แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
สินค้าของโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้า “NICCO” จำหน่ายแพร่หลายในประเทศไทยมาประมาณ 15 ปีแล้ว การที่จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าว่า “NICCO” เป็นอักษรโรมันคำเดียวกัน แตกต่างกันเพียงว่า ของโจทก์อยู่ในวงกลมที่ล้อมรอบด้วยรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า และตัวอักษร “O” เป็นตัวทึบ ส่วนของจำเลยใช้ตัวอักษรโรมันธรรมดา เมื่อออกสำเนียงชื่อก็คล้ายคลึงกัน ของโจทก์ออกสำเนียงว่า “นิกโก้”ส่วนของจำเลยออกสำเนียงว่า”นิคโค้”การกระทำของจำเลยเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทเพื่อให้ผู้ซื้อหลงเข้าใจผิดว่า สินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลย และมีสิทธิห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทด้วย มาตรา 21 และ 22 เป็นบทบัญญัติสำหรับวิธีดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า โดยได้กำหนดเวลาสำหรับการยื่นคำคัดค้านไว้ด้วย เมื่อไม่มีการคัดค้าน จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 22 และหาตัดสิทธิเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงที่จะดำเนินคดีเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าของตนไม่ เมื่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยแล้วหากโจทก์เป็นเจ้าของซึ่งมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าจำเลย โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำขอจดทะเบียนกับทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้ตามมาตรา 41(1) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า “NICCO”อักษรโรมัน อ่านว่า “นิกโก้” ซึ่งจดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าจำพวกที่ 13 จำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “NICCO” ซึ่งจำเลยมิได้ใช้มาก่อนสำหรับสินค้าจำพวกที่ 18 ซึ่งเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยอาศัยแอบอิงเอารูปเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาใช้กับสินค้าของจำเลย ทำให้สาธารณชนหลงผิดว่า สินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนเพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 131580 และทะเบียนเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ 85924 ต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย และให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนเพิกถอน ห้ามจำเลยมิให้ใช้เครื่องหมายการค้า “NICCO” ไม่ว่าสำหรับสินค้าประเภทใด จำเลยให้การว่า เครื่องหมายการค้า คำว่า”NICCO” ของโจทก์จดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกที่ 13 ประเภทของที่ทำด้วยโลหะ ซึ่งไม่เข้าจำพวกอื่น ส่วนเครื่องหมายการค้า คำว่า “NICCO”ของจำเลย อักษรโรมันอ่านว่า “นิคโค้” จดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกที่ 18 ประเภทสิ่งประดิษฐ์ขึ้นเพื่อใช้ในการวิศวกรรม สถาปนิกและก่อสร้าง สินค้าของโจทก์และของจำเลยจดทะเบียนต่างจำพวกกันจำเลยไม่ได้นำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปแสวงหาประโยชน์โดยทำให้สาธารณชนหลงผิดว่า สินค้าของจำเลยคือสินค้าของโจทก์แม้โจทก์จะได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “NICCO” ก่อนจำเลยก็ตามแต่เมื่อจำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว โจทก์มิได้คัดค้านต่อนายทะเบียนภายในกำหนดเก้าสิบวัน นับแต่วันประกาศคำขอจดทะเบียน หรือนำคดีมาสู่ศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าวโจทก์จึงสิ้นสิทธิฟ้องแล้ว ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 131580 ทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 85924 ต่อนายทะเบียนหากจำเลยไม่ปฏิบัติ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยโดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนเพิกถอนและห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้า “NICCO” ไม่ว่าสำหรับสินค้าใดต่อไป ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ2,000 บาท จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 1,000 บาท จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “สินค้าของโจทก์ที่ใช้เครื่องหมายการค้า”NICCO” จำหน่ายแพร่หลายในประเทศไทยมาประมาณ 15 ปีแล้วเครื่องหมายการค้าของโจทก์ซึ่งใช้คำว่า “NICCO” ไม่มีคำแปลการที่จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าว่า “NICCO” ซึ่งไม่มีคำแปลเช่นเดียวกัน จึงเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าที่เป็นอักษรโรมันคำเดียวกันกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ต่างกันแต่เพียงว่า ของโจทก์อยู่ภายในวงกลมที่ล้อมรอบด้วยรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า และตัวอักษร”O” เป็นตัวทึบ ส่วนของจำเลยใช้ตัวอักษรโรมันธรรมดา และเมื่อออกสำเนียงชื่อก็คล้ายคลึงกัน คือของโจทก์ออกสำเนียงว่า “นิกโก้”ส่วนของจำเลยออกสำเนียงว่า “นิคโค้” การกระทำของจำเลยเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทเพื่อให้ผู้ซื้อหลงเข้าใจผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลย และมีสิทธิห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทได้ด้วย
ส่วนฎีกาของจำเลยอีกข้อหนึ่งที่ว่า โจทก์ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของมาตรา 21 และ 22 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474สิทธิของโจทก์ที่จะนำคดีมาสู่ศาลหรือฟ้องจำเลยต่อศาลเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าพิพาทจึงสิ้นไปนั้น เห็นว่า ตามมาตรา 21 และ 22เป็นบทบัญญัติสำหรับวิธีดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งแบ่งออกเป็นขั้น ๆ รวมทั้งขั้นประกาศตามมาตรา 21 และขั้นจดทะเบียนตามมาตรา 22 ซึ่งได้กำหนดเวลาสำหรับการยื่นคำคัดค้านการจดทะเบียนไว้ว่าจะต้องยื่นภายในเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศส่วนกรณีนี้ไม่มีการคัดค้าน จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 22และหาตัดสิทธิเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงที่จะดำเนินคดีเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าของตนไม่ ดังนั้น เมื่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของจำเลยแล้ว ถ้าหากโจทก์เป็นเจ้าของซึ่งมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าจำเลย โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำขอจดทะเบียนกับทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้ตามมาตรา 41(1) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474สิทธิของโจทก์ที่จะนำคดีมาสู่ศาลคือฟ้องจำเลยต่อศาล เกี่ยวกับเครื่องหมายการค้ารายพิพาทจึงยังไม่สิ้นไป ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างถึง ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาทุกข้อของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน