คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2071/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์โดยนำโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 1 ที่ 2 มาให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกัน ต่อมาจำเลยที่ 1 ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่า โฉนดที่ดินดังกล่าวถูกไฟไหม้หายไป แล้วจำเลยที่ 1ได้คัดรายงานประจำวันไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอออกใบแทนโฉนด และจำเลยทั้งสี่ให้ถ้อยคำยืนยันต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าโฉนดที่ดินถูกไฟไหม้สูญหายไปซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงโฉนดดังกล่าวอยู่ที่โจทก์ ดังนี้ การแจ้งความเท็จดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสี่กระทำต่อเจ้าพนักงาน และตามคำแจ้งความก็มิได้แจ้งเจาะจงกล่าวถึงโจทก์อันจะถือว่าโจทก์ได้รับความเสียหายโดยตรงอีกทั้งโจทก์ก็ไม่มีสิทธิที่จะบังคับเอากับโฉนดที่ดินดังกล่าวได้ตามกฎหมายโจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137, 172, 267, 268, 83 ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาในชั้นฎีกามีเพียงว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายหรือไม่ ตามทางไต่สวนมูลฟ้องได้ความว่า เมื่อ พ.ศ. 2520จำเลยที่ 1 กู้เงินจากโจทก์ไป 61,000 บาท ได้ทำสัญญากู้ให้แก่โจทก์ไว้ และเอาเรือบรรทุกทรายให้โจทก์เป็นประกัน ต่อมาจำเลยที่ 1ได้ขอเอาเรือไปใช้ แล้วจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้หายไปพร้อมกับเรือดังกล่าว โจทก์ได้ร้องทุกข์และเจ้าพนักงานตำรวจได้จับตัวจำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสามีจำเลยที่ 1 ติดต่อขอให้โจทก์ถอนคำร้องทุกข์โดยจำเลยที่ 2 จะนำโฉนดที่ดินซึ่งเป็นของจำเลยที่ 1 ที่ 2 มาทำสัญญาขายฝากไว้กับโจทก์เป็นประกันการกู้เงินดังกล่าว ในการนี้จำเลยที่ 2ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปทำสัญญาขายฝากกับโจทก์โจทก์จึงถอนคำร้องทุกข์ แต่ทำการจดทะเบียนขายฝากไม่ได้เพราะลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ไม่เหมือนเดิม จำเลยที่ 1 บอกโจทก์ว่าไม่เป็นไรเพราะสัญญากู้ยังมีอยู่ ต่อมาโจทก์ติดตามทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินกู้ จำเลยที่ 1 ท้าให้โจทก์ฟ้อง โจทก์จึงได้ไปตรวจค้นที่สำนักงานทะเบียนที่ดิน ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ขอออกใบแทนโฉนดดังกล่าวและโอนให้แก่ผู้อื่นไป โดยจำเลยที่ 1 ได้ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าโฉนดหายไป แล้วจำเลยที่ 1 ได้คัดรายงานประจำวันดังกล่าวไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอออกใบแทนโฉนด เจ้าพนักงานที่ดินได้ทำการสอบสวนจำเลยทั้งสี่ จำเลยทั้งสี่ให้ถ้อยคำยืนยันว่าโฉนดดังกล่าวถูกไฟไหม้ไปซึ่งเป็นเท็จความจริงโฉนดดังกล่าวอยู่ที่โจทก์ โดยจำเลยที่ 1 มอบให้โจทก์ไว้ในวันไปทำสัญญาขายฝาก
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 แจ้งความเท็จต่อพนักงานสอบสวนว่า โฉนดที่ดินถูกไฟไหม้ และจำเลยที่ 1 ใช้รายงานประจำวันที่พนักงานสอบสวนได้ทำขึ้นนำไปยื่นต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอออกใบแทนโฉนด ตลอดจนการที่จำเลยทั้งสี่ได้ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าโฉนดถูกไฟไหม้ไปอันเป็นเท็จ ทำให้เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อออกใบแทนโฉนดให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 แล้วจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่นไปนั้น โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายในกรณีดังกล่าว เพราะการแจ้งความเท็จดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสี่กระทำต่อเจ้าพนักงาน และตามคำแจ้งความก็มิได้แจ้งเจาะจงกล่าวถึงโจทก์ อันจะถือว่าโจทก์ได้รับความเสียหายโดยตรง อีกทั้งโจทก์ก็ไม่มีสิทธิที่จะบังคับเอากับโฉนดที่ดินดังกล่าวได้ตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์นั้นชอบแล้วฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share