แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยฎีกา พร้อมกับยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์รับรองฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีตามคำร้องไม่ได้ระบุชื่อผู้พิพากษาที่จะให้รับรองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคท้ายจึงไม่อาจดำเนินการให้ได้ จึงให้ยกคำร้อง จำเลยเห็นว่า คำร้องขอให้รับรองฎีกาไม่จำต้องระบุชื่อ ผู้พิพากษาก็สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากเมื่อศาลตรวจสำนวน ย่อมทราบว่าผู้พิพากษาท่านใดพิจารณาคดีนี้และดำเนินการรับรองฎีกา ได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ขอศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการรับรองฎีกา ของจำเลยต่อไป โปรดอนุญาต หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 113 แผ่นที่ 3) ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 272,983 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 ซึ่งเป็นวันผิดนัดชำระหนี้ ครั้งสุดท้ายเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยชำระเสร็จให้โจทก์ สำหรับฟ้องแย้งจำเลยและคำขออื่นให้ยกเสีย ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 83,740 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา พร้อมกับยื่นคำร้องขอให้รับรองฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 105) จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับเป็นอุทธรณ์คำสั่งรวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลฎีกา (อันดับ 110)
คำสั่ง การขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาได้ ให้ผู้ฎีกายื่นคำร้องถึงผู้พิพากษานั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคท้าย ผู้ฎีกาจึงต้องระบุชื่อผู้พิพากษาที่จะให้รับรองฎีกา เพราะไม่อาจทราบได้ว่า ผู้ฎีกาจะให้ผู้พิพากษานายใดเป็นผู้พิจารณารับรองฎีกา เมื่อจำเลยผู้ฎีกามิได้ระบุชื่อผู้พิพากษาที่จะให้รับรองฎีกามาในคำร้อง จึงไม่อาจดำเนินการให้ได้ ศาลชั้นต้นสั่งชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง