คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3313/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสามแสดงเจตนาขายลดเช็คกับธนาคารโจทก์สาขาลองจำเลยทั้งสามจึงต้องผูกพันตามที่แสดงออกมานั้น แม้ในข้อเท็จจริงจำเลยทั้งสามจะมิได้เจตนาผูกพันตนตามที่แสดงออกมาก็ไม่ทำให้การแสดงเจตนาตกเป็นโมฆะเว้นแต่โจทก์จะได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนอยู่ในใจของจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา117 เดิม (มาตรา 154 ที่แก้ไขใหม่) แม้ ส. ผู้จัดการโจทก์สาขาลองซึ่งเป็นผู้แทนของโจทก์ในขณะนั้นรู้ความจริงว่าส. กับป. ต้องการขายลดเช็คเองโดยให้จำเลยทั้งสามออกหน้าเป็นผู้ขายลดเช็คส. ไม่มีอำนาจเป็นผู้แทนโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 80 เดิม (มาตรา 74 ที่แก้ไขใหม่) ความรู้ของ ส. ว่าจำเลยทั้งสามเป็นเพียงตัวแทน ส. และ ป. จึงถือเป็นความรู้จากโจทก์ด้วยไม่ได้ จำเลยทั้งสามต้องผูกพันต่อโจทก์ตามสัญญาขายลดเช็ค สิทธิเรียกร้องต้นเงินตามสัญญาขายลดเช็คไม่มีบทบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 164 เดิม(มาตรา 193/30 ที่แก้ไขใหม่) คือ 10 ปี

ย่อยาว

คดีสามสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นร่วมพิจารณาพิพากษา โดยให้เรียกจำเลยสำนวนแรก สำนวนที่สองและสำนวนที่สามเป็นจำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 3 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องเป็นใจความว่า จำเลยทั้งสามต่างนำเช็คคนละ 1 ฉบับ มาทำสัญญาขายลดเช็คให้แก่โจทก์สาขาลองโดยมีข้อตกลงว่าถ้าเช็คดังกล่าวครบกำหนดใช้เงิน โจทก์ไม่สามารถเรียกเก็บเงินตามเช็คดังกล่าวได้ จำเลยทั้งสามยอมชดใช้เงินตามจำนวนในเช็คแต่ละฉบับพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าวจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเสร็จต่อมาเมื่อเช็คดังกล่าวครบกำหนดใช้เงิน ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจำเลยทั้งสามจึงตกเป็นฝ่ายผิดนัด ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงินแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสามให้การเป็นใจความว่า จำเลยทั้งสามไม่เคยตกลงทำสัญญาขายลดเช็คกับโจทก์ แบบคำเสนอขายลดเช็คที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นเอกสารปลอม จำเลยทั้งสามถูกหลอกให้ลงชื่อขายลดเช็คคดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน94,754.78 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 50,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ชำระเงิน 50,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ชำระดอกเบี้ยไม่เกินอัตราอย่างสูงตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยของต้นเงิน 50,000 บาท นับแต่วันฟ้องย้อนหลังขึ้นไปมีกำหนด 5 ปี
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ทางพิจารณาได้ความตามทางนำสืบของจำเลยทั้งสามว่า จำเลยทั้งสามรับราชการเป็นครูที่อำเภอลอง จังหวัดแพร่ระหว่างนั้นมีนายปราโมทย์ ดวงเกษม หัวหน้าการประถมศึกษาอำเภอลองและเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยทั้งสาม นายปราโมทย์กับนายสวัสดิ์เยาวรัตน์ ผู้จัดการโจทก์ สาขาลอง ได้ร่วมกันนำเอาเงินของโจทก์สาขาลองออกไปเป็นทุนหมุนเวียนประกอบกิจการค้ารับเหมาก่อสร้างเช็คและสัญญาขายลดเช็คตามฟ้อง นายปราโมทย์ กับนายสวัสดิ์ให้จำเลยทั้งสามสลักหลังเช็คที่นายปราโมทย์เป็นผู้สั่งจ่ายแล้วจำเลยทั้งสามทำสัญญาขายลดให้แก่โจทก์สาขาลอง เมื่อจำเลยทั้งสามรับว่าได้ทำสัญญาขายลดเช็คตามฟ้องกับโจทก์จึงมีปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยทั้งสามจะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาขายลดเช็คดังกล่าวหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยทั้งสามแสดงเจตนาออกมาว่าตนเองเป็นผู้ขายลดเช็คกับโจทก์สาขาลอง จำเลยทั้งสามจึงต้องผูกพันตามเจตนาที่แสดงออกมานั้น แม้ในข้อเท็จจริงจำเลยทั้งสามจะมิได้เจตนาผูกพันตนตามที่แสดงออกมา ก็หาเป็นผลทำให้การแสดงเจตนานั้นตกเป็นโมฆะไม่ เว้นแต่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งคือโจทก์จะได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนอยู่ในใจของจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 117 เดิม (มาตรา 154 ที่แก้ไขใหม่) ซึ่งเหตุยกเว้นที่ว่าเว้นแต่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งคือโจทก์จะรู้ถึงเจตนาอันซ่อนอยู่ในใจของจำเลยทั้งสาม แม้จะได้ความว่า นายสวัสดิ์เป็นผู้จัดการโจทก์สาขาลอง ซึ่งเป็นผู้แทนของโจทก์อยู่ในขณะนั้นรู้ความจริงระหว่างนายสวัสดิ์ และนายปราโมทย์กับจำเลยทั้งสาม แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 80 เดิม (มาตรา 74 ที่แก้ไขใหม่) บัญญัติไว้ความว่า “ในการอันใดถ้าประโยชน์ทางได้เสียของนิติบุคคลฝ่ายหนึ่งกับของตัวผู้จัดการอีกฝ่ายหนึ่งเป็นปฏิปักษ์แก่กันในการอันนั้นผู้จัดการเป็นอันไม่มีอำนาจเป็นผู้แทนได้” เมื่อความจริงนายสวัสดิ์กับนายปราโมทย์ต้องการขายลดเช็คเอง โดยให้จำเลยทั้งสามออกหน้าเป็นผู้ขายลดเช็ค นายสวัสดิ์จึงไม่มีอำนาจเป็นผู้แทนโจทก์ได้ ความรู้ของนายสวัสดิ์ว่า จำเลยทั้งสามเป็นเพียงตัวแทนนายสวัสดิ์กับนายปราโมทย์ จึงถือเป็นความรู้ของโจทก์ด้วยไม่ได้การที่จำเลยทั้งสามร่วมกับผู้แทนของโจทก์ทำกิจการให้เป็นที่เสียหายแก่โจทก์นั้น จำเลยทั้งสามจะหลีกเลี่ยงความรับผิดโดยปัดไปให้โจทก์ต้องรับผิดในการกระทำของผู้แทนของโจทก์ ซึ่งร่วมกันกับจำเลยทั้งสามกระทำให้โจทก์เสียหายได้ไม่ จำเลยทั้งสามจึงต้องผูกพันต่อโจทก์ตามสัญญาขายลดเช็คที่จำเลยทั้งสามแสดงเจตนาต่อโจทก์ และแม้ว่าจำเลยทั้งสามไม่ได้รับเงินตามสัญญาขายลดเช็คเลย แต่ก็มีการส่งมอบเช็คและรับเงินไปตามสัญญาขายลดเช็คจากโจทก์ผู้ซื้อลดเช็คแล้วโดยความรู้เห็นเป็นใจกันระหว่างจำเลยทั้งสามกับนายปราโมทย์และนายสวัสดิ์สัญญาขายลดเช็คจึงใช้บังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อจำเลยทั้งสามเป็นฝ่ายผิดสัญญาจึงต้องรับผิดชำระเงินตามจำนวนในเช็คพร้อมดอกเบี้ยอัตราตามที่ตกลงไว้ในสัญญา ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า คดีโจทก์ที่เรียกร้องเกี่ยวกับต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างส่งขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า สำหรับต้นเงินนั้น โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดตามสัญญาขายลดเช็ค ซึ่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญาขายลดเช็คไม่มีบทบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม (มาตรา 193/30ที่แก้ไขใหม่) คือมีอายุความ 10 ปี ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เช็คที่จำเลยทั้งสามนำมาทำสัญญาขายลดให้แก่โจทก์ครบกำหนดใช้เงินวันที่30 มิถุนายน 2525 และเช็คทุกฉบับธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินในวันที่เช็คครบกำหนดดังกล่าว อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่1 กรกฎาคม 2525 ครบกำหนด 10 ปี วันที่ 30 มิถุนายน 2535 โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามวันที่ 11 สิงหาคม 2530 จึงไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์เกี่ยวกับต้นเงินจึงไม่ขาดอายุความ ส่วนที่เกี่ยวกับดอกเบี้ยค้างส่งนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 เดิม (มาตรา193/33 (1) ที่แก้ไขใหม่) มีกำหนดอายุความ 5 ปี โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องเอาดอกเบี้ยค้างส่งจากจำเลยที่ 1 และที่ 3 นับแต่วันถัดจากวันฟ้องย้อนหลังขึ้นไปเป็นเวลา 5 ปี อันเป็นดอกเบี้ยค้างส่งในส่วนที่ไม่ขาดอายุความ แต่เฉพาะจำเลยที่ 2 นั้น ได้ความว่าหนี้ครบกำหนดแล้วเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2529 จำเลยที่ 2 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.21 อายุความจึงสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 เดิม(มาตรา 193/14 (1) ที่แก้ไขใหม่) และเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2529 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 2นับแต่วันผิดนัดคือวันที่ 30 มิถุนายน 2525 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามจึงฟังไม่ขึ้นเช่นกัน แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มิได้ระบุในคำพิพากษาให้ชัดเจนว่าจำเลยแต่ละคนต้องรับผิดชำระต้นเงินให้แก่โจทก์จำนวนเท่าใด ประกอบกับโจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยหลายครั้ง แม้ไม่เกินอัตราตามที่ตกลงไว้ในสัญญาขายลดเช็ค โดยตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2525 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2526 คิดดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2526 ถึงวันที่4 มีนาคม 2527 ร้อยละ 17.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2527ถึงวันที่ 1 มกราคม 2529 ร้อยละ 19 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม2529 ถึงวันที่ 4 มีนาคม 2529 ร้อยละ 17 ต่อปี และตั้งแต่วันที่5 มีนาคม 2529 เป็นต้นไป ร้อยละ 15 ต่อปี ตามเอกสารหมาย จ.8ถึง จ.12 แต่มิได้ระบุให้จำเลยทั้งสามรับผิดชำระดอกเบี้ยในช่วงเวลาใดในอัตราเท่าใดนั้น ยังไม่ชัดเจนเห็นสมควรแก้ไขให้ชัดเจนเห็นยิ่งขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ชำระเงินคนละ50,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (11 สิงหาคม 2530) ย้อนหลังขึ้นไปถึงวันที่ 5 มีนาคม 2529ร้อยละ 17 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 มกราคม 2529 ถึงวันที่ 4 มีนาคม2529 ร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2529 ถึงวันที่5 มีนาคม 2527 ร้อยละ 17.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 มีนาคม 2527ถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2526 และร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่31 มกราคม 2526 ถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2525 กับให้จำเลยที่ 1และที่ 3 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 50,000 บาทนับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้แก่จำเลยที่ 2ชำระเงินจำนวน 50,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ19 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2525 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2526ร้อยละ 17.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2526 ถึงวันที่4 มีนาคม 2527 ร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 มีนาคม 2527 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2529 ร้อยละ 17 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 มกราคม 2529จนถึงวันที่ 4 มีนาคม 2529 และร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่5 มีนาคม 2529 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 2ต้องรับผิดต่อโจทก์คิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 44,754.78 บาท

Share