แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้มีส่วนได้เสียตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 6วรรคสอง หมายถึงผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการออกสิทธิบัตรนั้น โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่า การที่จำเลยได้รับสิทธิบัตรมาโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายทำให้โจทก์ไม่สามารถที่จะผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ซึ่งสินค้าที่มีรูปลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับแบบผลิตภัณฑ์ที่จำเลยได้ยื่นคำขอไว้ ซึ่งเป็นการกระทำที่โจทก์จะกระทำในภายหน้าและยังไม่แน่นอน โดยโจทก์มิได้กล่าวอ้างมาในคำฟ้องเลยว่าโจทก์ได้ผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ซึ่งสินค้าดังกล่าว กรณียังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการออกสิทธิบัตรพิพาทดังกล่าว โจทก์จึงมิใช่บุคคลผู้มีส่วนได้เสียและไม่มีอำนาจฟ้อง มาตรา 64 วรรคสอง บัญญัติว่า “ความไม่สมบูรณ์ตามวรรคหนึ่งบุคคลใดจะกล่าวอ้างขึ้นก็ได้ หรือบุคคลผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะฟ้องต่อศาลขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรนั้นก็ได้” นั้นการกล่าวอ้าง หมายถึงการกล่าวอ้างในที่ทั่ว ๆ ไป รวมทั้งยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาล แต่การที่จะฟ้องขอให้ศาลสั่งว่าสิทธิบัตรไม่สมบูรณ์และให้เพิกถอนสิทธิบัตรนั้น บุคคลที่จะฟ้องต้องเป็นบุคคลผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการเท่านั้น แม้โจทก์จะเป็น”บุคคลใด” ตามมาตรา 64 วรรคสอง ก็ไม่อาจฟ้องคดีได้ การที่ศาลจะรับฟังพยานหลักฐานใดย่อมจะต้องพิจารณาว่าพยานหลักฐานนั้นเกี่ยวกับประเด็นในคดีหรือไม่ หากพยานหลักฐานใดไม่เกี่ยวกับประเด็นหรือนอกประเด็น แม้คู่ความจะนำสืบกล่าวอ้างพยานหลักฐานนั้นต่อศาล ศาลย่อมมีอำนาจที่จะไม่รับฟังพยานหลักฐานนั้นโจทก์บรรยายฟ้องว่า การที่จำเลยได้รับสิทธิบัตรพิพาทโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายทำให้โจทก์เสียหายเพราะไม่สามารถที่จะผลิต จำหน่ายหรือมีไว้ซึ่งสินค้าที่มีรูปลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับแบบผลิตภัณฑ์ที่จำเลยยื่นคำขอไว้ การที่โจทก์ส่งเอกสารเพื่อจะให้ศาลรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้ผลิตสินค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับแบบผลิตภัณฑ์ที่จำเลยได้รับสิทธิบัตรมานานแล้ว โดยผลิตมาก่อนฟ้องและก่อนที่จำเลยจะได้รับสิทธิบัตรนั้น เป็นการสืบนอกฟ้องนอกประเด็นศาลหาจำต้องรับฟังพยานหลักฐานของโจทก์นั้นไม่.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบกิจการค้าผลิตภัณฑ์ยางทุกชนิดในฐานะผู้ผลิตและจำหน่าย เมื่อต้นปี พ.ศ. 2527 จำเลยได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์แผ่นปูพื้นรถยนต์ และต่อมาจำเลยได้รับสิทธิบัตรเลขที่ 277 ซึ่งการออกสิทธิบัตรดังกล่าวไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 56, 57, 58 และ 65เป็นผลให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์และบุคคลทั่วไป โดยโจทก์และบุคคลทั่วไปไม่สามารถที่จะผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ซึ่งสินค้าที่มีรูปลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับแบบผลิตภัณฑ์ที่จำเลยได้ยื่นคำขอไว้นี้ ทั้งเป็นการส่งเสริมให้ผู้ทรงสิทธิบัตรใช้สิทธิโดยไม่สุจริตกลั่นแกล้งโจทก์และบุคคลทั่วไปให้ได้รับความเสียหายในทางการค้า ขอให้ศาลสั่งว่าสิทธิบัตรในใบผลิตภัณฑ์แผ่นปูพื้นรถยนต์ตามสิทธิบัตรเลขที่ 277 ไม่สมบูรณ์และให้เพิกถอนสิทธิบัตรนั้นเสีย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง สิทธิบัตรของจำเลยสมบูรณ์และชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้เป็นบุคคลผู้มีส่วนได้เสียตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522มาตรา 64 ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า บุคคลผู้มีส่วนได้เสียตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 64 วรรคสอง หมายความถึงบุคคลผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการออกสิทธิบัตรนั้น คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่า การที่จำเลยได้รับสิทธิบัตรเลขที่ 277 โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายทำให้โจทก์ไม่สามารถที่จะผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ซึ่งสินค้าที่มีรูปลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับแบบผลิตภัณฑ์ที่จำเลยได้ยื่นคำขอไว้ ซึ่งเป็นการกระทำที่โจทก์จะกระทำในภายหน้าและยังไม่แน่นอน โดยโจทก์มิได้กล่าวอ้างมาในคำฟ้องเลยว่าโจทก์ได้ผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ซึ่งสินค้าดังกล่าว กรณียังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการออกสิทธิบัตรพิพาทดังกล่าว โจทก์จึงมิใช่บุคคลผู้มีส่วนได้เสียตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522มาตรา 64 วรรคสอง และไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้
ที่โจทก์ฎีกาข้อต่อไปว่า หากพิจารณาคำฟ้องของโจทก์ประกอบกับเอกสารหมาย จ.2 จะพบว่าโจทก์ได้ผลิตสินค้าที่เป็นมูลเหตุพิพาทมานานแล้วก่อนที่จำเลยจะได้รับสิทธิบัตรและก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ว่าผู้เสียหายหรือผู้มีส่วนได้เสียจะต้องเป็นผู้ที่เคยผลิตหรือจำหน่าย หรือมีไว้ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้ออกสิทธิบัตรอยู่ในขณะที่มีการออกสิทธิบัตร ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธินำสืบว่าโจทก์ได้ผลิตสินค้าที่มีรูปลักษณะเหมือนหรือคล้ายแบบผลิตภัณฑ์ที่จำเลยได้รับสิทธิบัตรมาก่อนเพราะไม่ได้บรรยายฟ้องไว้ โจทก์ไม่เห็นด้วยเพราะในวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้รับเอกสารของโจทก์ไว้รวม 8 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.8และโจทก์ได้เสียค่าอ้างเอกสารดังกล่าวแล้ว ศาลก็จำต้องรับฟังประกอบคำฟ้อง นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่ศาลจะรับฟังพยานหลักฐานใดย่อมจะต้องพิจารณาว่าพยานหลักฐานนั้นเกี่ยวแก่ประเด็นในคดีหรือไม่ หากพยานหลักฐานใดไม่เกี่ยวแก่ประเด็นหรือนอกประเด็นแม้คู่ความจะนำสืบกล่าวอ้างพยานหลักฐานนั้นต่อศาล ศาลย่อมมีอำนาจที่จะไม่รับฟังพยานหลักฐานนั้น คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าการที่จำเลยได้รับสิทธิบัตรเลขที่ 277 โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายทำให้โจทก์เสียหายเพราะไม่สามารถที่จะผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ซึ่งสินค้าที่มีรูปลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับแบบผลิตภัณฑ์ที่จำเลยได้ยื่นคำขอไว้ ดังนั้น การที่โจทก์อ้างส่งเอกสารหมาย จ.2 เพื่อจะให้ศาลรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้ผลิตสินค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับแบบผลิตภัณฑ์ที่จำเลยได้รับสิทธิบัตรมานานแล้ว โดยผลิตมาก่อนฟ้องและก่อนที่จำเลยจะได้รับสิทธิบัตร จึงเป็นการสืบนอกฟ้องนอกประเด็นศาลอุทธรณ์หาจำต้องรับฟังพยานหลักฐานดังข้อฎีกาของโจทก์ไม่
ส่วนที่โจทก์ฎีกาข้อสุดท้ายว่า คำว่า “บุคคลใด” ตามมาตรา 64วรรคสอง หมายถึงใครก็ได้มีสิทธิที่จะกล่าวอ้างยกข้อต่อสู้หรือกล่าวอ้างต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือกล่าวอ้างต่อศาล โดยการยื่นคำร้องหรือฟ้องคดี และมาตรา 64 วรรคสอง มิได้จำกัดไว้ว่า”บุคคลใด” จะฟ้องคดีไม่ได้ โจทก์เป็น “บุคคลใด” ตามมาตรา 64วรรคสอง แล้ว จึงมีอำนาจฟ้องคดีนั้น พระราชบัญญัติสิทธิบัตรพ.ศ. 2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “สิทธิบัตรใดได้ออกไปโดยไม่ชอบด้วยมาตรา 56 มาตรา 58 หรือมาตรา 65 ประกอบด้วยมาตรา 10 มาตรา 11 และมาตรา 14 ให้ถือว่าสิทธิบัตรนั้นไม่สมบูรณ์”และวรรคสอง บัญญัติว่า “ความไม่สมบูรณ์ตามวรรคหนึ่ง บุคคลใดจะกล่าวอ้างขึ้นก็ได้ หรือบุคคลผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะฟ้องต่อศาลขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรนั้นก็ได้” เห็นว่าตามมาตรา 64วรรคสอง นั้น การกล่าวอ้างหมายถึงการกล่าวอ้างในที่ทั่ว ๆ ไปรวมทั้งยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาล แต่การที่จะฟ้องขอให้ศาลสั่งว่าสิทธิบัตรไม่สมบูรณ์และให้เพิกถอนสิทธิบัตรเช่นที่โจทก์ฟ้องคดีนี้นั้น บุคคลที่จะฟ้องต้องเป็นบุคคลผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการเท่านั้น ดังนั้นแม้โจทก์จะเป็น “บุคคลใด” ตามมาตรา 64 วรรคสองดังกล่าว ก็ไม่อาจฟ้องคดีนี้ได้
พิพากษายืน.