แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 มีปากเสียงด่าโต้ตอบกันแล้วต่างหยุดไป ต่อมาจำเลยที่ 3 เดินออกจากแผงร้านค้าของตนไปโทรศัพท์ที่แผงร้านค้าของ อ.และพูดคุยกับอ.เป็นเวลานานโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 มีความโกรธแค้นจำเลยที่ 1 ขั้นตอนการสมัครใจทะเลาะวิวาทจึงยุติลงแล้งการที่จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ผู้เป็นบุตรทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 3 หลังจากจำเลยที่ 3 กลับจากการโทรศัพท์ที่แผงของ อ. จนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 ได้รับอันตรายสาหัส ย่อมเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 297 และไม่เป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุตามมาตรา 69.
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันทำร้ายจำเลยที่ 3 ก่อนจนถึงขั้นบาดเจ็บสาหัสการที่จำเลยที่ 3 ตอบโต้ไปบ้างแม้ทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับอันตรายแก่กายก็เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตาม ป.อ. มาตรา 68 จำเลยที่ 3 จึงไม่มีความผิด.
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม ป.อ.มาตรา 297 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามมาตรา 297 ประกอบด้วยมาตรา 69 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามมาตรา 391 แม้ปัญหานี้จะยุติในศาลชั้นต้น เพราะทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้อุทธรณ์ แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดตามมาตรา 297 ศาลฎีกามีอำนาจปรับบทลงโทษให้ถูกต้องได้โดยไม่มีการเพิ่มโทษ.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297, 83 จำเลยที่ 3 ตามมาตรา 295 และริบของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297 ประกอบด้วยมาตรา 69 จำคุก 3 เดือน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ปรับ 300 บาท จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 จำคุก 3 เดือน ปรับ 500 บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ริบของกลาง
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 เหล็กของกลางให้คืนเจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์มีพยานที่อ้างว่าเห็นเหตุการณ์คือนางสุเทพ โพธนัง และนางเสาวรส เศรษฐบุปผา เบิกความว่า เห็นจำเลยที่ 3 ทำร้ายจำเลยที่ 1 และนางสุชาดา พรพรรณพัฒนกุล นางนิภาอรุณเหลืองอร่าม นางอัจฉรา พงศ์เกรียงยศ กับนางสาวนิตยา วะโรงเบิกความว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ทำร้ายจำเลยที่ 3 แต่นางสุเทพเบิกความต่อไปอีกว่า ขณะที่พยานเดินไปซื้อก๋วยเตี๋ยวฝั่งตรงกันข้ามแต่ยังไม่ทันถึงร้านก๋วยเตี๋ยว เห็นคนมุงกันอยู่ที่แผงลอยขายผ้า จึงแวะเข้าไปดู เห็นจำเลยที่ 3 ใช้ท่อนเหล็กฟาดตีจำเลยที่ 1 แล้วพยานก็ไม่สนใจดูอีกแต่ได้เดินไปซื้อก๋วยเตี๋ยว เห็นว่า พยานปากนี้เบิกความฝืนต่อความรู้สึกของคนธรรมดาทั่วไป ที่เมื่อมีเหตุการณ์ผิดปกติก็ต้องดูต่อไปจนกว่าผลจะเป็นอย่างไรในเวลาไม่นานนักซึ่งเรื่องนี้ก็ปรากฏว่านางสุชาดามาห้ามทั้งสองฝ่ายหลังเกิดเหตุเพียงเล็กน้อย คำพยานปากนี้จึงรับฟังไม่ได้ นางเสาวรสเบิกความว่า เห็นจำเลยที่ 1 นั่งอยู่บนเก้าอี้ จำเลยที่ 3 ใช้เหล็กดึงประตูตีจำเลยที่ 1 ตีกี่ทีไม่ได้สังเกต จำเลยที่ 1 ใช้มือรับและแย่งเหล็กกัน ไม่เห็นจำเลยที่ 2 โต้เถียงกับใคร ขณะที่ตีกันก็ไม่เห็นจำเลยที่ 2 เข้าไปทำอะไร คำพยานปากนี้ก็ขัดกับคำของจำเลยที่ 2ว่าเป็นคนเข้าไปดึงจำเลยที่ 1 ไม่ให้จำเลยที่ 3 ข่วนหน้า และตามรายงานแพทย์จำเลยที่ 2 ก็มีบาดแผล ทั้งจำเลยที่ 2 ก็แจ้งความด้วยว่า ถูกจำเลยที่ 3 ทำร้าย ซึ่งสรุปแล้วจำเลยที่ 2 รับว่าได้ร่วมชุลมุนด้วย แต่นางเสาวรสกลับเบิกความว่า จำเลยที่ 2ไม่ได้เข้าเกี่ยวข้อง คำพยานปากนี้จึงรับฟังไม่ได้ พยานโจทก์ที่เหลือคือ นางสุชาดาเบิกความว่า พยานเห็นจำเลยที่ 1 ที่ 2ที่ 3 ตีกัน ใครจะเป็นคนตีใครก่อนไม่เห็น พยานเข้าไปห้ามไม่เห็นจำเลยทั้งสามถือสิ่งของอยู่ในมือ นางนิภาเบิกความว่าจำเลยทั้งสามทะเลาะกันตอนแรก ใครทำร้ายใครก่อนพยานไม่เห็น ต่อเมื่อได้ยินเสียงดังโครมครามจึงหันไปดู เห็นจำเลยที่ 3 ยืนในลักษณะก้มหน้าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ช่วยกันจิกผมจำเลยที่ 3 อยู่ ต่อมานางสุชาดาเข้าไปห้าม นางอัจฉราเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุพยานไปไหว้เจ้าที่หลังตลาดโบ๊เบ๊ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ เมื่อกลับมาจำเลยทั้งสามได้เลิกทะเลาะกันแล้ว นางสาวนิตยาเบิกความว่า พยานได้ยินเสียงคล้ายสิ่งของล้ม จึงหันไปมอง เห็นจำเลยที่ 3 ลงไปนั่งอยู่กับพื้นจำเลยที่ 1 ที่ 2 จิกผมของจำเลยที่ 3 อยู่ข้างบน ขณะนั้นมีเพียงจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 เท่านั้นที่กำลังทำร้ายร่างกายกันอยู่ ไม่มีผู้ใดถือสิ่งของในมือ หลังจากนั้นประมาณ 5 นาที นางสุชาดาก็เข้ามาห้าม พยานยืนห่างที่เกิดเหตุประมาณ 1 เมตรครึ่ง เห็นว่าพยานโจทก์ดังกล่าวไม่ได้ยืนยันว่า จำเลยที่ 3 เป็นฝ่ายลงมือทำร้ายจำเลยที่ 1 ที่ 2 ก่อน แต่ได้ความจากจำเลยที่ 3 ว่าหลังจากจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ด่าโต้ตอบกันจนกระทั่งจำเลยที่ 1เปิดแผงร้านค้าแล้วก็หยุดการด่าโต้เถียงกัน แล้วจำเลยที่ 3เดินไปโทรศัพท์ที่แผงของนางอัจฉรา ความข้อนี้นางอัจฉราพยานโจทก์เบิกความเจือสมว่าหลังจากพยานมาถึงแผงสักครู่ใหญ่ จำเลยที่ 3ก็ได้มาขอใช้โทรศัพท์ หลังจากนั้นพยานจึงไปไหว้เจ้าที่หลังตลาดเมื่อกลับมาจำเลยทั้งสามได้ก่อเหตุในคดีนี้เสร็จไปแล้ว จึงรับฟังได้ว่าการที่จำเลยที่ 3 เดินออกจากแผงร้านค้าของตนไปโทรศัพท์ที่แผงร้านค้าของนางอัจฉราเป็นเวลานานและขณะพูดคุยกับนางอัจฉราก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ยังมีความโกรธแค้นจำเลยที่ 1 แสดงว่าจำเลยที่ 3 ไม่ประสงค์จะทะเลาะวิวาทกับจำเลยที่ 1 ต่อไปอีกแล้วเรื่องก็น่าจะยุติเพียงเท่านั้น การที่จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2ทำร้ายจำเลยที่ 3 อีกหลังจากจำเลยที่ 3 กลับจากโทรศัพท์ที่แผงของนางอัจฉรา จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงเป็นฝ่ายลงมือก่อเหตุขึ้นก่อน คดีฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ประกอบมาตรา 69 และการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดตามมาตรา 391ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย แม้ปัญหานี้จะยุติในศาลชั้นต้นเพราะโจทก์มิได้อุทธรณ์ แต่ศาลฎีกาชอบที่จะปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2ให้ถูกต้องได้ โดยไม่เพิ่มโทษ และเมื่อฟังว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2เป็นฝ่ายก่อเหตุทำร้ายจำเลยที่ 3 ก่อนเช่นนี้ จำเลยที่ 3 ชอบที่จะกระทำการป้องกันได้ เมื่อพิเคราะห์บาดแผลที่จำเลยที่ 1 ที่ 2ได้รับปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ลูกตาซ้ายแดงช้ำ แขนซ้ายบวม น่องซ้ายถลอกหลังเท้าขวาถลอก อกข้างขวาช้ำ รักษาประมาณ 10 วัน จำเลยที่ 2ริมฝีปากบนด้านในข้างขวาบวมช้ำ ขากรรไกรล่างด้านซ้ายบวม รักษาประมาณ 7 วัน ซึ่งเป็นเพียงอันตรายแก่กาย ส่วนจำเลยที่ 3ปลายนิ้วก้อยซ้ายฉีกขาดลึกถึงใต้ผิวหนัง ใบหน้ามีรอยผิวถลอกเป็นเส้นประมาณ 20 เส้น กระดูกปลายนิ้วก้อยซ้ายหัก ต้องรักษาประมาณ 30 วันอันเป็นอันตรายสาหัส เห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 พอสมควรแก่เหตุ จึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีความผิดตามฟ้องศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ส่วนกำหนดโทษให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์