คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1649/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ชำระหนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินแทนและในนามกรมโรงงานอุตสาหกรรมตามความผูกพันในสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับกรมนั้น ย่อมถือได้ว่าโจทก์มีส่วนได้เสียในการชำระหนี้ดังกล่าวทั้งกรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 ก็ยอมรับชำระหนี้จากโจทก์แล้วหากจำเลยที่ 1 เรียกเก็บภาษีสูงเกินไป จำเลยที่ 1 ก็มีหน้าที่ต้องคืนเงินส่วนที่เกินนั้นให้โจทก์ เมื่อโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1เรียกเก็บภาษีจากโจทก์สูงเกินไป โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกเงินภาษีส่วนที่โจทก์เสียเกินไปนั้นได้พระราชบัญญัติ ญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 8กำหนดให้คิดค่าภาษีตามค่ารายปีของทรัพย์สิน และค่ารายปีให้หมายความว่าจำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้น ๆ สมควรจะให้ค่าเช่าได้ในปีหนึ่งเท่าใด ถ้าทรัพย์สินนั้นให้เช่าให้ใช้ค่าเช่าเป็นหลักคำนวณค่ารายปี แต่ถ้ามีเหตุอันบ่งให้เห็นว่าค่าเช่านั้นมิใช่จำนวนเงินอันสมควร พนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมมีอำนาจแก้หรือคำนวณค่ารายปีเสียใหม่ได้ ปรากฏว่าโจทก์เช่าที่ดินและโรงเรือนพิพาทจากกระทรวงการคลังโดยเสียค่าเช่าปีละ 237,400 บาท ในเบื้องต้นต้องถือว่า ค่าเช่าจำนวนดังกล่าวเป็นค่ารายปีสำหรับคิดภาษีจำเลยที่ 1 จะมีอำนาจแก้ไข หรือกำหนดค่ารายปีใหม่ได้ต่อเมื่อมีเหตุชี้ให้เห็นว่าค่าเช่าดังกล่าวไม่ใช่จำนวนเงินอันสมควรเท่านั้นและต้องมีข้อเท็จจริงที่จะพิสูจน์ให้เห็นเช่นนั้นด้วย แต่หากค่าเช่านั้นไม่น้อยจนเกินสมควร หรือไม่มีเหตุที่น่าจะเห็นได้ว่าโจทก์กับกระทรวงการคลังซึ่งเป็นคู่สัญญาสมยอมกันแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ต้องประเมินค่ารายปีเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินตามจำนวนค่าเช่าที่โจทก์ชำระให้แก่กระทรวงการคลัง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ทำสัญญาเช่าโรงงานสุราบางยี่ขันจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในระหว่างปี 2523-2537 ตามสัญญาเช่าดังกล่าวโจทก์ต้องชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินแทนกรมโรงงานอุตสาหกรรมค่าเช่าทั้งสิ้น 3,561,000 บาท เฉลี่ยค่าเช่าปีละ 237,400 บาทเจ้าพนักงานของกรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 ได้ประเมินเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมสำหรับปี 2529เป็นเงิน 220,129.35 บาท โดยคำนวณจากค่ารายปี 1,761,034.80 บาทซึ่งโจทก์เห็นว่าการประเมินไม่ถูกต้อง จึงได้ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมยื่นคำร้องขอให้จำเลยพิจารณาการประเมินใหม่ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจำเลยที่ 2 พิจารณาคำร้องแล้ว มีคำชี้ขาดยืนตามการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งโจทก์เห็นว่า การประเมินและคำชี้ขาดของจำเลยทั้งสองอาศัยหลักเกณฑ์ที่ขัดต่อพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 8 ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของจำเลยทั้งสอง และกำหนดค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี พ.ศ. 2529ของอาคารตามฟ้องเป็นเงินปีละ 29,675 บาท และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินภาษีโรงเรือนและที่ดินที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยทั้งสองเกินไปเป็นเงิน 190,454.35 บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง การประเมินและคำชี้ขาดภาษีโรงเรือนรายนี้เป็นการเหมาะสมถูกต้องชอบด้วยกฎหมายตรงตามความเป็นจริงและเป็นธรรมดีแล้ว ขอให้ยกฟ้อง ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของจำเลยที่ 1 และคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 โดยให้โจทก์ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินของปี พ.ศ. 2529 เป็นเงิน 29,675 บาทให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินส่วนที่โจทก์ชำระเกินไปจำนวน 190,454.35 บาท แก่โจทก์ ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาเป็นต้นไป หากไม่คืนภายในกำหนดดังกล่าวให้จำเลยที่ 1เสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินจำนวน 190,454.35บาท นับถัดจากวันครบกำหนด 3 เดือน ดังกล่าวเป็นต้นไปจนกว่าจะคืนเงินค่าภาษีแก่โจทก์เสร็จ คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงคงฟังได้ในเบื้องต้นตามที่คู่ความรับกันว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมให้โจทก์เช่าโรงงานสุราบางยี่ขันในระหว่างปี 2523-2537 ตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.39 ทรัพย์สินที่พิพาทกันเกี่ยวกับภาษีโรงเรือนและที่ดินในคดีนี้เป็นทรัพย์สินที่รวมอยู่ในสัญญาเช่านั้นด้วยตามสัญญาเช่าดังกล่าวโจทก์จะต้องชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินแทนกรมโรงงานอุตสาหกรรม อนึ่ง โรงเรือนและที่ดินดังกล่าวยังได้มีการทำสัญญาเช่ากันอีกต่างหากระหว่างกระทรวงการคลังผู้ให้เช่าและโจทก์ผู้เช่า มีระยะเวลาเช่า 15 ปี ค่าเช่าทั้งสิ้น 3,561,000บาท (เฉลี่ยค่าเช่าปีละ 237,400 บาท) ตามสำเนาหนังสือสัญญาเช่าที่ดินเอกสารหมาย จ.2 เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ได้ประเมินเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินรายพิพาทจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมสำหรับปี 2529 เป็นเงิน 220,129.35 บาท โดยคำนวณจากค่ารายปี1,761,034.80 บาท กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์ขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ต่อจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ชี้ขาดว่าการประเมินของเจ้าพนักงานชอบแล้ว โจทก์ได้นำเงินค่าภาษีไปชำระให้แก่จำเลยที่ 1 แทนและในนามของกรมโรงงานอุตสาหกรรมตามข้อผูกพันในสัญญาเช่าแล้ว ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.11
ในปัญหาที่ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่นั้น เห็นว่าการที่โจทก์ชำระหนี้ค่าภาษีรายนี้แทนกรมโรงงานอุตสาหกรรมในนามของกรมโรงงานอุตสาหกรรมตามความผูกพันในสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับกรมโรงงานอุตสาหกรรมนั้น ย่อมถือได้ว่าโจทก์มีส่วนได้เสียในการชำระหนี้ค่าภาษีรายนี้ ทั้งจำเลยที่ 1 ก็ยอมรับชำระหนี้จากโจทก์แล้ว หากจำเลยที่ 1 เรียกเก็บภาษีสูงเกินไป จำเลยที่ 1ก็มีหน้าที่ต้องคืนเงินส่วนที่เกินนั้นให้โจทก์ คดีนี้เมื่อโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 เรียกเก็บภาษีจากโจทก์สูงเกินไป โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกเงินภาษีส่วนที่โจทก์เสียเกินไปนั้นได้ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับปัญหาที่ว่า การประเมินและคำชี้ขาดของจำเลยชอบหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475มาตรา 8 กำหนดให้คิดค่าภาษีตามค่ารายปีของทรัพย์สิน และค่ารายปีให้หมายความว่าจำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้น ๆ สมควรจะให้ค่าเช่าได้ในปีหนึ่งเท่าใด ถ้าทรัพย์สินนั้นให้เช่าให้ใช้ค่าเช่าเป็นหลักคำนวณค่ารายปี แต่ถ้ามีเหตุอันบ่งให้เห็นว่าค่าเช่านั้นมิใช่จำนวนเงินอันสมควร พนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมมีอำนาจแก้หรือคำนวณค่ารายปีเสียใหม่ได้ คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่าโจทก์เช่าที่ดินและโรงเรือนพิพาทจากกระทรวงการคลังโดยเสียค่าเช่าปีละ237,400 บาท ตามสำเนาหนังสือสัญญาเช่าที่ดินเอกสารหมาย จ.2ในเบื้องต้นต้องถือว่าค่าเช่าจำนวนดังกล่าวเป็นค่ารายปีสำหรับคิดค่าภาษีตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว จำเลยจะมีอำนาจแก้ไขหรือกำหนดค่ารายปีใหม่ได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุชี้ให้เห็นว่าค่าเช่าตามเอกสารดังกล่าวไม่ใช่จำนวนเงินอันสมควรเท่านั้น และจำเลยต้องมีข้อเท็จจริงที่จะพิสูจน์ให้เห็นเช่นนั้นด้วย แต่หากค่าเช่านั้นไม่น้อยจนเกินสมควรหรือไม่มีเหตุที่น่าจะเห็นได้ว่าโจทก์กับกระทรวงการคลังซึ่งเป็นคู่สัญญาสมยอมกันแล้ว จำเลยก็ต้องประเมินค่ารายปีเพื่อเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินตามจำนวนค่าเช่าที่โจทก์ชำระให้แก่กระทรวงการคลัง ที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าทรัพย์สินรายอื่นที่นำมาเปรียบเทียบกับทรัพย์สินรายพิพาทมีค่ารายปีสูงกว่าทรัพย์สินรายพิพาทมากนั้น เห็นว่า ทรัพย์สินที่นำมาเปรียบเทียบนั้นอยู่ ต่างแปลงต่างท้องที่กับทรัพย์สินรายพิพาทไม่อาจนำมาเปรียบเทียบกันได้ นอกจากนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้จำเลยถือว่าค่าเช่ารายปีตามสำเนาหนังสือสัญญาเช่าที่ดินเอกสารหมาย จ.2 จ.18 และ จ.19 เป็นค่ารายปี ในการคำนวณภาษีโรงเรือนและที่ดินซึ่งรวมกันเป็นเงินทั้งสิ้นเพียง 1,000,000 บาท จำเลยทั้งสองทราบมติของคณะรัฐมนตรีดังกล่าวแล้วตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.25 จ.26 และ จ.31 จึงเห็นได้ว่าค่าเช่าที่โจทก์ชำระให้กระทรวงการคลังตามสำเนาหนังสือสัญญาเช่าที่ดินเอกสารหมาย จ.2 นั้นเป็นจำนวนเงินอันสมควรแล้ว ทั้งไม่มีเหตุที่น่าจะสงสัยว่าโจทก์กับกระทรวงการคลังสมยอมกันแต่ประการใด สมควรกำหนดค่ารายปีตามค่าเช่าการประเมินและคำชี้ขาดของจำเลยจึงไม่ชอบ คำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share