คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18437/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามบัญชีอัตราภาษีป้าย (3) (ข) ท้าย พ.ร.บ.ภาษีป้าย พ.ศ.2510 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ภาษีป้าย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2534 ระบุว่า “ป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วนหรือทั้งหมดอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ”ย่อมแสดงให้เห็นว่าป้ายที่แม้มีเพียงบางส่วนของอักษรไทยอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศก็ถือเป็นป้ายตามบัญชีอัตราภาษีป้าย (3) (ข) โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะมีอักษรไทยอยู่ที่ส่วนใดของป้ายอีกหรือไม่ ดังนั้น เมื่อป้ายรายการที่ 8 มีข้อความอักษรไทยอยู่ใต้และต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ จึงเป็นป้ายตามบัญชีอัตราภาษีป้าย (3) (ข)
สำหรับป้ายรายการที่ 1, 2 และที่ 6 ส่วนบนมีอักษรไทยว่า “โตโยต้า” มีอักษรต่างประเทศว่า “TOYOTA” และมีสัญลักษณ์ ส่วนล่างมีอักษรไทยว่า “โตโยต้าหนองคาย แผนกขาย ศูนย์บริการ แผนกอะไหล่ และศูนย์บริการตัวถังและสี” อยู่บนวัสดุปิดผิวเรียบประเภทอลูมิเนียม แม้ส่วนบนและส่วนล่างข้อความจะอยู่บนวัสดุปิดผิวที่ต่างระดับกันและมีขนาดต่างกัน แต่ข้อความทั้งส่วนบนและส่วนล่างต่างก็อยู่บนวัสดุปิดผิวเรียบซึ่งเป็นอลูมิเนียมและสีเดียวกันและอยู่บนโครงสร้างที่ได้ทำในคราวเดียวกัน ทั้งในส่วนข้อความหรือสัญลักษณ์ทั้งส่วนบนและส่วนล่างก็ล้วนเป็นข้อความและสัญลักษณ์ แสดงชื่อ ยี่ห้อหรือเครื่องหมายที่ใช้ในการประกอบการค้าของโจทก์ ทำให้ป้ายส่วนบนและส่วนล่างมีลักษณะเป็นป้ายที่มีความต่อเนื่องกันอย่างไม่อาจแยกออกจากกันได้ และเป็นป้ายที่มีอักษรไทยอยู่ใต้และต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ จึงเป็นป้ายตาม (3) (ข)
ส่วนกรณีการคำนวณพื้นที่เพื่อเสียภาษีป้ายนั้นตาม พ.ร.บ.ภาษีป้าย พ.ศ.2510 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ภาษีป้าย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2534 มาตรา 17 ระบุว่า ให้คำนวณภาษีป้ายตามบัญชีอัตราภาษีป้าย (6) และ (7) และตามอัตราภาษีป้ายที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งตามบัญชีอัตราภาษีป้าย (6) (ก) ระบุว่า ถ้าเป็นป้ายที่มีขอบเขตกำหนดได้ให้เอาส่วนกว้างที่สุดคูณด้วยส่วนยาวที่สุดของขอบเขตป้ายเป็นตารางเซนติเมตร จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการคำนวณพื้นที่เพื่อเสียภาษีป้ายที่มีขอบเขตนั้น ให้คำนวณพื้นที่โดยเอาส่วนกว้างที่สุดคูณด้วยส่วนที่ยาวที่สุดของขอบเขตป้าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงิน 251,359.12 บาท และดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้อง 309.90 บาท รวมทั้งสิ้น 251,669.02 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 251,359.12 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าภาษีป้าย จำนวน 137,865 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในประการแรกตามอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยทั้งสองมีว่า คำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางที่วินิจฉัยให้ป้ายรายการที่ 8 ถือเป็นป้าย ประเภท (2) ตามบัญชีอัตราภาษีป้าย แต่ต้องยุติตามการประเมินว่าเป็นป้ายประเภท (3) ตามบัญชีอัตราภาษีป้ายเนื่องจากโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์การประเมินชอบหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า แม้โจทก์จะยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายว่าป้ายรายการที่ 8 ถือเป็นป้ายประเภท (3) ตามบัญชีอัตราภาษีป้ายก็เป็นด้วยความเข้าใจผิดและภายหลังโจทก์ก็ได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินแล้วว่า ป้ายรายการที่ 8 เป็นป้ายประเภท (2) ตามบัญชีอัตราภาษีป้าย ส่วนจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า ป้ายรายการที่ 8 ถือเป็นป้ายประเภท (3) ตามบัญชีอัตราภาษีป้าย แต่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางที่ให้ป้ายรายการที่ 8 ยุติตามการประเมิน เห็นว่า แม้โจทก์จะยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายสำหรับป้ายรายการที่ 8 ว่าเป็นป้ายประเภท (3) ป้ายที่ไม่มีอักษรไทยก็ตาม แต่ก็ได้อุทธรณ์การประเมินสำหรับงวดสุดท้ายประจำปี 2550 ว่าโจทก์ควรเสียภาษีป้าย 13,482 บาท ต่ำกว่าการประเมิน และสำหรับประจำปี 2551 ได้ให้รายละเอียดว่าป้ายตามภาพประกอบ 1 ซึ่งก็คือป้ายรายการที่ 8 จำนวน 2 ป้าย มีลักษณะเป็นป้ายประเภท (2) คิดเป็นภาษีป้ายๆ ละ 1,680 บาท กรณีจึงถือว่าโจทก์อุทธรณ์การประเมินสำหรับป้ายรายการที่ 8 ไว้แล้ว การที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์การประเมินเฉพาะป้ายรายการที่ 1, 2 และ 6 จึงไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับป้ายรายการที่ 8 นั้น เมื่อปรากฏว่าตามบัญชีอัตราภาษีป้าย (3) (ข) ท้ายพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีป้าย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2534 ระบุว่า “ป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วนหรือทั้งหมดอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ” การที่ตามบัญชีอัตราภาษีป้ายระบุชัดเจนโดยมีคำว่า “มีอักษรไทยบางส่วนหรือทั้งหมด” ย่อมแสดงให้เห็นว่าป้ายที่แม้มีเพียงบางส่วนของอักษรไทยอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศก็ถือเป็นป้ายตามบัญชีอัตราภาษีป้าย (3) (ข) โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะมีอักษรไทยอยู่ที่ส่วนใดของป้ายอีกหรือไม่ ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าป้ายรายการที่ 8 ตรงกับ มีข้อความอักษรไทยว่า “โชว์รูม ทางเข้า โชว์รูมรถใหม่ อุปกรณ์ประดับยนต์ ศูนย์บริการ ศูนย์บริการตัวถังและสี อะไหล่ ที่จอดรถ”อยู่ใต้และต่ำกว่าอักษรต่างประเทศคำว่า “TOYOTA” จึงถือเป็นป้ายประเภท (3) (ข) ตามบัญชีอัตราภาษีป้ายโดยไม่ต้องคำนึงว่าจะมีอักษรไทยอยู่ที่ส่วนใดของป้าย ส่วนการที่ป้ายรายการที่ 8 มีข้อความอักษรไทยอีก 1 ข้อความคือคำว่า “โตโยต้า” อยู่เหนืออักษรต่างประเทศคำว่า “TOYOTA” ก็ไม่ทำให้ป้ายดังกล่าวกลายเป็นป้ายประเภท (2) ตามบัญชีอัตราภาษีป้ายไปได้ เมื่อโจทก์ไม่ได้โต้แย้งการคำนวณพื้นที่เพื่อเสียภาษีป้าย การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์สำหรับป้ายรายการที่ 8 จึงชอบแล้ว การที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า ป้ายรายการที่ 8 เป็นป้ายประเภท (2) ตามบัญชีอัตราภาษีป้าย ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
กรณีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยทั้งสอง ในประการต่อไปว่า พิพากษาของศาลภาษีอากรกลางที่วินิจฉัยให้โจทก์ ชำระภาษีสำหรับป้ายรายการที่ 1, 2 และ 6 โดยถือเป็นป้ายเดียวกันในประเภท (2) ตามบัญชีอัตราภาษีป้าย ชอบหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า ป้ายดังกล่าวมีลักษณะรูปตัว T ป้าย ส่วนบนตามป้ายรายการที่ 6 มีขนาดกว้าง 430 เซนติเมตร และยาว 650 เซนติเมตร ถือเป็นป้ายประเภท (2) ตามบัญชีอัตราภาษีป้าย และไม่ได้ต่อเนื่องเป็นผิวเดียวกันกับป้าย ส่วนล่างตามป้ายรายการที่ 1 และ 2 แม้จะอยู่บนโครงสร้างเดียวกันแต่โจทก์มีเจตนาแยกป้ายส่วนบนกับส่วนล่างออกจากกันอย่างแจ้งชัด โดยป้ายส่วนล่างตามป้ายรายการที่ 1 และ 2 มีขนาดกว้าง 295 เซนติเมตร ยาว 1,670 เซนติเมตร ถือเป็นป้ายประเภท (1) ตามบัญชีอัตราภาษีป้าย การที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า ป้ายรายการที่ 1, 2 และ 6 เป็นป้ายเดียวกันในประเภท (2) ตามบัญชีอัตราภาษีป้ายจึงไม่ชอบ และการคำนวณภาษีป้ายโดยเอาส่วนที่กว้างที่สุดคูณส่วนที่ยาวที่สุด เป็นการคำนวณเกินจากพื้นที่จริง ขอให้จำเลยทั้งสองคืนเงินตามฟ้อง ส่วนจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า จำเลยทั้งสองเห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางที่วินิจฉัยว่าป้ายรายการที่ 1, 2 และ 6 ถือเป็นป้ายเดียวกัน แต่ไม่เห็นด้วยที่วินิจฉัยว่าป้ายดังกล่าวเป็นป้ายประเภท (2) ตามบัญชีอัตราภาษีป้าย เนื่องจากป้ายดังกล่าวมีอักษรไทยอยู่ใต้อักษรต่างประเทศคำว่า “TOYOTA” จึงเป็นป้ายประเภท (3) (ข) ตามบัญชีอัตราภาษีป้าย การประเมินชอบแล้วไม่มีเหตุที่ต้องคืนเงิน ตามคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร เห็นว่า สำหรับป้ายรายการที่ 1, 2 และ 6 ส่วนบนมีอักษรไทยว่า “โตโยต้า” มีอักษรต่างประเทศว่า “TOYOTA” และมีสัญลักษณ์ ส่วนล่างมีอักษรไทยว่า “โตโยต้าหนองคาย แผนกขายศูนย์บริการ แผนกอะไหล่ ศูนย์บริการตัวถังและสี” อยู่บนวัสดุปิดผิวเรียบประเภทอลูมิเนียม แม้ส่วนบนและส่วนล่างข้อความจะอยู่บนวัสดุปิดผิวที่ต่างระดับกันและมีขนาดต่างกันก็ตามแต่ข้อความทั้งส่วนบนและส่วนล่างต่างก็อยู่บนวัสดุปิดผิวเรียบซึ่งเป็นอลูมิเนียมชนิดและสีเดียวกันและอยู่บนโครงสร้างที่ได้ทำในคราวเดียวกันตามที่โจทก์ได้ขออนุญาตก่อสร้างตามใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือรื้อถอนอาคาร (แบบ อ.1) ในข้อ 2(4) เลขที่ 029/2549 ออกให้ ณ วันที่ 9 มกราคม 2549 และแบบแปลนโครงสร้างป้ายทั้งในส่วนของข้อความหรือสัญลักษณ์ ทั้งส่วนบนและส่วนล่างก็ล้วนเป็นข้อความและสัญลักษณ์แสดงชื่อ ยี่ห้อหรือเครื่องหมายที่ใช้ในการประกอบการค้าของโจทก์ ทำให้ป้ายส่วนบนและส่วนล่างมีลักษณะเป็นป้ายที่มีความต่อเนื่องกันทั้งในเรื่องวัสดุปิดผิว โครงสร้างและข้อความหรือสัญลักษณ์ที่ปรากฏในป้ายบนวัสดุปิดผิวอย่างไม่อาจแยกออกจากกันได้ แม้ข้อความหรือสัญลักษณ์จะติดไม่เต็มวัสดุปิดผิว ก็เพื่อความสวยงามและอ่านข้อความง่ายในโครงสร้างชิ้นเดียวกันทุกข้อความในโครงสร้างนั้น เพื่อประโยชน์ในการโฆษณาการค้าของโจทก์ แต่ถือว่าเป็นป้ายที่มีขอบเขตกำหนดได้ตามวัสดุปิดผิวซึ่งเป็นอลูมิเนียมดังกล่าว จึงถือว่าป้ายรายการที่ 1, 2 และ 6 เป็นป้ายเดียวกันไม่อาจแยกการคำนวณภาษีป้ายออกจากกันได้และปรากฏว่า ป้ายดังกล่าวมีข้อความอักษรไทยว่า “โตโยต้าหนองคาย แผนกขาย ศูนย์บริการ แผนกอะไหล่ ศูนย์บริการตัวถังและสี” อยู่ใต้และต่ำกว่าอักษรต่างประเทศคำว่า “TOYOTA” จึงถือเป็นป้ายประเภท (3) (ข) ตามบัญชีอัตราภาษีป้าย โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะมีอักษรไทย อยู่ที่ส่วนใดของป้าย ส่วนการที่ป้ายดังกล่าวมีข้อความอักษรไทยอีก 1 ข้อความคือคำว่า “โตโยต้า” อยู่เหนืออักษรต่าง ประเทศคำว่า “TOYOTA” ก็ไม่ทำให้ป้ายดังกล่าวกลายเป็นป้ายประเภท (2) ตามบัญชีอัตราภาษีป้ายไปได้ ส่วนกรณีการคำนวณพื้นที่เพื่อเสียภาษีป้ายนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีป้าย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2534 มาตรา 17 ระบุว่า ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินภาษีป้าย ตามหลักเกณฑ์การคำนวณภาษีป้ายที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราภาษีป้าย (6) และ (7) ท้ายพระราชบัญญัตินี้และตามอัตราภาษีป้ายที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งตามบัญชีอัตราภาษีป้าย (6) (ก) ระบุว่า ถ้าเป็นป้ายที่มีขอบเขตกำหนดได้ให้เอาส่วนกว้างที่สุดคูณด้วยส่วนยาวที่สุดของขอบเขตป้ายเป็นตารางเซนติเมตร จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการคำนวณพื้นที่เพื่อเสียภาษีป้ายที่มีขอบเขตตามกฎหมายนั้น ให้คำนวณพื้นที่โดยเอาส่วนกว้างที่สุดคูณด้วยส่วนยาวที่สุดของขอบเขตป้าย เมื่อกฎกระทรวงฉบับที่ 5 (พ.ศ.2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 ให้คำนวณภาษีป้ายประเภท (3) (ข) ป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วนหรือทั้งหมดอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ ในอัตรา 40 บาทต่อห้าร้อยตารางเซนติเมตร ประกอบกับโจทก์ยอมรับในอุทธรณ์แล้วว่า ส่วนที่กว้างที่สุดของป้ายดังกล่าวมีขนาด 650 เซนติเมตร และ ขนาดความสูงส่วนบนเท่ากับ 430 เซนติเมตร และส่วนล่างเท่ากับ 1,670 เซนติเมตร จึงมีความยาวที่สุดเท่ากับ 2,100 เซนติเมตร ดังนั้น การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินภาษีป้ายดังกล่าวโดยนำความกว้างที่สุดคูณความยาวที่สุดดังกล่าวแล้วนำมาคำนวณอัตราภาษีป้ายในอัตรา 40 บาท ต่อห้าร้อยตารางเซนติเมตร จึงถูกต้องแล้ว เมื่อโจทก์ไม่โต้แย้งการประเมินสำหรับป้ายรายการที่ 3, 4, 5 และ 7 การประเมินและ คำวินิจฉัยอุทธรณ์จึงชอบแล้ว ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้คืนเงินบางส่วนแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share