คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2399/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อมีข้อตกลงกันว่า ถ้าโจทก์ฟ้องคดีให้จำเลยได้เงินจำนวน10 ล้านบาท จำเลยจะต้องจ่ายเงินค่าจ้างว่าความให้แก่โจทก์จำนวน1 ล้านบาท ภายหลังที่คดีเสร็จเด็ดขาดแล้ว สิทธิเรียกร้องในค่าจ้างว่าความของโจทก์ก็ย่อมเริ่มนับตั้งแต่วันที่จำเลยได้รับเงินจำนวนดังกล่าวเป็นต้นไป เมื่อนับถึงวันยื่นฟ้องเลยระยะเวลา 2 ปีคดีของโจทก์ย่อมขาดอายุความ แม้ก่อนหน้านั้นจำเลยได้ชำระค่าจ้างว่าความให้โจทก์เป็นเช็คซึ่งเป็นการรับสภาพหนี้ อายุความย่อมสะดุดหยุดลงและเริ่มต้นนับกันใหม่นับตั้งแต่วันที่ระบุในเช็คอันเป็นวันที่โจทก์สามารถบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปแต่เมื่อนับถึงวันฟ้องก็ล่วงเลยระยะเวลา 2 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ฟ้องเดิมของโจทก์เป็นเรื่องที่ขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระค่าจ้างว่าความที่ค้าง เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธ คดีจึงมีประเด็นเพียงว่าจำเลยยังคงค้างชำระค่าจ้างว่าความอยู่จริงหรือไม่ การที่จำเลยฟ้องแย้งขอเรียกทรัพย์คืนโดยอ้างเหตุเนรคุณเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นแตกต่างไปจากฟ้องเดิมของโจทก์ที่ขอบังคับตามสัญญาจ้างว่าความ หาได้เกี่ยวข้องกับสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาที่โจทก์อ้างความผูกพันอันจำเลยจะต้องรับผิดไม่ หากจำเลยเห็นว่าเงินที่มอบให้โจทก์ไปนั้นความจริงเป็นการให้โดยเสน่หา และการกระทำของโจทก์เป็นการประพฤติเนรคุณ อันเป็นต้นเหตุให้จำเลยมีสิทธิถอนคืนการให้ได้แล้ว ก็ชอบที่จำเลยจะไปว่ากล่าวเป็นคดีอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่อาจรับไว้พิจารณารวมกับฟ้องเดิมได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามได้ว่าจ้างโจทก์ให้ว่าความฟ้องของนายวานิช ไชยวรรณ กับพวกเป็นจำเลยและต่อสู้คดีให้รวม 14 คดีตกลงค่าจ้างกัน 1,000,000 บาท จำเลยได้จ่ายค่าจ้างให้โจทก์เพียง400,000 บาท คงยังไม่จ่ายอีก 600,000 บาท โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย โจทก์ได้รับความเสียหายขอคิดดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 90,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 690,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 600,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า ไม่ได้ว่าจ้างโจทก์โดยตกลงค่าจ้างกัน 1,000,000 บาท ตามฟ้อง แต่จำเลยที่ 1 ได้ตกลงว่าจ้างโจทก์ให้ว่าความรวม 14 คดี และได้ชำระค่าจ้างเสร็จแล้ว ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความ เงิน 400,000 บาท จำเลยที่ 1 จ่ายให้โจทก์โดยเสน่หา ไม่ใช่ค่าจ้างว่าความ การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยที่ 1ทำให้จำเลยที่ 1 เสียหาย ถูกดูหมิ่นเกลียดชังเป็นการประพฤติเนรคุณขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ชำระเงิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การว่า จำเลยไม่ได้ว่าจ้างโจทก์ตามฟ้องฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ฟ้องแย้งไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ฟ้องแย้งเคลือบคลุมเงินจำนวน 400,000 บาท ตามฟ้องแย้ง จำเลยที่ 1 จ่ายโดยมีค่าตอบแทนไม่มีสิทธิเรียกคืนฟ้องแย้งขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้องแย้ง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 1 โจทก์และจำเลยที่ 1อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระเงิน 400,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 11กุมภาพันธ์ 2525 ไปจนกว่าโจทก์จะชำระเสร็จให้จำเลยที่ 1 โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเป็นอันฟังยุติว่า จำเลยได้รับเงินจำนวน 18 ล้านบาทเศษจากนายวานิช ไชยวรรณ คู่กรณีตามข้อตกลงประนีประนอมยอมความกันนอกศาล เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2522ดังนั้นหากมีข้อตกลงกันจริงดังที่โจทก์อ้างว่าจำเลยจะต้องจ่ายเงินค่าจ้างว่าความให้แก่โจทก์จำนวนหนึ่งล้านบาทภายหลังที่คดีเสร็จเด็ดขาดแล้ว สิทธิเรียกร้องของโจทก์ก็ย่อมเริ่มนับตั้งแต่วันที่จำเลยได้รับเงินจำนวนดังกล่าวเป็นต้นไป ซึ่งเมื่อนับถึงวันยื่นฟ้องจึงเลยระยะเวลา 2 ปี คดีโจทก์ย่อมขาดอายุความแล้ว อย่างไรก็ดีโจทก์อ้างว่าหลังจากนั้นจำเลยได้ชำระค่าจ้างว่าความให้โจทก์มาแล้วเป็นบางส่วนจำนวนสี่แสนบาทโดยจ่ายเป็นเช็ค 2 ฉบับ ฉบับละสองแสนบาทซึ่งโจทก์ได้รับเงินตามเช็คทั้ง 2 ฉบับ จำนวนสี่แสนบาทไปเรียบร้อยแล้ว โดยเช็คฉบับแรกลงวันที่ 14 กันยายน 2522 และฉบับหลังลงวันที่11 ตุลาคม 2522 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.20 และ จ.9 ตามลำดับสำหรับเช็คฉบับหลังซึ่งลงวันที่ 11 ตุลาคม 2522 นั้นโจทก์เพิ่งมาเรียกเก็บเงินเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2523 ปรากฏตามเอกสารหมายจ.13 ตามพฤติการณ์ของจำเลยเช่นนี้ โจทก์ถือว่าเป็นการรับสภาพหนี้โดยการใช้เงินให้โจทก์บางส่วน อายุความจึงย่อมสะดุดหยุดลงและเริ่มต้นนับอายุความใหม่ ซึ่งนับจากวันที่โจทก์นำเช็คมาเรียกเก็บเงินดังกล่าวจนถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 2 ปี คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความนั้น สำหรับปัญหานี้ปรากฏจากคำเบิกความของโจทก์เองว่าจำเลยนำเช็คมามอบให้โจทก์หลังจากวันที่ลงในเช็ค แต่จะเป็นวันใดโจทก์หาได้นำสืบให้ปรากฏไม่ ดังนั้น การที่โจทก์เพิ่งจะหยิบยกเป็นข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกาโดยยืนยันว่าจำเลยนำเช็คฉบับหลังมามอบให้ในวันเดียวกับที่โจทก์เรียกเก็บเงิน หลังจากที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความไปแล้วเช่นนี้ จึงเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ด้วยเจตนาที่จะให้อายุความขยายออกไปโดยปราศจากพยานหลักฐานอื่นใดมาสนับสนุนให้เชื่อได้ดังกล่าว ดังนั้นเมื่อปรากฏว่าวันที่ระบุในเช็คฉบับหลังเป็นวันที่ 11 ตุลาคม 2522 อันเป็นวันที่โจทก์สามารถบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้แล้ว อายุความที่สะดุดหยุดลงเพราะการรับสภาพหนี้ของจำเลยจึงต้องเริ่มต้นนับกันใหม่ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ซึ่งเมื่อนับถึงวันฟ้องย่อมล่วงเลยระยะเวลา 2 ปีคดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว
โจทก์ฎีกาในเรื่องที่เป็นปัญหากฎหมายอีกข้อหนึ่งว่า การที่จำเลยชำระค่าจ้างว่าความให้โจทก์ด้วยเช็คย่อมถือเป็นการชำระหนี้อย่างอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคสามจะถือเป็นการชำระหนี้ถูกต้องก็ต่อเมื่อโจทก์เรียกเก็บเงินได้เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2532 อายุความจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปนั้น สำหรับปัญหานี้ศาลฎีกาเห็นว่าตามมาตรา 321 มิใช่เป็นกรณีเกี่ยวกับการนับอายุความ แต่เป็นเรื่องที่กฎหมายบัญญัติให้รู้ว่า ในกรณีที่มีการชำระหนี้อย่างอื่นผิดแผกไปจากที่ได้ตกลงกันไว้เดิมนั้น ให้ถือว่าหนี้จะระงับสิ้นไปในกรณีใดบ้าง การที่โจทก์อ้างมาตรา 321 ขึ้นมาแปลความหมายเป็นข้อสนับสนุนฎีกาของโจทก์ในเรื่องอายุความดังกล่าวจึงหาตรงกับประเด็นที่โต้เถียงกันในคดีนี้ไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างอิงมาจึงไม่อาจถือเป็นบรรทัดฐานเทียบเคียงได้เช่นเดียวกัน ปัญหาในเรื่องอายุความจึงเป็นอันยุติว่า คดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์ฎีกาคัดค้านว่า การที่จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งขอเรียกเงินจำนวนสี่แสนบาทคืนจากโจทก์โดยอ้างว่าเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 ให้โจทก์โดยเสน่หา การที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องอันเป็นผลให้จำเลยที่ 1ต้องได้รับความอับอายเสื่อมเสียชื่อเสียง ย่อมถือเป็นการประพฤติเนรคุณ จึงฟ้องขอเรียกเงินจำนวนดังกล่าวคืนนั้น ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวหาได้เกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมไม่ การที่ศาลรับไว้พิจารณาจึงขัดต่อบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม สำหรับปัญหานี้ ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามฟ้องเดิมของโจทก์เป็นเรื่องที่ขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระค่าจ้างว่าความที่โจทก์อ้างว่าจำเลยยังติดค้างอยู่อีกบางส่วน เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธคดีจึงมีประเด็นเพียงว่า จำเลยยังคงค้างชำระค่าจ้างว่าความอยู่จริงหรือไม่ การที่จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งขอเรียกทรัพย์คืนโดยอ้างเหตุเนรคุณดังกล่าว จึงเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นแตกต่างไปจากฟ้องเดิมของโจทก์ที่ขอบังคับตามสัญญาจ้างว่าความหาได้เกี่ยวข้องกับสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาที่โจทก์อ้างความผูกพันอันจำเลยจะต้องรับผิดไม่ หากจำเลยเห็นว่าเงินที่มอบให้โจทก์ไปนั้น ความจริงเป็นการให้โดยเสน่หา และการกระทำของโจทก์เป็นการประพฤติเนรคุณอันเป็นต้นเหตุให้จำเลยมีสิทธิถอนคืนการให้ได้แล้วก็ชอบที่จำเลยจะไปว่ากล่าวเป็นคดีอีกเรื่องหนึ่งต่างหากฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่อาจรับไว้พิจารณารวมกับฟ้องเดิมของโจทก์ได้ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นและเมื่อวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายเรื่องอายุความและฟ้องแย้งแล้ว ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ในประเด็นข้ออื่นต่อไป คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลเป็นบางส่วน ฎีกาโจทก์จึงฟังขึ้นบางส่วน แต่ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินจากจำเลยที่ 1 โดยมิได้พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นเป็นการคลาดเคลื่อน ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้เสียให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1

Share