คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1732/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์กล่าวในฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลออกเช็คโดยมีจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและประทับตราของจำเลยที่ 1 แม้ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาจะได้ความว่าผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายมิใช่จำเลยที่ 2 ก็เป็นเพียงข้อแตกต่างในรายละเอียดของการบรรยายฟ้องอันเกี่ยวกับตัวผู้ทำการแทนนิติบุคคลเท่านั้น มิใช่ข้อแตกต่างในข้อสาระสำคัญอันจะเป็นเหตุให้ศาลลงโทษจำเลยที่ 1 ไม่ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้อง เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา3(1) (2) ให้ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 50,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว คดีนี้จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาทตามเอกสารหมายจ.4 โดยมีนางนฤมล แซ่เตียว หุ้นส่วนผู้จัดการเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและประทับตราของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 มิได้ลงชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาท ปัญหาต้องวินิจฉัยมีว่า การที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ออกเช็คโดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและประทับตราของจำเลยที่ 1 แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่านางนฤมล แซ่เตียวหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายเช่นนี้ จะถือว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องอันจะเป็นเหตุให้ศาลต้องยกฟ้องหรือไม่เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ออกเช็คโดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและประทับตราของจำเลยที่ 1 แม้ทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลโดยนางนฤมล แซ่เตียว หุ้นส่วนผู้จัดการเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาท มิใช่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย ก็เป็นข้อแตกต่างในส่วนที่เกี่ยวกับตัวผู้ทำการแทนนิติบุคคล ซึ่งเป็นเพียงรายละเอียดของการบรรยายฟ้องเท่านั้น มิใช่ข้อแตกต่างในข้อสาระสำคัญอันจะเป็นเหตุให้ศาลลงโทษจำเลยที่ 1 ไม่ได้…”
พิพากษายืน

Share