คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1042/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ลูกหนี้ชำระค่าภาษีและอากรแสตมป์ตามข้อตกลงผ่อนผันของกรมสรรพากรในระหว่างระยะเวลาสามปีก่อนมีการขอให้ล้มละลาย โดยกรมสรรพากรรู้ถึงภาวะหนี้สินล้นพ้นตัวของลูกหนี้นั้น เป็นการรับชำระหนี้โดยไม่สุจริต แม้การตกลงชำระหนี้ดังกล่าวเป็นการกระทำตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย ศาลก็มีอำนาจสั่งเพิกถอนได้ตาม พระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114
เมื่อศาลสั่งเพิกถอน ก็เท่ากับการรับชำระหนี้ปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้กรมสรรพากรต้องคืนเงินที่รับไว้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยลักษณะลาภมิควรได้ แต่เป็นการคืนโดยผลของคำพิพากษา กรมสรรพากรจึงไม่ต้องรับผิดเรื่องดอกเบี้ย.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการชำระหนี้ระหว่างผู้ชำระบัญชีของบริษัทลูกหนี้กับผู้คัดค้าน ให้ผู้คัดค้านคืนเงิน 35 ล้านบาทเศษพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยอ้างว่าผู้คัดค้านรับชำระหนี้ค่าภาษีเงินได้ที่ลูกหนี้ผ่อนชำระให้ภายใน 3 ปี และ 3 เดือน ก่อนมีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลาย โดยรู้อยู่แล้วว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
ผู้คัดค้านให้การว่า ลูกหนี้นำเงินค่าภาษีอากรมาชำระตามกฎหมาย ผู้คัดค้านมีสิทธิรับเงินไว้โดยชอบ การชำระภาษีมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ของประเทศมิใช่ให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น ประมวลรัษฎากรเป็นกฎหมายพิเศษซึ่งอยู่นอกเหนือการบังคับของพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการชำระหนี้ค่าภาษีและค่าอากรแสตมป์ระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้าน ยกคำขออื่น
ผู้ร้องและผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ผู้คัดค้านคืนเงินจำนวน35,668,273.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าผู้ชำระบัญชีของบริษัทราชาเงินทุนจำกัดลูกหนี้ ร้องขอให้บริษัทลูกหนี้ล้มละลายเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2523 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทลูกหนี้เด็ดขาดในวันเดียวกัน และพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2524 และในระหว่างระยะเวลาสามปีก่อนมีการขอให้ล้มละลายบริษัทลูกหนี้ได้ชำระค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521 ค่าอากรแสตมป์และภาษีบุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ให้แก่ผู้คัดค้านรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 35,668,273.44 บาท โดยผู้คัดค้านรู้ถึงภาวะหนี้สินล้นพ้นตัวของบริษัทลูกหนี้
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า ศาลมีอำนาจเพิกถอนการชำระหนี้ค่าภาษีและอากรแสตมป์ตามคำขอของผู้ร้องได้หรือไม่เพียงใดพิเคราะห์แล้วเห็นว่าการชำระหนี้ค่าภาษีและอากรแสตมป์ของลูกหนี้ดังกล่าวเป็นไปตามข้อตกลงผ่อนผันของผู้คัดค้าน ซึ่งผู้คัดค้านได้รู้ถึงภาวะหนี้สินล้นพ้นตัวของบริษัทลูกหนี้ จึงเป็นการรับชำระหนี้โดยไม่สุจริต บริษัทลูกหนี้ชำระหนี้ดังกล่าวแก่ผู้คัดค้านเป็นการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์สินของบริษัทลูกหนี้ในระหว่างระยะเวลาสามปีก่อนมีการขอให้ล้มละลาย เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าการชำระหนี้นั้นได้กระทำโดยสุจริต ศาลมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนการกระทำนั้นได้ตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 114 แม้การตกลงชำระหนี้ระหว่างบริษัทลูกหนี้กับผู้คัดค้านดังกล่าวเป็นการกระทำตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายก็ตาม ก็หาใช่เป็นข้อจำกัดอำนาจทางศาลที่จะสั่งเพิกถอนการชำระหนี้ดังกล่าวไม่ ฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามฎีกาของผู้คัดค้านต่อไปที่ว่า เมื่อศาลมีคำสั่งเพิกถอนการชำระหนี้ของบริษัทลูกหนี้ดังกล่าวแล้ว จำเป็นจะต้องสั่งให้ผู้คัดค้านคืนเงินดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องพร้อมด้วยดอกเบี้ยด้วยหรือไม่ พิเคราะห์แล้วศาลฎีกาเห็นว่าพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114 ที่ให้อำนาจศาลสั่งเพิกถอนการโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ซึ่งลูกหนี้ได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำในระหว่างระยะเวลาสามปีก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้นโดยมิได้บัญญัติถึงการคืนทรัพย์สินของลูกหนี้ไว้ก็ตาม แต่เมื่อการชำระหนี้ระหว่างบริษัทลูกหนี้กับผู้คัดค้านในคดีนี้ถูกศาลสั่งเพิกถอนก็เท่ากับว่าเป็นการชำระหนี้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ ผู้คัดค้านจึงต้องคืนเงินที่ได้รับไว้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อรวบรวมเข้ากองทรัพย์สินของลูกหนี้ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยลักษณะลาภมิควรได้ ซึ่งกรณีเช่นนี้ศาลย่อมมีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้คัดค้านคืนเงินดังกล่าวตามคำขอของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ ส่วนความรับผิดในเรื่องดอกเบี้ยนั้น เห็นว่าการที่ผู้คัดค้านต้องคืนเงินแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพราะการชำระหนี้ได้ถูกเพิกถอนดังกล่าวนั้น เป็นไปโดยผลของคำพิพากษา กรณียังถือไม่ได้ว่าได้มีการผิดนัดอันจะเป็นเหตุให้ผู้คัดค้านต้องรับผิดในเรื่องดอกเบี้ยเพราะตราบใดที่การชำระหนี้ระหว่างบริษัทลูกหนี้กับผู้คัดค้านยังไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลให้เพิกถอน ก็ยังถือว่าเป็นการชำระหนี้โดยชอบอยู่…’
พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกคำขอของผู้ร้องในส่วนที่ให้ผู้คัดค้านรับผิดเรื่องดอกเบี้ยนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share