยอกและรับของโจรเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน ความผิดฐานยักยอกจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์โจทก์ในความผิดฐานยักยอกไว้ด้วย จึงไม่ชอบ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ส่วนความผิดฐานรับของโจร ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์โดยฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมิได้กระทำผิดฐานยักยอกเมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งหกร่วมกันรับรถของโจทก์ไว้โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำความผิดฐานยักยอกการกระทำของจำเลยทั้งหกจึงไม่เป็นความผิดฐานรับของโจร เป็นการยกฟ้องโดยอาศัยข้อเท็จจริง ดังนั้น ที่โจทก์ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์มีมูลเป็นความผิดฐานรับของโจร จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายืน

Share