คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 73/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อน จำเลยในคดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และเงินจำนวนอื่นจากโจทก์ในคดีนี้ กล่าวอ้างว่าโจทก์เลิกจ้างจำเลยโดยจำเลยไม่ได้กระทำผิด แม้โจทก์จะให้การต่อสู้คดีในคดีนั้นว่า โจทก์ไม่ต้องรับผิดต่อจำเลยเพราะโจทก์เลิกจ้างจำเลยเนื่องจากจำเลยกระทำผิดโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้สินค้าของโจทก์หายไป5,621,315.14 บาท ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในคดีก่อนก็มีเพียงว่าจำเลยฟ้องเรียกค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และเงินจำนวนอื่นจากโจทก์ได้ดังฟ้องของจำเลยเพียงใดหรือไม่ แต่ไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในคดีก่อนว่าจำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่ทำให้สินค้าของโจทก์สูญหายไปให้โจทก์เพียงใดหรือไม่ การที่โจทก์มาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยในคดีนี้ โดยกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งหกได้กระทำละเมิดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้สินค้าของโจทก์สูญหายไป 5,621,315.14 บาท คดีนี้จึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งหกได้กระทำละเมิดต้องชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ดังฟ้องโจทก์เพียงใดหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่ประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยในคดีก่อน คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน แต่เนื่องจากในคดีก่อนได้มีคำพิพากษาของศาลฎีกาอันถึงที่สุดแล้วว่า โจทก์ในคดีนี้ได้เลิกจ้างจำเลยในคดีนี้โดยจำเลยไม่ได้กระทำความผิด จำเลยไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้สินค้าของโจทก์สูญหายไปดังที่โจทก์ให้การต่อสู้คดีในคดีก่อนคำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์ในคดีนี้ว่า จำเลยไม่ได้กระทำละเมิดโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้สินค้าของโจทก์สูญหายไป โจทก์จึงกลับมาฟ้องคดีนี้เรียกค่าเสียหายจากจำเลยโดยอ้างว่าจำเลยกระทำละเมิดโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำให้สินค้าโจทก์สูญหายไปไม่ได้ ทั้งนี้ ตามนัยบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ.มาตรา 145 วรรคแรก ประกอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงาน-และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

Share